คอลัมน์ เดินคนละฟาก โดย กมล กมลตระกูล kamolt@yahoo.com ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4158
เฮดจ์ฟันด์ (Hedge Funds) ได้ชื่อว่ากองทุนปีศาจ วิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งแล้วครั้งเล่าตั้งแต่วิกฤตหนี้ในละตินอเมริกาในทศวรรษ 1980 วิกฤตการเงินเตกิลา วิกฤตฟองสบู่แตก วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 (1997) และล่าสุดวิกฤตอสังหาฯถล่ม (subprime crisis) บางคนเรียกว่า วิกฤตคาวบอย หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 (2008) ล้วนเป็นผลมาจากความกระหายเลือดของกองทุนปีศาจเหล่านี้
การได้รับชื่อว่ากองทุนปีศาจ เพราะว่ากองทุนเหล่านี้ไม่มีตัวตน ไม่มีทรัพย์สินของตนเอง จับต้องไม่ได้ แต่หลอกคนได้ สูบเลือดคนได้เหมือนปีศาจ
การทำงานหรือการบริหารของกองทุนต้องใช้กลไกของสถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีรายได้ (fee) จากการให้บริการหรือเป็นกลไกในการทำงานแทนกองทุนปีศาจเพื่อแลกกับค่าบริการที่สามารถคิดได้สูงลิบลิ่วตามปริมาณเงินที่ผ่านเข้า-ออก สถาบันการเงินและบริษัทหลักทรัพย์ส่วนใหญตั้งกองทุนหรือรับบริหารกองทุนโดยการตั้งบริษัทลูกขึ้นมาดำเนินการ เมื่อพูดถึงกองทุนปีศาจจึงรวมถึงสถาบันการเงินและรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนเหล่านี้ด้วย
เศรษฐกิจโลกที่อยู่ใต้กงเล็บของกองทุนปีศาจ จึงได้ชื่อว่า ระบอบเศรษฐกิจกาสิโน (casino economy) หรือทุนนิยมกาสิโน (casino capitalism)
กำเนิดเฮดจ์ฟันด์
เฮดจ์ฟันด์ถือกำเนิดขึ้นในปี 1949 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงได้ 4 ปี นายอัลเฟรด โจนส์ (Alfred W. Jones) ผู้สื่อข่าวด้านตลาดทุนและตลาดเงิน ซึ่งคร่ำหวอดกับการสังเกตการเคลื่อนไหวของตลาดทุนและตลาดเงิน จึงได้ตั้งกองทุนขึ้นมาลงทุนที่สวนทางกับการลงทุนทั่ว ๆ ไปในสมัยนั้น โดยการเลือกซื้อหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งและราคาขึ้นมากกว่าอัตราเฉลี่ยของตลาด ในขณะเดียวกันเสนอขายราคาหุ้นตัวนั้นเมื่อราคาตกลงระดับหนึ่งพร้อมกันเพื่อลดการขาดทุนจำนวนมาก ๆ ในคราเดียว รวมทั้งเลือกขายหุ้นประเภทห่วยแตกล่วงหน้า (selling short) ดังนั้นเมื่อตลาดหุ้นขึ้นเขาก็จะได้กำไรจากตัวแรกมาชดเชยตัวหลัง หรือในทางตรงกันข้าม ซึ่งยุทธศาสตร์นี้เป็นการลดความเสี่ยงในตลาดทุนและตลาดเงินที่มีความผันผวน คาดการณ์ไม่ได้ เต็มไปด้วยข่าวลือ ข่าวลวง และข่าวลับ ลวง พราง
กลยุทธ์เฮดจ์ฟันด์
กองทุนและเทคนิคหรือกลยุทธ์ที่เขาเริ่มใช้เป็นคนแรกจึงได้ชื่อว่า เฮดจ์ฟันด์ (Hedge Funds) และต่อมาได้พัฒนาให้มีความซับซ้อน และนำมาใช้ในทุกตลาด คือ ตลาดทุน ตลาดเงิน ตลาดอนุพันธ์ (derivatives) ตลาดคอมมิวดิตี้ (commodity) ตลาดพันธบัตร (bonds market) และตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา (foreign exchange) โดยพ่อมดการเงินรุ่นต่อ ๆ มาจนกลายเป็นกระแสหลักที่รู้กันแต่วงในของวาณิชย์ธนกิจ (investment bankers)
ส่วนบรรดาแมลงเม่า และนักลงทุนหรือผู้บริหารกองทุนตามตำราปัจจัยพื้นฐานก็มักจะหมดตัวหรือทำให้ผู้ถือหุ้น ผู้ร่วมลงทุน ประเภทกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจบชีวิตเหมือนกับแมลงเม่าที่วิ่งเข้าหากองไฟไปด้วย
ตัวอย่างกลยุทธ์ที่ใช้ เช่น การตั้งคำสั่งซื้อและขายพร้อมกันในตลาดเดียวกันหรือคนละตลาดเพื่อกินกำไรส่วนต่าง (arbitrage) การซื้อเมื่อตลาดอยู่ในช่วงขาขึ้นและขายล่วงหน้าเมื่อตลาดอยู่ในภาวะขาลง long-short investing techniques, การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ซื้อขายแทนคน ซึ่งเรียกว่า quantitative investing หรือ program trading ซึ่งมีการตั้งโปรแกรมทั้งซื้อหรือขายเมื่อดัชนีตัวใดตัวหนึ่ง หรือดัชนีของตลาด หรือราคาหุ้น หรืออัตราแลกเปลี่ยนขึ้นหรือลงถึงจุดนั้นก็จะสั่งซื้อหรือขายโดยอัตโนมัติในเสี้ยววินาที ซึ่งคำสั่งเหล่านี้มีนับหมื่น ๆ คำสั่งต่อวัน หรือเป็นแสนเมื่อรวมของทุกกองทุนเข้าด้วยกัน โปรแกรมเทรดดิ้งนี้เองเป็นต้นตอของความผันผวนของตลาดทุน ตลาดเงิน และตลาดอื่น ๆ ทุกตลาด ที่เรียกว่า panic trading ซึ่งเกิดจากการตั้งคำสั่งซื้อขายล่วงหน้าด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั่นเอง การซื้อก่อนจ่ายทีหลัง การซื้อขายภายในวันเดียวกัน หรือกู้เงินมาซื้อ ที่เรียกว่า leverage
กลยุทธ์การกู้เงินมาซื้อเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทุกกองทุนนำมาใช้เพราะเป็นการเพิ่มอำนาจซื้อและเพิ่มผลกำไรได้อย่างมหาศาล ถ้าหากว่าบริหารไม่ผิดพลาด เช่น เมื่อกองทุนได้รับเงินมาบริหาร 10 เหรียญ กองทุนอาจกู้เงินเพิ่มได้ 90 เหรียญ รวมเป็น 100 เหรียญ เพื่อนำไปเก็งกำไรในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา หรือตลาดอนุพันธ์ หรือตลาดหุ้น และหากว่าขาดทุนเพียงร้อยละ 10 ก็เท่ากับว่ากองทุนนั้นหมดไปอย่างสิ้นเชิง แต่ถ้าได้กำไรร้อยละ 10 ก็เท่ากับว่าได้กำไร 100% ของเงินทุน
กรณีศึกษาตัวอย่างข้างต้น คือ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2008 บริษัท Lehman Brothers ซึ่งได้ก่อตั้งมานานถึง 158 ปี เป็นบริษัทหลักทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของอเมริกา และเคยเข้าร่วมขบวนการดูดเลือดคนไทยเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 โดยเป็นทั้งบริษัทที่ปรึกษา และตีราคาทรัพย์สินเอ็นพีแอล แล้วตั้งบริษัทลูกขึ้นมาซื้อทรัพย์สินและหนี้สินในราคาต่ำกว่าราคาตลาด (ทรัพย์ของ ป.ร.ศ.) แล้วไปบีบขายให้ลูกหนี้ในราคาสูงลิ่ว เมื่อลูกหนี้ซื้อไม่ไหวก็ต้องถูกยึดกิจการ บัดนี้กรรมได้สนองโดยได้ยื่นเรื่องต่อศาลให้เป็นบริษัทล้มละลายโดยมีหนี้สินเฉพาะที่เป็นพันธบัตร 768 แสนล้านเหรียญ (768 billion) ซึ่งเท่ากับประมาณแผ่นดินไทย 30 ปี ในขณะที่ทรัพย์สินในกองทุนมีเพียง 639 แสนล้านเหรียญ (639 billion) คือติดลบ
ในปี 2003 Lehman Brothers มีเงินทุน 13,000 ล้านเหรียญ (13 billion) แต่มีบัญชีทรัพย์สินมากถึง 31,200 ล้านเหรียญ (312 billion) ซึ่งแปลว่าทุก ๆ เงินทุน 1 เหรียญ Lehman Brothers กู้มาเพิ่มอีก 24 เหรียญ (เท่า) เพื่อเก็งกำไร พอถึงปี 2007 Lehman Brothers มีเงินทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 73 กลายเป็น 22.5 พันล้านเหรียญ แต่มีบัญชีทรัพย์สินมากถึง 691 พันล้าน ซึ่งแปลว่าทุก ๆ เงินทุน 1 เหรียญ Lehman Brothers กู้เพิ่มเป็น 31 เท่าเพื่อเก็งกำไร
การล้มละลายของ Lehman Brothers ที่สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนคิดเป็นเม็ดเงิน 639 พันล้าน เป็นคดีล้มละลายที่ใหญ่กว่าการล้มละลายของบริษัทพลังงาน ENRON ในปี 2001 ถึง 10 เท่า กรณี ENRON กลายเป็นตำนานมหากาพย์แห่งการฉ้อฉลที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน สถาบันจัดอันดับ และสื่อด้านเศรษฐกิจ ซึ่งล้วนพัวพันเกี่ยวข้องโยงใยกันเหมือนใยแมงมุม ไม่ต่างกับกรณีธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ หรือบีบีซี ซึ่งมีนายราเกซ สักเสนา และนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ เป็นผู้ต้องหา แต่มีนักการเมืองอีกจำนวนมากที่โยงใยเกี่ยวข้อง
เมื่อครั้งกองทุน, Long-Term Capital Management ซึ่งก่อตั้งโดยนักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบล 2 คน และเคยทำกำไรให้นักลงทุนสูงสุดถึงร้อยละ 25-50 จนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเกือบทุกสาขา และกองทุนของมหาวิทยาลัย มูลนิธิต่างแย่งกันเสนอให้กองทุนนี้บริหารให้ โดยกองทุนนี้มีเงินที่ได้รับมาบริหาร 40,000 ล้านเหรียญ แต่สามารถกู้เงินมาลงทุนได้ 12,500 ล้านเหรียญ หรือ 30 เท่าของเม็ดเงินที่ตนมี รวมทั้งมีตัวเลขงบดุลในบัญชีสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญ ด้วยวิธีการซื้อแบบใช้ margin ซึ่งใช้เงินเพียงร้อยละ 10 ในการลงทุน 100 แต่ในที่สุดกองทุนนี้ก็ล้มครืนลง และประธานาธิบดีคลินตันต้องกระโดดเข้ามาอุ้มด้วยการใช้เงินภาษีอากรของคนอเมริกันทั้งประเทศเพื่อไม่ให้ระบบเศรษฐกิจของชาติล่มแบบโดมิโน
กลยุทธ์ข้างต้นนี้เองที่ประเทศพัฒนาแล้วซึ่งประชาชนมีเงินออมมากและมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Pension Funds) ในทุกภาคส่วนรวมทั้งผู้ใช้แรงงานในประเทศเหล่านี้เป็นเจ้าของทุนปีศาจ และล้วนมีส่วนได้ส่วนเสียทั้งสิ้น จึงมีนโยบายบีบให้ประเทศกำลังพัฒนาทุกประเทศก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลาดทุนและตลาดเงิน หรือแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ฯ แปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยข้ออ้างว่าเพื่อความทันสมัย เพื่อเปิดช่องทางการระดมทุนมาขยายธุรกิจ และเป็นเรื่องการค้าเสรีหรือการเปิดเสรีเพื่อให้กองทุนปีศาจเหล่านี้สามารถเข้ามาสูบเลือดกลับไปเลี้ยงประชาชนในชาติของตน
หน้า 34
เฮดจ์ฟันด์ กองทุนปีศาจ (จบ) ทุนปีศาจครอบโลก
คอลัมน์ เดินคนละฟาก โดย กมล กมลตระกูล kamolt@yahoo.com ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4159
เพียงแค่ขนาดของกองทุนปีศาจนั้นก็มหาศาลแล้ว เช่น กองทุนที่ใหญ่ที่สุด Bridgewater Associates บริหารเม็ดเงินจำนวน 38,600 ล้านเหรียญ หรือ 11 ล้านล้านบาท หรือกองทุน Soros Fund Management ของพ่อมดการเงิน Soros มีทรัพย์สิน 2 หมื่นล้านเหรียญ หรือ 7 แสนล้านบาท ซึ่งเกือบเท่ากับงบประมาณแผ่นดินไทยทั้งปีในบางปี (1 ล้านล้านบาทเศษ) แต่สามารถซื้อขายโดยวิธี Leverage คือกู้เงินมาซื้อขาย หรือซื้อขายเงินเชื่อแล้วมาหักกำไรขาดทุนทีหลังได้มากถึง 10-25 เท่าของเม็ดเงินของกองทุน ดังนั้นจึงไม่มีตลาดทุนและตลาดเงินที่ไหนของโลกสามารถต้านการโจมตี หรือการ "ทุบ" ของกองทุนปีศาจเหล่านี้ได้
ใน 10 กองทุนปีศาจเหล่านี้ รับบริหารเม็ดเงินเกือบ 3 แสนล้านเหรียญต่อปี ในขณะที่กองทุนปีศาจทั้งหมดในโลก บริหารเม็ดเงินประมาณ 2.5 ล้านล้านเหรียญ (2.5 trillion)
(ดูตาราง)
จากการเปรียบเทียบขนาดของกองทุนเมื่อก่อนเกิดวิกฤต subprime และภายหลัง กองทุนเหล่านี้ไม่ได้เล็กลงเลย เพียงแต่สลับตำแหน่งกันตามความสามารถในการแข่งขัน
ก่อนเกิดวิกฤตอสังหาฯถล่ม (subprime crisis) ในปี 2008 กฎหมายหรือระเบียบที่ควบคุมกองทุนปีศาจมีน้อยมาก เพราะรัฐเห็นว่าเป็นเรื่องของนักลงทุนใหญ่ ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับสาธารณชน เช่น ไม่มีระเบียบเรื่องสัดส่วนเงินสำรอง เรื่องสัดส่วนของเงินกู้ต่อทุน และนอกจากนี้ กองทุน (offshore) ส่วนใหญ่จดทะเบียนในประเทศหรือเมืองที่เรียกว่า tax haven หรือเมืองท่าปลอดภาษี เช่น Cayman Island เป็นที่ตั้งของกองทุนเหล่านี้ถึงร้อยละ 67 ตามมาด้วย British Virgin Islands ร้อยละ 11% และ Bermuda ร้อยละ 11% รวมทั้งรัฐ Delaware ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองทุนภายในประเทศ (onshore) มากถึงร้อยละ 64
ตัวเลขในปี 2004 มีกองทุนปีศาจในอเมริกามากถึง 7,000 กองทุน ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออก เช่น รัฐนิวยอร์ก และคอนเนกทิคัต
กรุงลอนดอนเป็นศูนย์กลางของกองทุนปีศาจของยุโรป โดยเป็นที่ตั้งของกองทุนเหล่านี้ถึงร้อยละ 75 และมีทรัพย์สินที่รับบริหารจัดการในปี 2008 เป็นเงิน 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นเงินจากทวีปเอเชีย ร้อยละ 25 ส่วนอีกร้อยละ 25 ของเงินจากเอเชีย บริหารโดยกลุ่มทุนของอเมริกา
ในเอเชียก็มีสิงคโปร์และฮ่องกงเป็นศูนย์กลางใหญ่ หรือที่ตั้งสาขาของกองทุนปีศาจเหล่านี้
อัตราค่าบริหารกองทุน
แรงจูงใจหรือน้ำเลี้ยงของกองทุนปีศาจ คือค่าบริหารกองทุน (management fee) ค่าส่วนแบ่งจากผลกำไร (performance fee) อัตรามาตรฐานหรือราคาตลาดของค่าบริหารกองทุน คือ ร้อยละ 2 ต่อปีของมูลค่าเงินของลูกค้าที่มอบให้บริหาร แต่ต้องจ่ายเป็นรายเดือนหรือรายไตรมาส เนื่องจากยอดเงินที่รับบริหารมีจำนวนมาก รายได้ส่วนนี้จึงเป็นรายได้ที่เป็นค่าใช้จ่ายของสำนักงานและเป็นผลกำไรด้วย
ค่าส่วนแบ่งจากผลกำไร (performance fee) โดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 20 ของผลกำไรสุทธิจากการบริหารกองทุนนั้น ๆ แต่บางบริษัทอาจจะคิดมากกว่านี้ เช่น Steven Cohen"s SAC Capital Partners คิดร้อยละ 35-50 หรือ Jim Simons" Medallion Fund คิดร้อยละ 45
ค่าส่วนแบ่งผลกำไรนี้มักนำมาแบ่งปันกันในหมู่ผู้บริหารในรูปของโบนัส เงินเดือน สิทธิซื้อหุ้นของบริษัท (stock option) และเป็นแรงจูงใจให้ผู้บริหารกองทุนปีศาจเหล่านี้ใช้วิธีการลงทุนที่ "สุ่มเสี่ยง" เพื่อหวังผลตอบแทนสูงและได้ส่วนแบ่งสูงไปด้วย หากคาดการณ์ถูกก็จะสร้างชื่อเสียง และมีกองทุนหรือมูลนิธิ หรือสถาบันการเงินอื่น ๆ แห่กันนำเงินมาให้บริหาร หากตลาดไม่เป็นไปตามคาด ทุกอย่างก็ล้มพังครืนเหมือนวิกฤตการเงินในแต่ละช่วง ซึ่งวนเวียนกลับมาทุก 10 ปี เป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยซ้ำแล้วซ้ำเล่า
Richard Fuld, ประธานของ Lehman Brothers ได้ถูกนาย Henry Waxman (D-CA) ส.ส.พรรคเดโมแครตจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นกรรมาธิการด้านปฏิรูประบบงานของรัฐ เรียกมาให้การ เพื่อสอบสวนและตั้งคำถามว่า "บริษัทของคุณยื่นเป็นบริษัทล้มละลาย แต่คุณกลับรับเงินตอบแทนที่ดูดไปจากบริษัท เป็นเงินมากถึง 480 ล้านเหรียญ นั้นเป็นธรรมหรือไม่"
สถาบันจัดอันดับ
เครื่องมือที่สำคัญของกองทุนปีศาจ คือ สถาบันจัดอันดับ เช่น Moody"s และ Standard & Poor"s นิตยสารและ น.ส.พ.ธุรกิจ และการเงิน รายงานประจำเดือนของสถาบันการเงิน หรือกองทุน เช่น น.ส.พ.วอลล์สตรีต, Forbes, Business Week ฯลฯ ซึ่งกองทุนปีศาจเป็นผู้ให้โฆษณารายใหญ่ หรือมีผู้บริหารที่รู้จักกัน มีผลประโยชน์ร่วมกัน หรือเป็นบอร์ดไขว้กัน ดังนั้นเมื่อมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หรือรายงานข่าว (ลือ ลับ ลวง พราง) ทำให้ผู้ลงทุนทั่วไปแตกตื่นเทขายหุ้น แล้วถูกช้อนซื้อ หรือในทางตรงกันข้าม หรือรัฐบาลหรือนักการเมืองประเทศกำลังพัฒนาแตกตื่น และออกมาตรการหรือกฎหมายในลักษณะเต้นตามเพลงที่เขาเปิด และติดกับดักการเงิน หรือกับดักหนี้
เมื่อไรจะตาสว่างกัน (เสียที)
แน่นอนว่าการปฏิเสธตลาดหลักทรัพย์ ตลาดทุน ตลาดเงิน หรือตลาดอัตราแลกเปลี่ยน เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในภาวะปัจจุบัน แต่การเปิดหูเปิดตาให้ประชาชนเรียนรู้และรู้เท่าทันความจริงเชิงประจักษ์ที่มีหลักฐานยืนยันได้ และมีเหตุการณ์ของวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นพัก ๆ และการที่รัฐบาลแต่ละประเทศต้องนำเงินภาษีอากรมาอุ้มกองทุนปีศาจเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยัน
การให้การศึกษากับประชาชนถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังเป็นเรื่องสำคัญที่มิใช่การรู้ไม่เท่าทันและเทศนาให้ประชาชนยิ่งโง่งมและถูกหลอกต่อ ๆ ไปด้วยคาถาว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ คือ ตัวชี้วัดเศรษฐกิจของชาติ และมีการใช้เงินภาษีเข้าอุ้มเมื่อเกิดวิกฤต แต่ความจริงเศรษฐกิจโลกในวันนี้ ก็ไม่ต่างจากบ่อนที่มาเก๊า หรือลาสเวกัสนั่นเอง
นอกจากนี้รัฐต้องไม่งมโข่งหลับหูหลับตาเชื่อในเรื่องการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ หรือรัฐวิสาหกิจ เพื่อนำเข้าตลาดหุ้น ทั้ง ๆ ที่เป็นรายได้ของรัฐ หรือการเปิดเสรีอย่างหลับหูหลับตา แล้วปล่อยให้ทุนปีศาจเข้ามาดูดเลือดคนในชาติได้อย่างเสรีโดยปราศจากการควบคุม ด้วยมาตรการภาษี หรือมาตรการอื่น ๆ ที่เป็นการป้องปรามกองทุนปีศาจที่ไร้คุณธรรมเหล่านี้เข้ามาควบคุมและมุ่งหากำไรอย่างเสรี