อนาคตของเงินดอลลาร์
คอลัมน์ คนเดินตรอก
โดย วีรพงษ์ รามางกูร
ในระยะครึ่งหลังของปี 2552 มีการกล่าวถึงค่าเงินดอลลาร์กันมากว่า ค่าเงินดอลลาร์อาจจะดิ่งลงไปอย่างต่อเนื่องเรื่อย ๆ ในระยะยาว บางคนออกจะมีความรู้สึกไม่ดีต่อค่าเงินดอลลาร์ ถึงขนาดออกมาคาดการณ์ว่าเงินดอลลาร์อาจจะถึงกาลอวสานในอนาคตอันใกล้ บางคนดีหน่อยก็ออกมากล่าวว่าไม่ช้าหรือเร็ว ด้วยเหตุผลหลายอย่าง
อย่างแรก เศรษฐกิจของอเมริกาที่รัฐบาลอเมริกันและสื่อมวลชนตะวันตก รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันที่อยู่ตามบริษัทห้างร้านต่าง ๆ รวมถึงที่อยู่ในสถาบันการเงินอเมริกันและสถาบันการเงินระหว่างประเทศในอาณัติของกระทรงการคลังของสหรัฐได้ออกมาตีฆ้องร้องป่าวว่า เศรษฐกิจของอเมริกาเริ่มฟื้นตัวแล้ว เพราะบริษัทต่าง ๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่นิวยอร์ก 500 บริษัทแรก มีอยู่กว่า 400 บริษัทที่ผลประกอบการในไตรมาสที่ 3 ดีกว่าไตรมาสที่สอง แต่ภาพดังกล่าวที่จริงแล้วเป็นภาพลวงตา ตามขั้นตอนของวัฏจักรเศรษฐกิจ เมื่อเศรษฐกิจถดถอยอย่างที่เป็นอยู่ในอเมริกา จะมีบางช่วงที่เศรษฐกิจอาจจะดูเหมือนฟื้นตัว
ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะมีการปรับตัวของสินค้าคงคลัง เมื่อปริมาณลดลงจนต่ำสุด ราคาก็ตกต่ำถึงที่สุดตามการลดลงของสินค้าคงคลัง การสะสมสินค้าคงคลังก็จะกลับมาใหม่ ประกอบกับสภาพคล่องของเงินดอลลาร์ที่มีมากขึ้นจากการอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลโอบามา ในขณะที่ดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ
ความต้องการลงทุนที่แท้จริง ซึ่งไม่ใช่การลงทุนในสินค้าคงคลังก็ยังไม่เกิด สังเกตได้จากการจ้างงานที่ยังไม่เพิ่มขึ้น หรือพูดกลับกันก็คืออัตราการว่างงานยังไม่ลดลง
เมื่อถึงจุดหนึ่ง การลงทุนเพื่อสร้างสต๊อกของสินค้าคงคลังก็จะหยุดลง ผลประกอบการของธุรกิจก็จะซบเซาลงไปที่เดิมพร้อมกันไปอย่างนี้ จนกว่าการลงทุนที่แท้จริงจะเกิดขึ้น
สถานการณ์ที่เห็นได้ชัดก็คือการขาดดุลการค้าและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของอเมริกายังขาดดุลเป็นอัตราส่วนต่อรายได้ประชาชาติของอเมริกามากขึ้น
เรื่องที่สอง การที่ปริมาณเงินถูกปั๊มออกมาอย่างมาก ไม่สมดุลกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการขยายตัวทางด้านความต้องการถือเงินดอลลาร์สหรัฐ กล่าวคือเกิดการคาดการณ์กันไปทั่วว่าเงินดอลลาร์อาจจะกลายเป็นเศษกระดาษ หรือค่าเงินดอลลาร์จะยังลดค่าของตนต่อไปเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลต่าง ๆ ของโลก ยิ่งทำให้ผู้ถือเงินดอลลาร์ อันได้แก่ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ พยายามลดความเสี่ยงจากการถือเงินดอลลาร์ หันไปถือทองคำ เงินยูโร เงินเยน หรือเงินสกุลอื่นในยุโรป รวมทั้งเงินออสเตรเลียและเงินแคนาดา
การที่ธนาคารกลางจีน อินเดีย รัสเซีย และอาจจะรวมทั้งธนาคารกลางของสหภาพยุโรป ทำเช่นนั้น ก็จะยิ่งทำให้ค่าเงินดอลลาร์ลดลงไปอีก
เรื่องที่สาม การที่สหรัฐไม่ได้เอาใจใส่ในเรื่องการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นของภาครัฐบาล หรือภาคเอกชน เงินที่ขออนุมัติรัฐสภาเพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจส่วนใหญ่ก็มิได้นำไปลงทุนอะไรใหม่ ส่วนใหญ่นำไปลงทุนในการซื้อกิจการของเอกชน หลังจากให้เอกชนลดทุนลงไปแล้ว เพื่อพยุงราคาหุ้น ผลประกอบการที่ดูดีขึ้นก็เกิดจากการลดทุน เป็นกำไรทางการเงิน ไม่ใช่เป็นเพราะผลประกอบการที่ดีขึ้นจริง
การลงทุนเพื่อเพิ่มผลผลิตอันจะก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานจริงจึงยังไม่เกิดขึ้น
การขาดดุลการค้าและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมากจึงยังคงดำเนินต่อไป ผลประโยชน์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงไปตกอยู่กับประเทศที่ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา เช่น จีน อินเดีย รัสเซีย และประเทศเอเชียอื่น ๆ
วิธีแก้ไขปัญหาการขาดดุลกับจีนและประเทศอื่น ๆ โดยการลดการขาดดุลงบประมาณ ก็ดูจะเป็นมาตรการที่ตรงกันข้ามกับทฤษฎีการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ กำลังทำอยู่ตามมติของที่ประชุมเศรษฐกิจในเวทีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ประชุม G-20 หรือ APEC หรือ ASEAN
เมื่ออเมริกาไม่มีเครื่องมืออันใดในการแก้ปัญหาการขาดดุลของตนก็กลับมาใช้วิธีการเก่า คือบังคับข่มขู่จีนให้ขึ้นค่าเงินหยวน ซึ่งจีนก็ประกาศอยู่ตลอดเวลาว่าจะไม่ยอมทำตาม แม้ว่าความจริงแล้ว จีนเองก็แอบทำอย่างช้า ๆ กล่าวคือในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินหยวนเพิ่มค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐถึง 21 เปอร์เซ็นต์ ปัญหาทางเศรษฐกิจของอเมริกาจึงวนกลับมาที่เดิม แถมยังมีความเสี่ยงกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำไป กล่าวคือ
เรื่องที่สี่ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนที่ส่วนมากมาจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐ มีความเป็นห่วงว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการกู้เงินมาอัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจของอเมริกา นอกจากจะเป็นภาระแก่รัฐบาลและผู้เสียภาษีในอนาคต ยังอาจทำให้เศรษฐกิจของอเมริกาไม่ปรับตัว หรือต้องใช้เวลาปรับตัวที่มีระยะยาวนานออกไป การฟื้นตัวอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจอเมริกาอาจจะไม่เกิดขึ้นเลย เหมือนกับเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ฟุบตัวลงไปตั้งแต่ปี 1990 เพราะถูกอเมริกาให้ขึ้นค่าเงินเยนอย่างรวดเร็วในครึ่งหลังของทศวรรษที่ 1980 ตั้งแต่นั้นมาเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ไม่เคยฟื้นตัวอย่างจริงจังอีกเลย มีขึ้น ๆ ลง ๆ บ้างก็เล็ก ๆ น้อย ๆ อันเป็นภาพลวงตาอย่างที่ว่า
เรื่องที่เขาห่วงกันมากคือ เรื่องที่ห้า เพราะมีนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันหลายคนคิดเลยเถิดไปถึงว่า นโยบายปั๊มเงินกันออกมาพยุงเศรษฐกิจกันอย่างมโหฬารทั่วโลก จะเป็นสาเหตุให้ปริมาณเงินดอลลาร์และเงินทุกสกุลทะลักออกมามากเกินไป เมื่อเทียบกับผลผลิตหรือรายได้ประชาชาติของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับผลผลิตที่มาจากทรัพยากรของโลก ไม่เฉพาะแต่แร่ธาตุอย่างทองคำ แต่จะรวมไปถึงน้ำมัน ทองแดง อะลูมิเนียม และอื่น ๆ เมื่อสินค้าเหล่านี้มีราคาต่ำลงเทียบกับปริมาณเงินที่ถูกปั๊มเข้ามาในระบบเศรษฐกิจทั่วโลก
ผลก็คือจะทำให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นอย่างรุนแรงทั้งโลก ระบบตลาดของสินค้าโภคภัณฑ์ที่จัดระเบียบไว้ทั้งในตลาดปัจจุบันและในตลาดล่วงหน้า อาจจะพังทลายลงถ้าเกิดเงินเฟ้ออย่างรุนแรง (hyperinflation) เช่น ราคาสิ่งของเพิ่มขึ้นทุกวัน สินค้าก็จะหายไปจากตลาด เศรษฐกิจทั้งโลกก็จะตกต่ำ เหมือนกับที่เกิดขึ้นในประเทศละตินอเมริกาในทศวรรษที่ 1960 ซึ่งเป็นเรื่องของภาพที่ถูกวาดขึ้นอย่างน่ากลัวและมากเกินกว่าที่ควรจะเป็นมากมาย ในกรณีอย่างนี้ค่าเงินดอลลาร์จะถูกกระทบมากที่สุด เพราะถูกปั๊มออกมามากที่สุด
ระยะนี้จึงเป็นระยะที่นักเศรษฐศาสตร์ออกมาเสนอความเห็นแปลก ๆ กันมากมาย หากติดตามข่าวดู ซึ่งก็ดีทำให้ไม่เหงา ความเห็นเหล่านี้น่าจะเป็นความเห็นที่สุดโต่งเกินไป แม้ว่าเที่ยวนี้ทั้งโลกจะถูกสหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบายเศรษฐกิจไปทางเดียวกันหมด อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงอยู่ไม่น้อยเหมือนกันเมื่อทุกคนคิดเหมือนกันและทำเหมือนกันหมด ก็ต้องคอยดูต่อไปว่าอนาคตของเศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร ถ้าดูในขณะนี้ผลก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น การขาดดุลของอเมริกาขนาดหนักก็ยังขาดดุลต่อไป เศรษฐกิจก็ดูยังไม่ฟื้นตัว ยุโรปก็ยังเหมือนเดิม จีน อินเดีย เอเชียก็ยังเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดต่อไป เศรษฐกิจหดตัวมากกว่าการขึ้นราคาน้ำมันและวัตถุดิบต่าง ๆ และปริมาณเงินที่มีมากขึ้นในเกือบทุกประเทศ
เมื่อเป็นอย่างนี้ แม้ว่าจะมีเหตุผลเพียงพอที่ผู้คนโดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ จะมีความกังวลต่อค่าเงินดอลลาร์ว่า ค่าเงินดอลลาร์ใน 2-3 ปีนี้น่าจะมีค่าอ่อนตัวลงไปเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่น ๆ เมื่อเทียบกับทองคำ เช่น ยูโร หรือเงินเยนญี่ปุ่น ส่วนจะไปหยุดลงที่ไหนคงไม่มีใครคาดได้ถูก
ส่วนที่ห่วงใยกันว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง หรือเมื่อเศรษฐกิจที่แท้จริงของโลกฟื้นตัวแล้ว จะเกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงนั้นก็ยังมองไม่เห็น ตราบใดที่ภาวะเศรษฐกิจแท้จริงของสหรัฐอเมริกายังไม่ฟื้นตัวอย่างจริงจังจนทำให้อัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้น ดังนั้นในระยะที่เศรษฐกิจอเมริกายังคงอ่อนแออยู่อย่างนี้ อันตรายจากภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงอันเกิดจากการเพิ่มปริมาณเงินเข้ามาในระบบทั่วโลกก็ยังไม่น่าจะเกิดขึ้น
สำหรับประเด็นที่นักเศรษฐศาสตร์และสื่อมวลชนตะวันตกออกมาตีข่าวว่า เงินดอลลาร์กำลังถูกท้าทายจากเงินสกุลอื่น เช่น เงินยูโร เงินเยน หรือเงินอื่น ๆ ในยุโรป ออสเตรเลีย แคนาดา หรือแม้แต่เงินหยวน ในระยะเวลา 4-5 ปีข้างหน้า เงินดอลลาร์ก็ยังคงความสำคัญในฐานะที่เป็นเงินตราที่ใช้ชำระหนี้ระหว่างประเทศ เป็นทุนสำรอง และเป็นเครื่องมือในการเก็งกำไรในตลาดการเงิน ตราสาร และสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ ยังมองไม่เห็นว่าจะมีเงินสกุลใด หรือเงินสกุลหลาย ๆ สกุลรวมกัน แล้วจะมีสภาพคล่องมากพอที่จะมาทดแทนเงินดอลลาร์ได้
แต่อย่างไรก็ตามความพยายามของผู้คนที่เกี่ยวข้องก็คงพยายามกระจายความเสี่ยงจากการถือสินทรัพย์ในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐออกไปเป็นรูปแบบอื่น ๆ มากยิ่งขึ้น โดยการเปลี่ยนสินทรัพย์ที่อยู่ในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐมาเป็นทองคำ และเงินตราสกุลอื่น ๆ มากยิ่งขึ้น
ราคาทองคำ และค่าเงินสกุลอื่น ๆ ก็คงจะค่อย ๆ สูงขึ้น ๆ เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อค่าเงินสหรัฐอ่อนตัวลงเรื่อย ๆ ก็คงคาดได้ว่า ราคาน้ำมัน แร่ธาตุ และสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ก็คงจะมีราคาแพงขึ้น ๆ แต่ราคาสินค้าสำเร็จรูปยังไม่ฟื้นตัว ปัจจัยดังกล่าวนี้แหละจะเป็นตัวดึงเศรษฐกิจกลับลงมาที่เดิมอีก
เหมือนกับโอบามาพูดเกือบตายแต่ก็กลับมาที่เดิมเหมือนที่บุชเคยทำคือ เดินทางไปปักกิ่งขอให้จีนขึ้นค่าเงินหยวน
ในที่สุดก็กลับมาที่เดิม ยกเว้นยอดหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นมหาศาล