วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

กลยุทธ์ยูโด...แจ็กผู้ฆ่ายักษ์

คอลัมน์ แยบยลกลยุทธ์ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธีรยุส วัฒนาศุภโชค teerayout@acc.chula.ac.th ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4162

มีคำถามบ่อย ๆ ว่า กิจการเล็ก ๆ จะมีโอกาสแข่งขันชนะ และเกิดในธุรกิจท่ามกลางการแข่งขันจากรายใหญ่ได้หรือไม่ จึงนำแนวคิดยูโดมานำเสนอในเชิง "แจ็กผู้ฆ่ายักษ์ในวงการธุรกิจ" ดังต่อไปนี้ครับ

เริ่มจากหลักการแรกที่นักยูโดนำมาประยุกต์ใช้ คือ แนวคิดการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว และพยายามเคลื่อนตัวเองไปสู่จุดที่ตนเองได้เปรียบทางการแข่งขันมากกว่า ในขณะเดียวกันก็หลีกเลี่ยงการตอบสนองหรือการต่อสู้อย่างรุนแรงจากคู่แข่งขัน เนื่องจากกิจการขนาดเล็กนี้มักมีข้อได้เปรียบทางด้านความยืดหยุ่นที่สูงกว่าจนรายใหญ่ ๆ ที่อุ้ยอ้ายกว่าตามไม่ทันครับ

การเคลื่อนไหวนี้เริ่มจาก "แบบตั้งรับ" ที่ต้องใช้เพื่อปกป้องตนเองในเบื้องแรกที่ยังไม่มีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะต่อสู้ เสมือนเด็กที่ยังไม่แข็งแรงพอ ต้องถนอมตัวเองให้ดีเสียก่อน เมื่อแข็งแกร่งจึงต่อยหาทางเข้าจู่โจมต่อไป

การประยุกต์ใช้ทางธุรกิจก็คือ กิจการขนาดเล็กที่ต้องพยายามประพฤติตน ให้ดูเหมือนไม่เป็นอันตรายต่อคู่แข่งขันหลักในตลาด โดยคู่แข่งขันขนาดเล็กจะพยายามทำตัวแบบโลว์โปรไฟล์นั่นเอง เพื่อที่จะทำให้คู่แข่งขันขนาดใหญ่ไม่รู้สึกว่าเป็นพิษเป็นภัยแต่อย่างใด เพราะหากให้กิจการยักษ์ใหญ่เห็นศักยภาพตั้งแต่แรกคงจะถูกบี้ทิ้งไปเสียตั้งแต่ต้นมือครับ ซึ่งการทำตนให้สงบเสงี่ยมและไม่โดดเด่นจนเป็นภัยนั้น ทำให้กิจการมีเวลาฟูมฟักตนเองเพื่อรอคอยโอกาสในอนาคต

อาทิ palm ที่หลาย ๆ ท่านชื่นชอบสินค้าอิเล็กทรอนิกส์คงพอจะจำได้ว่า ในช่วงแรกนั้นปาล์มเกิดขึ้นมาได้ในธุรกิจนี้ เนื่องจากวางตำแหน่งตนเองเป็นเพียงออร์แกไนเซอร์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ใช่สินค้าที่จะเข้ามาทดแทนคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด แถมยังพยายามวางตนเป็นสินค้าที่ใช้ประกอบกันกับคอมพิวเตอร์อื่น ๆ หรือซอฟต์แวร์อื่น ๆ ได้อีกด้วย ทำให้ไม่ตกเป็นเป้าในการถูกทำลายล้างจากกิจการยักษ์ใหญ่ในโลกขณะนั้น จนกระทั่งมีโอกาสเกิดและเติบโตขึ้นมาในตลาดได้อย่างรวดเร็วในช่วงนั้นครับ

ถัดมาก็คือ การเคลื่อนไหวแบบ "เชิงรุก" มักจะเกิดขึ้นหลังจากที่ตนเอง เริ่มอยู่ตัวและพร้อมจะเข้าต่อสู่แย่งชิงบ้างแล้ว ซึ่งก็มักจะคล้ายกับการติดตามผลหลังจากที่เริ่มแข็งแรงเติบใหญ่นั่นเอง กรณีเดียวกันคือ เมื่อสินค้าของปาล์มเริ่มติดตลาด แบรนด์เริ่มเป็นที่รู้จักกันทั่วไป จึงมีการรุกเข้าไปในธุรกิจดังกล่าวมากยิ่งขึ้น โดยทำการพัฒนาตนเองจากเพียงออร์แกไนเซอร์ให้กลายเป็นคอมพิวเตอร์มือถือ (handheld computer) ซึ่งก็มาจากจุดเด่นดั้งเดิมของตนที่มีเครื่องขนาดเล็กเพียงเท่าฝ่ามือเท่านั้น และนำไปใช้งานต่าง ๆ ได้ไม่ต่างจากพีซี เมื่อพัฒนาเรียบร้อยจึงนำผลิตภัณฑ์ใหม่ของตนสู่ตลาด ซึ่งก็นับว่าประสบความสำเร็จระดับที่น่าพอใจในช่วงนั้นทีเดียว ถือเป็นการรุกคืบเข้าแย่งชิงส่วนครองตลาดในธุรกิจนี้อย่างเกินคาดการณ์

กรณีนี้หากปาล์มวางตนเองไว้เป็นคอมพิวเตอร์มือถือตั้งแต่ต้นก็คงยากที่จะเกิดในตลาดแล้ว คงจะถูกคู่แข่งรายใหญ่บี้ตั้งแต่ตอนเริ่มตั้งไข่เสียแล้ว

หลักการที่ 2 หลังจากการเคลื่อนไหว คือการควบคุมเกมการแข่งขันนั่นคือ เมื่อถึงเวลาต้องเผชิญหน้า ไม่สามารถวิ่งหลบลี้หนีหน้าบนเวทีได้อีกต่อไป ถึงคราวที่ต้องมาต่อสู้กันจริง ๆ แล้ว ก็มีเทคนิคอีกหลายประการครับ อาทิ การล็อกคู่แข่งขันไว้ให้มั่น ไม่ให้ทำร้ายเราได้สะดวกนัก อาจจะเป็นการวิ่งเข้าไปกอดรัดคู่แข่ง เพื่อไม่ให้ทุ่มเราได้ถนัดนักนั่นเอง

เมื่อนำมาประยุกต์กับการทำธุรกิจ ก็หมายถึงการลดแรงจูงใจของคู่แข่งไม่ให้มาทำร้ายกิจการเรานั่นเอง ที่นิยมคือการเปลี่ยนคู่แข่งขันนั้นให้กลายเป็นพันธมิตรของเรา ซึ่งก็คือสร้างพันธมิตรธุรกิจที่มีผลประโยชน์ได้เสียร่วมกับเราด้วย เช่น การร่วมมือเป็นพันธมิตร การทำการร่วมทุน หรือแม้แต่การให้สิทธิในการผลิตและจำหน่าย (licensing) หรือการทำให้คู่แข่งกลายเป็นตัวแทนจำหน่าย เป็นต้น จะเห็นว่าวิธีนี้เป็นการลดแรงจูงใจในการแข่งขันหรือจู่โจมธุรกิจของเรา เนื่องจากคู่แข่งขันรายใหญ่ดังกล่าวก็มีผลประโยชน์จากความสำเร็จของเราอยู่ส่วนหนึ่งด้วย ถ้าเราเจ๊งเขาก็เสียประโยชน์ไปด้วยโดยอัตโนมัติ

นอกจากนี้ ยังมีการควบคุมเกมการแข่งขันโดยพยายามเคลื่อนที่เข้าไปในจุดที่ตนมีความได้เปรียบคู่ต่อสู้ ทำให้เขามีสิทธิ์เพลี่ยงพล้ำ อาทิ เข้าไปอยู่มุมที่ติดกับเชือกเวที ซึ่งหากคู่แข่งเข้ามาก็มีสิทธิ์ถูกดีดตัวไปทำร้ายได้

การประยุกต์ใช้ในธุรกิจดังกรณีของฟู้ดแลนด์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งแม้ว่าจะมีขนาดเล็กกว่าซูเปอร์เซ็นเตอร์อื่น ๆ มาก ไม่สามารถใช้กลยุทธ์ราคาหรือใช้โปรโมชั่นขนานใหญ่ เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการอย่างค้าปลีกขนาดใหญ่อื่น ๆ

แต่ฟู้ดแลนด์จะมุ่งเน้นการเคลื่อนไหวตัวเองไปอยู่ในตำแหน่งที่ตนมีความสามารถทางการแข่งขันและได้เปรียบนั่นคือ การมุ่งเน้นที่สินค้าที่แปลกใหม่ เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีจำหน่ายในร้านค้าปลีกอื่น ๆ นั่นคือ ของสดที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นจุดที่ตนมีความแข็งแกร่งมาเป็นเวลานาน แต่เป็นจุดไม่แข็งแกร่งของค้าปลีกยักษ์ใหญ่

รวมถึงความสะดวกในเรื่องของที่จอดรถ อีกทั้งเปิด 24 ช.ม. ซึ่งเราจะเห็นว่าเป็นการดำเนินงานในรูปแบบดังกล่าว เป็นจุดแข็งของฟู้ดแลนด์เนื่องจากมีขนาดเล็กกว่า ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่ำกว่ามาก สามารถจะเปิด 24 ช.ม. และรองรับฐานลูกค้าของตนที่มีจำนวนไม่มาก ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าระดับพรีเมี่ยม (premium customers) ขึ้นไปได้ จึงไม่ต้องเข้าร่วมทำสงครามราคาอย่างเข้มข้น จนต้องเสียผลตอบแทนที่ควรได้ไปครับ

หลักท้ายสุดคือ การนำเอาทรัพยากรหรือความสามารถหลักของคู่แข่งขันเข้ามาใช้ให้เป็นประโยชน์กับกิจการของเรานั่นคือ การพยายามดึงเอาจุดเด่นหรือความสามารถหลักของคู่แข่งเข้ามาใช้เป็นขุมกำลังทางการแข่งขันของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่ลงทุน เทคโนโลยี พันธสัญญาที่ทำกับพันธมิตร ฯลฯ เนื่องจากมองว่าสิ่งเหล่านี้แม้สร้างความแข็งแกร่งให้กับคู่แข่งขันเแล้ว แต่ขณะเดียวกันอาจเป็นอุปสรรคได้

ดังกรณีของ Southwest Airline ที่สามารถตัดต้นทุนสารพัดอย่างและลดค่าตั๋วโดยสารได้ 50-60% เมื่อเทียบกับราคาของคู่แข่งขันหลัก เช่น United Airline ที่สู้ด้านต้นทุนไม่ได้เพราะสายการบินยักษ์ใหญ่นี้มีปัญหาเรื่องขนาดที่ใหญ่โต จำนวนพนักงานมาก และการดำเนินการซับซ้อน รวมถึงมีการลงทุนในสินทรัพย์จำนวนมากมาก่อน เช่น เทอร์มินอลของผู้โดยสารขนาดใหญ่ที่สร้างในสนามบินใหญ่ในอเมริกา การลงทุนในระบบการจองตั๋วมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ ฯลฯ จึงทำให้โครงสร้างต้นทุนสูงกว่า Southwest มากนั่นเอง และ Southwest จึงเกิดขึ้นมาในกรณีนี้

ดังนั้น กิจการขนาดเล็กอย่าเพิ่งท้อถอย ท่านอาจเป็นแจ็กผู้ฆ่ายักษ์ได้ในอนาคตอันใกล้ครับ


ปัญหาการตี 2 หน้าของธนาคารกลางสหรัฐ

เศรษฐศาสตร์จานร้อน : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เหตุการณ์ที่เป็นข่าวใน 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับตลาดเงินและตลาดทุน คือ ความเป็นห่วงว่านโยบายการเงินของสหรัฐที่ผ่อนคลายมากเกินไปนั้น นอกจากจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงไปเรื่อยๆ แล้ว ก็ยังได้เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศเอเชียที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ประเทศที่ผูกค่าเงินของตนกับเงินดอลลาร์เช่นจีนจะเผชิญกับความเสี่ยงดังกล่าวมากที่สุด ในการประชุมประจำปีของเอเปคที่ผ่านมา จึงได้มีการรายงานข่าวว่าทั้งผู้นำของฮ่องกง (ซึ่งอดีตเคยเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางของฮ่องกง) และธนาคารกลางของจีนแสดงความกังวลว่านโยบายการเงินของสหรัฐนั้นเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจโลก

ผมมีความเห็นว่ารากเหง้าของปัญหา คือ ธนาคารกลางของสหรัฐมี 2 หน้าที่ กล่าวคือ หน้าที่ที่ 1 เป็นธนาคารกลางที่ต้องดูแลสภาวะทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และหน้าที่ที่ 2 คือ เป็นธนาคารกลางของเศรษฐกิจโลก เพราะเงินดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลักของโลก และสภาวการณ์ปัจจุบันหน้าที่ทั้งสองทำให้เกิดความขัดแย้งกันในเชิงของการกำหนดนโยบายการเงินที่เหมาะสม

หากหันมามองสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของอเมริกานั้น จะเห็นได้ว่ายังมีปัญหาคั่งค้างอยู่มาก อาทิเช่น

1. ประชาชนตกงานมากขึ้น 5 ล้านคน ตั้งแต่เศรษฐกิจถดถอย ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 10.2% และมีแนวโน้มว่าจะไม่ปรับลดลงไปอีก 6-9 เดือน ปัญหานี้กำลังเป็นปัญหาทางการเมือง อาทิเช่น การกดดันของ ส.ส.พรรครีพับลิกันที่ต้องการให้รัฐมนตรีคลังสหรัฐลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากแก้ปัญหาการว่างงานไม่ได้ แต่ช่วยให้วาณิชธนกิจ อาทิเช่น โกลด์แมน แซคส์ มีกำไรจ่ายโบนัสถึง 17,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 567,000 ล้านบาท) ส่วนหนึ่งเพราะเคยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐในลักษณะต่างๆ รวมทั้งการเพิ่มทุนประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์ (ซึ่งได้ใช้เงินคืนไปหมดแล้ว)

2. เมื่อประชาชนตกงานเพิ่มขึ้น ปัญหาหนี้เสียในภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ทรุดตัวลงมิได้มีอาการดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามภาพรวมของเศรษฐกิจ ตัวเลขล่าสุดพบว่าในไตรมาส 3 มีลูกหนี้ที่มีปัญหาในการจ่ายหนี้ผ่อนบ้านสูงถึง 14.4% ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่มีการเก็บตัวเลขดังกล่าวที่เริ่มต้นเมื่อปี 1972 ที่สำคัญ คือ ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 13% ในไตรมาส 2 และส่วนที่เป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นนั้นเกือบครึ่งหนึ่งมาจากสินเชื่อชั้นดี (prime) ไม่ใช่สินเชื่อต่ำกว่ามาตรฐาน (subprime) ผลคือในตัวเลขหนี้เสีย 14.4% นั้นมากถึง 1/3 เป็นสินเชื่อชั้นดี ซึ่งทำให้เป็นห่วงว่าสินเชื่อดังกล่าวจะเสื่อมคุณภาพลงต่อไปอีกใน 12 เดือนข้างหน้า เพราะปัญหาการว่างงานจะทวีความรุนแรงขึ้น และไม่ปรับตัวดีขึ้น จนกระทั่งปี 2011

3. ปัญหาที่ไม่ได้รับการกล่าวถึงมากนัก แต่เป็นปัญหาที่ Wall Street Journal (วันที่ 18 พ.ย. 2009) กล่าวว่า กอบกู้ไม่ได้ คือ ปัญหาหนี้อสังหาริมทรัพย์ อาคารพาณิชย์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์การค้า) ซึ่งมีหนี้สินประเภทต่างๆ (หนี้สินจากสินเชื่อธนาคารและจากการออกตราสารหนี้ประเภทต่างๆ) รวมทั้งสิ้นประมาณ 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ (เทียบเท่า 25% ของจีดีพีของสหรัฐ) หนี้สินนี้ส่วนหนึ่งปัจจุบันธนาคารกลางสหรัฐ "อุ้ม" เอาไว้ โดยการซื้อตราสารหนี้ระยะยาวประมาณ 500,000-600,000 ล้านดอลลาร์ และโครงการ TARP ก็ได้เพิ่มทุนให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ สามารถรองรับความเสียหายได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่เพียงพอ เห็นได้จากตารางข้างล่างซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางยังมีความเสี่ยงกับสินทรัพย์ดังกล่าวเป็นสัดส่วนกว่า 3 เท่าของกองทุนขั้นที่ 1 (ดูตารางประกอบ)

ประเด็นสำคัญ คือ สินเชื่อและตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์อาคารพาณิชย์จะต้องต่ออายุในช่วง 2010-2014 (เพราะส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อ/ตราสารระยะยาว 10-15 ปี) จึงสำคัญอย่างยิ่งที่ธนาคารกลางสหรัฐจะต้องเพิ่มสภาพคล่องให้ระบบ เพื่อผลักดันให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้น (สร้างเงินเฟ้อ) มิฉะนั้น สินเชื่อ/ตราสารมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์จะกลายเป็นหนี้เสีย ทำให้ธนาคารต้องล้มละลายและรัฐบาลกับธนาคารสหรัฐต้องเข้ามาแทรกแซงและโอบอุ้มอีกมาก โดยบริษัท Foresight ประเมินว่าสัดส่วนของสินเชื่อ/ตราสารหนี้ที่เป็นหนี้เสียอาจสูงถึง 68% หากราคาสินทรัพย์ไม่ปรับตัวขึ้นในช่วง 2010-2014

ดังนั้น ธนาคารกลางสหรัฐจะต้องดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐตกต่ำลงในครึ่งหลังของปีหน้าหรือต้นปี 2010 แต่นโยบายเดียวกันนี้ ทำให้สภาพคล่องในโลกมีมากเกินไป ซึ่งเริ่มทำให้เกิดปัญหาฟองสบู่ในตลาดหุ้นและภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งบางประเทศเช่นบราซิลก็ได้พยายามแก้ปัญหาโดยการเก็บภาษีเงินทุนไหลเข้า และมีรายงานว่าธนาคารกลางอินโดนีเซียและธนาคารกลางอินเดียกำลัง "ศึกษาอย่างจริงจัง" ว่าควรมีมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าหรือไม่ สำหรับประเทศจีนนั้นก็ได้มีการเรียกร้องให้ปล่อยเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเงินดอลลาร์และยังมีข่าวลือว่าธนาคารกลางจีน อาจมีมาตรการเพิ่มทุนสำรองการปล่อยสินเชื่อในต้นปีหน้า ก่อนที่ธนาคารกลางจีนจะพิจารณาปล่อยให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าในครึ่งหลังของปีหน้า

สำหรับประเทศไทยนั้นปัญหาต่างๆ รวมทั้งปัญหาการเมือง ทำให้ปัญหาฟองสบู่สินทรัพย์หรือแรงกดดันด้านราคา แต่เนื่องจากไทยเองก็มีการเกินดุลการค้าอย่างมาก ดังนั้น หากจีนปล่อยให้ค่าเงินหยวนแข็งค่า เมื่อเปรียบเทียบกับเงินดอลลาร์ก็จะเป็นโอกาสให้ปล่อยเงินบาทให้แข็งค่าขึ้นตามไปด้วย เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีทุนสำรองมากเกินพอแล้ว คือ มีทุนสำรองคิดเป็น 2 เท่าของหนี้ต่างประเทศ และเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของจีดีพี ซึ่งเป็นเงินที่กองเอาไว้โดยไม่ได้นำไปประโยชน์ให้กับประเทศอย่างเต็มที่