เศรษฐศาสตร์จานร้อน : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
เหตุการณ์ที่เป็นข่าวใน 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับตลาดเงินและตลาดทุน คือ ความเป็นห่วงว่านโยบายการเงินของสหรัฐที่ผ่อนคลายมากเกินไปนั้น นอกจากจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงไปเรื่อยๆ แล้ว ก็ยังได้เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศเอเชียที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ประเทศที่ผูกค่าเงินของตนกับเงินดอลลาร์เช่นจีนจะเผชิญกับความเสี่ยงดังกล่าวมากที่สุด ในการประชุมประจำปีของเอเปคที่ผ่านมา จึงได้มีการรายงานข่าวว่าทั้งผู้นำของฮ่องกง (ซึ่งอดีตเคยเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางของฮ่องกง) และธนาคารกลางของจีนแสดงความกังวลว่านโยบายการเงินของสหรัฐนั้นเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจโลก
ผมมีความเห็นว่ารากเหง้าของปัญหา คือ ธนาคารกลางของสหรัฐมี 2 หน้าที่ กล่าวคือ หน้าที่ที่ 1 เป็นธนาคารกลางที่ต้องดูแลสภาวะทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และหน้าที่ที่ 2 คือ เป็นธนาคารกลางของเศรษฐกิจโลก เพราะเงินดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลักของโลก และสภาวการณ์ปัจจุบันหน้าที่ทั้งสองทำให้เกิดความขัดแย้งกันในเชิงของการกำหนดนโยบายการเงินที่เหมาะสม
หากหันมามองสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของอเมริกานั้น จะเห็นได้ว่ายังมีปัญหาคั่งค้างอยู่มาก อาทิเช่น
1. ประชาชนตกงานมากขึ้น 5 ล้านคน ตั้งแต่เศรษฐกิจถดถอย ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 10.2% และมีแนวโน้มว่าจะไม่ปรับลดลงไปอีก 6-9 เดือน ปัญหานี้กำลังเป็นปัญหาทางการเมือง อาทิเช่น การกดดันของ ส.ส.พรรครีพับลิกันที่ต้องการให้รัฐมนตรีคลังสหรัฐลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากแก้ปัญหาการว่างงานไม่ได้ แต่ช่วยให้วาณิชธนกิจ อาทิเช่น โกลด์แมน แซคส์ มีกำไรจ่ายโบนัสถึง 17,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 567,000 ล้านบาท) ส่วนหนึ่งเพราะเคยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐในลักษณะต่างๆ รวมทั้งการเพิ่มทุนประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์ (ซึ่งได้ใช้เงินคืนไปหมดแล้ว)
2. เมื่อประชาชนตกงานเพิ่มขึ้น ปัญหาหนี้เสียในภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ทรุดตัวลงมิได้มีอาการดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามภาพรวมของเศรษฐกิจ ตัวเลขล่าสุดพบว่าในไตรมาส 3 มีลูกหนี้ที่มีปัญหาในการจ่ายหนี้ผ่อนบ้านสูงถึง 14.4% ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่มีการเก็บตัวเลขดังกล่าวที่เริ่มต้นเมื่อปี 1972 ที่สำคัญ คือ ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 13% ในไตรมาส 2 และส่วนที่เป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นนั้นเกือบครึ่งหนึ่งมาจากสินเชื่อชั้นดี (prime) ไม่ใช่สินเชื่อต่ำกว่ามาตรฐาน (subprime) ผลคือในตัวเลขหนี้เสีย 14.4% นั้นมากถึง 1/3 เป็นสินเชื่อชั้นดี ซึ่งทำให้เป็นห่วงว่าสินเชื่อดังกล่าวจะเสื่อมคุณภาพลงต่อไปอีกใน 12 เดือนข้างหน้า เพราะปัญหาการว่างงานจะทวีความรุนแรงขึ้น และไม่ปรับตัวดีขึ้น จนกระทั่งปี 2011
3. ปัญหาที่ไม่ได้รับการกล่าวถึงมากนัก แต่เป็นปัญหาที่ Wall Street Journal (วันที่ 18 พ.ย. 2009) กล่าวว่า กอบกู้ไม่ได้ คือ ปัญหาหนี้อสังหาริมทรัพย์ อาคารพาณิชย์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์การค้า) ซึ่งมีหนี้สินประเภทต่างๆ (หนี้สินจากสินเชื่อธนาคารและจากการออกตราสารหนี้ประเภทต่างๆ) รวมทั้งสิ้นประมาณ 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ (เทียบเท่า 25% ของจีดีพีของสหรัฐ) หนี้สินนี้ส่วนหนึ่งปัจจุบันธนาคารกลางสหรัฐ "อุ้ม" เอาไว้ โดยการซื้อตราสารหนี้ระยะยาวประมาณ 500,000-600,000 ล้านดอลลาร์ และโครงการ TARP ก็ได้เพิ่มทุนให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ สามารถรองรับความเสียหายได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่เพียงพอ เห็นได้จากตารางข้างล่างซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางยังมีความเสี่ยงกับสินทรัพย์ดังกล่าวเป็นสัดส่วนกว่า 3 เท่าของกองทุนขั้นที่ 1 (ดูตารางประกอบ)
ประเด็นสำคัญ คือ สินเชื่อและตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์อาคารพาณิชย์จะต้องต่ออายุในช่วง 2010-2014 (เพราะส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อ/ตราสารระยะยาว 10-15 ปี) จึงสำคัญอย่างยิ่งที่ธนาคารกลางสหรัฐจะต้องเพิ่มสภาพคล่องให้ระบบ เพื่อผลักดันให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้น (สร้างเงินเฟ้อ) มิฉะนั้น สินเชื่อ/ตราสารมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์จะกลายเป็นหนี้เสีย ทำให้ธนาคารต้องล้มละลายและรัฐบาลกับธนาคารสหรัฐต้องเข้ามาแทรกแซงและโอบอุ้มอีกมาก โดยบริษัท Foresight ประเมินว่าสัดส่วนของสินเชื่อ/ตราสารหนี้ที่เป็นหนี้เสียอาจสูงถึง 68% หากราคาสินทรัพย์ไม่ปรับตัวขึ้นในช่วง 2010-2014
ดังนั้น ธนาคารกลางสหรัฐจะต้องดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐตกต่ำลงในครึ่งหลังของปีหน้าหรือต้นปี 2010 แต่นโยบายเดียวกันนี้ ทำให้สภาพคล่องในโลกมีมากเกินไป ซึ่งเริ่มทำให้เกิดปัญหาฟองสบู่ในตลาดหุ้นและภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งบางประเทศเช่นบราซิลก็ได้พยายามแก้ปัญหาโดยการเก็บภาษีเงินทุนไหลเข้า และมีรายงานว่าธนาคารกลางอินโดนีเซียและธนาคารกลางอินเดียกำลัง "ศึกษาอย่างจริงจัง" ว่าควรมีมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าหรือไม่ สำหรับประเทศจีนนั้นก็ได้มีการเรียกร้องให้ปล่อยเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเงินดอลลาร์และยังมีข่าวลือว่าธนาคารกลางจีน อาจมีมาตรการเพิ่มทุนสำรองการปล่อยสินเชื่อในต้นปีหน้า ก่อนที่ธนาคารกลางจีนจะพิจารณาปล่อยให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าในครึ่งหลังของปีหน้า
สำหรับประเทศไทยนั้นปัญหาต่างๆ รวมทั้งปัญหาการเมือง ทำให้ปัญหาฟองสบู่สินทรัพย์หรือแรงกดดันด้านราคา แต่เนื่องจากไทยเองก็มีการเกินดุลการค้าอย่างมาก ดังนั้น หากจีนปล่อยให้ค่าเงินหยวนแข็งค่า เมื่อเปรียบเทียบกับเงินดอลลาร์ก็จะเป็นโอกาสให้ปล่อยเงินบาทให้แข็งค่าขึ้นตามไปด้วย เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีทุนสำรองมากเกินพอแล้ว คือ มีทุนสำรองคิดเป็น 2 เท่าของหนี้ต่างประเทศ และเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของจีดีพี ซึ่งเป็นเงินที่กองเอาไว้โดยไม่ได้นำไปประโยชน์ให้กับประเทศอย่างเต็มที่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น