วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2552

3 หนังสือบริหารจัดการโบแดงปี 2552

นิติธร สุวรรณศาสน์ กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2552

แต่ละปีจะมีหนังสือแนวบริหารจัดการออกมานอนก่ายเกยกันนับร้อยๆ เล่ม บางเล่มถูกขายออกไปในเวลาอันรวดเร็ว ราวกับเพลงฮิตติดชาร์ทที่แผ่นถูกเปิดแล้วเปิดอีก มีคนพูดถึงแล้วพูดถึงอีก

บางเล่มก็ต้องทอดเวลาให้เป็นที่รู้จักมักคุ้น เพื่อเปลี่ยนจากหนังสือโนเนม (nobody) มาเป็นหนังสือมีเนม (somebody) เป็นที่ยอมรับกันในสังคมคนอ่าน

และก็มีไม่น้อยที่จำต้องโดดเดี่ยวเป็น home alone อยู่บนชั้นวางอย่างน่าเสียดาย

หลายสิบเล่มที่อ่านผ่านตาไปตลอดปี 2552 ที่กำลังจะโบกมือบ๊ายบายวันสองวันนี้ อย่างหนึ่งที่บอกได้ชัดเจนก็คือ ท่ามกลางตัวหนังสือภาษาปะกิดอัดแน่นละลานตา บนเนื้อหาหลากหลายทั้งเศรษฐศาสตร์ การเงิน การตลาด กรณีศึกษา และภาวะผู้นำ

การให้เวลากับหนังสือ ด้วยการนั่งลงแล้วลงมืออ่าน ไม่ว่าเนื้อหาจะเป็นแนวไหน ล้วนแล้วแต่ให้ความรู้ และแง่คิดอินเทรนด์มากมาย จากผลึกความคิดของบรรดากูรู นักคิด นักเขียน รวมถึงนักปฏิบัติจริงในสนามจริง

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบอกว่าตลอดปี 2552 นี้ หนังสือการจัดการเล่มไหนดีที่สุด โดดเด่นที่สุด และน่าเป็นเจ้าของที่สุด เพราะแต่ละคนก็ล้วนแล้วแต่มีมุมที่ชอบเป็นของตัวเอง แม้แต่โดยส่วนตัวที่คัดเอาหนังสือการจัดการ 3 เล่มในบรรทัดถัดๆ ไปนี้ มาเป็น ส.ค.ส. สวัสดีปีใหม่ 2553 ก็ยังเป็นเพราะเหตุผลของความชอบเพียงลำพังอย่างถึงที่สุด

ได้แต่แอบหวังใจว่า เมื่อบอกเหตุผลที่ชอบไปแล้ว หลายคนคงหันมาสนใจ และเริ่มเทใจให้หนังสือโบแดง 3 เล่มต่อไปนี้อย่างผมบ้าง

Free: The Future of a Radical Price โดย Chris Anderson หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยเรื่องของฟรีทั้งในมุมของเศรษฐศาสตร์และมุมของการตลาด แถมยังไล่เรียงประวัติความเป็นมาของการให้ฟรีแบบโบราณ ซึ่งคือการแจกของบางอย่างฟรีเพื่อหวังให้คนมาเสียเงินซื้ออีกอย่าง

เช่นให้โทรศัพท์มือถือฟรี โดยหวังรายได้จากค่าโทรและบริการเสริม ซึ่งเป็นวิธีการตลาดที่ซื้อใจคนได้ ไปจนถึงฟรีในความหมายสมัยใหม่ที่มูลค่าของถูกจนเหมือนได้ฟรี ซึ่งให้ความหมายในเชิงเศรษฐศาสตร์ ที่ซึ่งสินค้ามีต้นทุนลดต่ำลงจนใกล้ศูนย์อย่างแท้จริง

Anderson อธิบายปัจจัยผลักดันให้สินค้าเป็นไปเช่นนั้นได้อย่างทะลุปรุโปร่ง แถมยังเสริมถึงการตีแผ่วิธีการตลาด ที่สอดรับกับของฟรีในยุคใหม่นี้

แต่ที่กินใจมากที่สุดคือ การอธิบายของผู้เขียนที่ว่า ภาวะที่สินค้าฟรีนั้น นำไปสู่การมีสินค้าชนิดนั้นอยู่อย่างมากมาย และการมีอยู่อย่างมากมายของสิ่งหนึ่ง จะนำไปสู่ความต้องการสิ่งใหม่ๆ

ซึ่งคำพูดเช่นนี้โดยส่วนตัวแล้ว ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องเศรษฐศาสตร์หรือการตลาดเท่านั้น แต่คือปรัชญาที่เป็นจริงของโลกทีเดียว ไม่ว่าจะใช้อธิบายเรื่องมหภาค อย่างการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อดึงดูดผู้บริโภคออกจากสิ่งเดิมๆ ที่มีอยู่ดาษดื่น หรืออธิบายเรื่องจุลภาค อย่างการสร้างคุณค่าให้ตัวเองไม่เป็นของตายสำหรับคู่รัก

Anderson รักษาทั้งเนื้อหา และโครงสร้างการเขียนที่เป็นวิชาการ อธิบายง่ายๆ ก็คือมีฟรีแบบไหนบ้าง แต่ละแบบมีกลไกทำงานอย่างไรและมีที่มาที่ไปอย่างไร

ขณะเดียวกันก็เขียนด้วยภาษาเข้าใจง่าย มีวิธีเล่าเรื่องที่เพลิดเพลิน และยกตัวอย่างเก่ง ส่วนผสมดังกล่าวจึงทำให้ Free เป็นหนังสืออ้างอิง ที่มีคุณค่าเกินกว่าจะเก็บไว้ประดับความขลังของหิ้งหนังสือ

โดยส่วนตัวจะจัดระเบียบหนังสือเอาไว้ 3 ระดับคือ 1. หนังสือทั่วไป 2. หนังสืออ้างอิง คือหนังสือที่อธิบายเรื่องใดๆ อย่างมีหลักการ น่าเชื่อถือเกินกว่าหนังสือทั่วไป แต่หนังสืออ้างอิงในความหมายของผม มักจะอัดแน่นด้วยตรรกะและเนื้อหา จนคนไม่ค่อยอ่านและนำขึ้นหิ้ง และ 3. สุดยอดหนังสือ กล่าวคือเป็นหนังสืออ้างอิงที่ขึ้นไม่ถึงหิ้ง (เพราะคอยจะมีคนหยิบไปอ่านอยู่ตลอด)

และ Free ก็ถูกจัดเกรดอยู่ในหมวดนี้ ในสายตาของผมเอง

How the Mighty Fall ของ Jim Collins หนังสือเล่มเล็กคุณภาพโตเล่มนี้ แหวกแนวได้อย่างน่าสนใจว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าองค์กรที่กำลังเดินหน้ามาดีๆ นั้น กำลังมีลางร้ายสำหรับอนาคตมากกว่าที่จะสนใจว่าเมื่อลางร้ายเป็นจริงหรือเมื่อเกิดปัญหาแล้วจะแก้อย่างไร ซึ่งเป็นแนวของหนังสืออื่นๆ ส่วนใหญ่

ชอบที่ผู้เขียนยกตัวอย่างว่า ในบรรดาคนแข็งแรงที่วิ่งออกกำลังกายนั้น อาจมีบางคนที่มีเป็นมะเร็งโดยไม่รู้ตัวอยู่ ประเด็นคือ ผู้เขียนต้องการจะให้แนวทางสำรวจเชื้อมะเร็งสำหรับองค์กรโดยวางอยู่บนพื้นฐานว่า เป็นการกวาดสายตาสอดส่องในช่วงที่องค์กรยังมีสภาพดีอยู่

Collins มองขาลงขององค์กรเป็นห้าช่วง ไล่ตามระดับความรุนแรงของอาการ ในที่นี้ไม่ขอลงรายละเอียด เพียงแต่จะเล่าให้เห็นภาพว่า มุมของ Collins ไม่ต่างจากการพิจารณาเรื่องความประมาท ความย่ามใจ ความหยิ่งยโสโอหัง ซึ่งทั้งหมดนี้พร้อมจะทำให้องค์กรที่แข็งแรง กลายมาเป็นองค์กรหมดสภาพได้ทุกเมื่อ

ไม่น่าเชื่อว่าความสำเร็จอันมาจาก น้ำพักน้ำแรงแข็งขัน ความประมาณตน จะนำไปสู่ความมั่นใจเกินตัว จนกลายเป็นประมาท ต่อเมื่อความเฉื่อยของความสำเร็จยังคงลากต่อไป ความประมาทก็กลายเป็นย่ามใจ กล้าลุยในสิ่งที่ไม่น่าจะลุย คราวนี้พอเริ่มพลาด ก็โทษทุกอย่างที่ไม่ใช่ตนเองและไม่ฟังเสียงทัดทานหรือข้อมูลแย้ง

Collins บอกว่า ถ้าองค์กรใดเข้าสู่ช่วงสุดท้ายคือช่วงที่ห้านั้น มีทางออกอยู่เพียงสองทางคือขายกิจการหรือปิดกิจการเท่านั้น

ความเก่งของผู้เขียนประการแรกคือ มีมุมมองเลือกเรื่องได้น่าสนใจและแตกต่าง แทนที่จะเสนอวิธีแก้ กลับเสนอวิธีเช็คอาการ ซึ่งถือเป็นการป้องกันการเกิดปัญหา เชื่อว่าหลายท่านคงเห็นด้วยว่า การป้องกันถือเป็นระดับที่สูงกว่าการแก้ไข

ประการที่สองคือ เขียนเรื่องหนักๆ ให้สั้นและง่ายต่อการเข้าใจ ด้วยเนื้อหาเดียวกันถ้าเขียนยาวกว่านี้สัก 30-40% ก็อาจจะลดความน่าสนใจลงมากทีเดียว การทำให้คนอ่านเข้าใจภายใต้พื้นที่อันจำกัด ทำให้หนังสือเล่มนี้สุดยอดจนต้องยกนิ้วให้

เล่มสุดท้าย Google Speaks ของ Janet Lowe จริงๆ แล้วหนังสือบริหารจัดการหลายเล่ม มักพูดถึงคนที่ประสบความสำเร็จ หรือองค์กรที่สำเร็จ ภายใต้ลักษณะที่เหมือนๆ กันคือ มุ่งความสนใจไปที่ความอัจฉริยะของผู้นำ และกล่าวขวัญถึงผลงานชิ้นโบแดงอย่างชื่นชม

Lowe เธอก็ไม่ได้พลาดประเด็นยอดนิยมเหล่านี้ แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นสองประการคือ การเพิ่มจุดสนใจออกไป กว้างกว่าสองคู่หูอย่าง Page และ Brin และยังกว้างไปเกิน Eric Schmidt แม่บ้านขององค์กรด้วยซ้ำ

ซึ่งทำให้ Google Speaks ไม่ได้หมายถึงแค่ Page & Brin Speak

ประการที่สองคือ Lowe กล้าใส่ข้อมูลที่อาจไม่เป็นผลดีต่อองค์กรไม่ว่าจะเป็นข้อมูลสีดำหรือเทา ซึ่งมองว่าการใส่ข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่ท้าทายต่องานเขียนอย่างมาก เพราะถ้าไม่ใส่ก็จะทำให้งานเขียนดูขาดความเป็นจริง และขาดความเป็นกลาง

แต่เมื่อใส่แล้วก็ต้องระวังไม่ให้ภาพโดยรวมเป็นบวก เป็นลบ หรือดูกลางๆ จนเกินจริง

เธอเก่งตรงที่สามารถขมวดทุกปม ที่เป็นส่วนผสมระหว่าง “ขาว” กับ “ดำ” หรือ “เทา” เข้าไว้ด้วยกัน และทิ้งร่องรอยให้คนอ่านได้มีเวลาขบคิด เอาไปตัดสินใจเอง

หนังสือหลายเล่มที่มีโอกาสอ่านผ่านตาตลอดปี 2552 นอกจากความเพลิดเพลินในฐานะที่เป็นอาหารสมองแล้ว ข้อคิดที่ได้จากแต่ละเล่มบนเนื้อหาที่หลายหลาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวใหญ่น้อยใกล้ตัว

ล้วนสามารถอธิบายได้ ด้วยหลักเหตุผลที่คนธรรมดาสามารถเข้าใจ โดยระดับของความเข้าใจก็ขึ้นอยู่กับสไตล์ของนักเขียนแต่ละคน ว่าเขียนได้อ่านง่ายมากน้อยขนาดไหน

อย่างไรก็ดี ช่วงหลายปีที่ผ่านมา แนวทางการเขียนดูเหมือนว่าจะปรับเข้าหาคนอ่านมากขึ้น คือการอธิบายในสิ่งที่ดูยากแก่การเข้าใจ หรือว่าถ้าง่ายเป็นปอกกล้วยอยู่แล้ว ก็พยายามเพิ่มสีสันเมคอัพให้เรื่องราวนั้นดูน่าสนใจ

สังเกตได้ว่า ลักษณะการอธิบายจะเอื้อให้คนคิดตามได้ง่ายขึ้น ไม่ต่างจากการดูหนังหรือสารคดี ถือเป็นเรื่องน่าชื่นชมสำหรับนักคิดนักเขียนรุ่นใหม่ ที่สามารถปรับทิศทางการเขียนให้ง่าย สั้น กระชับ และย่อยความคิดได้เกือบจะทันที

อยากจะเชิญชวนทุกคนจัดเวลามาอ่านหนังสือกัน แม้ว่าทุกวันนี้จะมีสื่ออื่นๆ เจาะเข้าถึงผู้อ่านได้ง่ายกว่าก็ตามที

เพราะที่สุดแล้วเสน่ห์ของหนังสือ ในฐานะที่เป็นสื่อดั้งเดิม ก็ยังคงอรรถประโยชน์ทั้งการเรียนรู้ การฝึกภาษา และฝึกจินตนาการ

ด้วยเทคนิคการเปลี่ยนจากตัวหนังสือ มาเป็นภาพทางความคิด ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปแค่ไหน หน่วยความจำนี้ก็จะถูกบันทึกไว้ในสมองไดร์ฟ และพร้อมใช้งานเมื่อถึงเวลาอันควร


คอนแทรคฟาร์มมิ่ง ทางเลือก-ทางรอดภาคเกษตรไทย

สังวาลย์ สยาม กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2552
คอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) คือ ระบบการเกษตร (การเลี้ยงสัตว์หรือการเพาะปลูกพืช) ที่มีการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้า ระหว่างฝ่ายเกษตรกรเจ้าของฟาร์ม เรียกว่า "ฟาร์มประกัน" กับคู่สัญญา คือ "ผู้รับประกัน" ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นบริษัทเอกชนที่สัญญาว่าจะซื้อผลผลิตคืนจากอีกฝ่ายในราคาที่ได้ตกลงกันไว้ตั้งแต่ต้น เรียกว่า "ราคาประกัน" ที่จะเปลี่ยนแปลงได้ก็ต่อเมื่อครบกำหนดสัญญา
ระบบนี้แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ 1. การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและวิชาการ โดยบริษัทจะสรรหาเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยมาแนะนำ ให้กับเกษตรกรผู้เป็นเจ้าของกิจการที่มีสิทธิเลือกว่าจะขายผลผลิตเองหรือขายให้กับบริษัทก็ได้ 2. ฟาร์มจ้างเลี้ยง เกษตรกรเป็นเจ้าของกิจการ ที่รับจ้างทำการผลิต ให้กับบริษัทคู่สัญญาซึ่งจะรับผิดชอบเรื่องต้นทุนการผลิตทั้งหมด แล้วจ่ายเป็นผลตอบแทนให้เกษตรกร และ 3. ฟาร์มประกันราคา เกษตรกรผู้เป็นเจ้าของกิจการ จะรับผิดชอบต้นทุนการผลิตเอง โดยต้องซื้อวัตถุดิบทั้งหมดจากบริษัทตามราคาที่ได้ตกลงกันไว้ และขายผลผลิตทั้งหมดคืนให้บริษัทตามราคาประกัน
จะว่าไปแล้ว คอนแทรคฟาร์ม ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับบ้านเรา เพราะมีหลายบริษัทที่ใช้ระบบนี้ในการทำธุรกิจแล้วประสบความสำเร็จ ที่เห็นเด่นๆ ก็อย่าง บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่ทำระบบคอนแทรคฟาร์มโดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์ มานานกว่า 30 ปี เท่าที่เห็นก็ประสบความสำเร็จดีทั้งบริษัทและตัวเกษตรกร ยืนยันได้จากเกษตรกรที่ร่วมโครงการเฉพาะฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศ ที่มีกว่า 10,000 ราย เมื่อวิเคราะห์ดูจะพบว่าซีพีถือเป็นผู้นำในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในธุรกิจ และยังถ่ายทอดสู่เกษตรกร เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถผลิตผลผลิตที่ดี มีมาตรฐาน และประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับบริษัท ตรงนี้เองที่เป็นจุดแข็งทำให้ซีพีประสบความสำเร็จได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
ปกติระบบคอนแทรคฟาร์ม จะมีการทำสัญญาโดยในเนื้อหามักกำหนดให้ "ฟาร์มประกัน" ต้องซื้อปัจจัยการผลิตจาก "ผู้รับประกัน" อาทิเช่น พันธุ์พืช ปุ๋ย และยาฆ่าแมลง หรือพันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์ ยาและวัคซีน ในทางกลับกัน ผู้รับประกันจะต้องรับซื้อผลผลิตทั้งหมดคืนจากฟาร์มประกัน ที่สำคัญ ต้องระบุราคารับซื้อผลผลิตและราคาขายปัจจัยการผลิตที่ตายตัวไว้ล่วงหน้า พร้อมระบุวันที่รับมอบสินค้าอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ ฝ่ายบริษัทผู้รับประกัน จะให้การสนับสนุนแก่เกษตรกร ทั้งด้านวิชาการ การออกแบบแปลนฟาร์มมาตรฐาน พร้อมจัดหาวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตต่างๆ และอาจรวมไปถึงการสนับสนุนเงินสินเชื่อในช่วงแรก ส่วนฝ่ายเกษตรกรหรือฟาร์มประกัน จะต้องลงทุนในส่วนของที่ดินเพาะปลูก หรือการสร้างโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ ซึ่งถือเป็นเงินทุนก้อนใหญ่ จึงอาจจะไม่มีเงินทุนในส่วนอื่นๆ จำเป็นต้องขอสินเชื่อกับบริษัทหรือสถาบันการเงิน โดยจะนำรายได้จากการขายผลผลิตไปหักลบกับสินเชื่อ จนกว่าจะจ่ายคืนหมด
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรในระบบนี้ถือว่าเป็นผู้ประกอบอาชีพที่ต้องใช้ความสามารถ ไม่ใช่ใครมีเงินลงทุนก็จะทำได้ เพราะต้องคอยดูแลและใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิต เพื่อให้มีประสิทธิภาพการผลิตสูงสุด เป็นไปตามหลักวิชาการ เพื่อให้ได้มาตรฐานเดียวกับบริษัท และตรงตามความต้องการของตลาด ที่สำคัญ เกษตรกรต้องส่งมอบผลผลิตทั้งหมดให้บริษัทคู่สัญญาเท่านั้น ห้ามขายให้กับผู้อื่น
สำหรับผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับจะอยู่ในรูปของผลกำไร โดยคิดจากจำนวนเงินที่ขายผลผลิตได้หักกับค่าใช้จ่ายรวมที่ใช้ในการผลิต ขณะเดียวกัน บริษัทผู้รับประกันจะได้รับประโยชน์จากการที่สามารถรวบรวมผลผลิตของเกษตรกร เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบป้อนให้กับโรงงานของตนเองได้อย่างสม่ำเสมอ มีความต่อเนื่อง ทันเวลา เพียงพอสำหรับการผลิตสินค้า และยังสามารถกำหนดได้ทั้งปริมาณและราคา ซึ่งเรื่องนี้นับว่าสำคัญกว่าผลประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับจากผลกำไรในการขายสินค้า หรือแม้แต่กำไรจากการขายปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกรเสียด้วยซ้ำ เพราะถ้าบริษัทไม่มีผลผลิตของเกษตรกร ก็ไม่สามารถผลิตสินค้าส่งให้กับลูกค้าได้ทันตามกำหนด ทำให้เกิดความเสียหาย ยิ่งไปกว่านั้น การที่ราคารับซื้อไม่ผันแปรตามราคาตลาด ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนการผลิต คาดการณ์และวางแผนการตลาดได้อย่างเหมาะสม จึงเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อต้องส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ เนื่องจากสามารถเสนอขายสินค้าให้กับลูกค้าได้ล่วงหน้าในราคาที่กำหนดแน่นอน อย่างไรก็ดี การจะประสบความสำเร็จในธุรกิจด้วยระบบนี้ได้ จะต้องมีฟาร์มประกันอยู่กับบริษัทของตนเองในจำนวนที่มากเพียงพอกับความต้องการผลิต รวมทั้งต้องมีวิธีการวางแผน และการดำเนินการที่ดีควบคู่กันไปด้วย
อันที่จริงระบบนี้คู่สัญญาจะได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย เพราะบริษัทจำเป็นต้องพึ่งเกษตรกรให้ผลิตสินค้าป้อนเข้ากระบวนการผลิต เพื่อให้การส่งออกเป็นไปอย่างคล่องตัว ขณะที่เกษตรกรก็ต้องอาศัยวัตถุดิบและหลักวิชาการจากบริษัท ซึ่งส่วนใหญ่จะทำการศึกษาวิจัยและพัฒนา เพื่อพัฒนาการผลิตของตนเอง และยังนำความรู้และเทคโนโลยีนั้นมาถ่ายทอดสู่เกษตรกร เป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของเกษตรกร ทำให้สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ เท่ากับช่วยให้ภาคเกษตรเกิดการพัฒนายิ่งขึ้น ที่สำคัญ การที่บริษัทเข้ามารับความเสี่ยงจากภาวะผันผวนของราคาผลผลิตและปัจจัยการผลิตแทนนั้น ถือว่ามีส่วนช่วยลดภาระของภาครัฐ ที่จะต้องนำงบประมาณมาใช้พยุงราคาสินค้าเกษตรได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ก็พอใจที่สามารถซื้อปัจจัยการผลิตได้ในราคาที่แน่นอน และยังทราบราคาผลผลิตล่วงหน้า จึงคำนวณต้นทุนและกำไรได้แต่เนิ่นๆ ซึ่งผลตอบแทนที่ได้ค่อนข้างแน่นอน และสูงกว่าเมื่อเทียบกับเกษตรกรที่ต้องรับภาระทั้งการผลิตและการตลาดเอง
แม้ว่าระบบคอนแทรคฟาร์มจะเป็นการทำสัญญาซื้อ-ขายล่วงหน้าก็ตาม แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่เกษตรกรให้ความสำคัญกลับไม่ใช่ข้อสัญญาอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ความสม่ำเสมอในการผลิตต่างหากที่พวกเขาให้ความสนใจมากที่สุด โดยบริษัทจะต้องกำหนดระยะเวลาในการเพาะปลูก หรือเลี้ยงสัตว์ในทุกๆ รอบการผลิตให้มีความต่อเนื่องไม่ให้ขาดตอน โดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์ที่จะต้องนำพันธุ์สัตว์เข้าเลี้ยงภายในระยะเวลาที่เหมาะสม ต้องไม่ปล่อยให้โรงเรือนว่างนานจนเกินไป เพราะการผลิตที่หยุดชะงักลงแม้เพียงไม่กี่วัน ก็มีผลกระทบถึงรายได้ของเกษตรกรที่จะได้รับล่าช้า ทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินสินเชื่อคืนให้กับบริษัทหรือสถาบันการเงินได้ นอกจากนั้น บริษัทยังต้องรับผลผลิตคืนตามเวลา เพราะหากเกษตรกรต้องเลี้ยงสัตว์ต่อไป ก็เท่ากับการเสียอาหาร น้ำ ไฟ ฯลฯ นั่นคือ การเสียรายจ่ายโดยไม่จำเป็น ดังนั้น การนำพันธุ์สัตว์เข้าเลี้ยง และการรับซื้อผลผลิตคืนในเวลาที่เหมาะสม จึงถือเป็นปัจจัยกำหนดความสำเร็จที่สำคัญที่สุดในการทำคอนแทรคฟาร์ม
หากพิจารณาระบบคอนแทรคฟาร์มในฐานะผู้บริโภค โดยมองข้ามประโยชน์ที่ได้จากการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร หรือการสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงแก่เกษตรกรแล้ว ถือว่าผู้บริโภคอย่างเรา ได้ประโยชน์แบบเต็มๆ เพราะไม่เพียงได้บริโภคสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้น จากการผลักดันให้ผลผลิตมีความปลอดภัยและได้มาตรฐานสากลเท่านั้น แต่ราคาสินค้าที่ต้องจ่ายกลับถูกลง เนื่องจากมีผู้ผลิตจำนวนมาก ผลผลิตที่ได้จึงมากขึ้น ราคาย่อมปรับลดลง ตามกลไกตลาดว่าด้วยหลักการอุปสงค์-อุปทานของราคาสินค้า เรียกว่าทั้งเกษตรกร บริษัทเอกชน และผู้บริโภค ต่างก็ได้รับประโยชน์กันทุกฝ่าย
ระบบนี้อาจเป็นทางเลือกสู่ทางรอดของภาคเกษตรบ้านเราได้ หากไม่มองอย่างอคติหรือใจแคบจนเกินไป

การลดค่าเงินด่องของเวียดนาม จะทำให้ไทยเสียเปรียบทางการแข่งขันหรือไม่?

แจงสี่เบี้ย : ดร.สมศจี ศิกษมัต ผู้บริหารส่วน ส่วนดุลการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2552


ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ธนาคารกลางเวียดนามได้ลดค่าเงินด่องลงร้อยละ 5.4 เพื่อกระตุ้นการส่งออกและลดปัญหาการขาดดุลการค้าที่สูงถึง 10.4 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 11 เดือนของปีนี้ พร้อมกับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Base Interest Rate) อีกร้อยละ 1.0 มาอยู่ที่ร้อยละ 8 เพื่อหวังจะช่วยดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ และที่สำคัญ ต้องการลดแรงกดดันของเงินเฟ้อ ซึ่งเคยเร่งตัวสูงกว่าร้อยละ 10 ในช่วงต้นปี
การลดค่าเงินด่องทำให้หลายคนกังวลว่าสินค้าออกของไทยจะเสียเปรียบในด้านราคามากขึ้น จนไม่สามารถแข่งกับสินค้าของเวียดนามได้ โดยเฉพาะ ข้าว สิ่งทอ รองเท้า ของเล่น เฟอร์นิเจอร์ และยังวิตกอีกว่าในระยะต่อไปไทยอาจเสียเปรียบในเรื่องของการลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย เพราะปัจจุบันเวียดนามมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงขึ้น ทั้งด้านแรงงานและทรัพยากรทางธรรมชาติ ป่าไม้และแหล่งน้ำ ตลอดจนมีความสงบภายในบ้านเมือง ซึ่งล้วนเป็นจุดเด่นที่จะดึงดูดเงินทุนจากต่างชาติให้ไหลเข้าไปในเวียดนาม
ในประเด็นเรื่องสินค้าไทยที่จะเสียเปรียบในด้านราคามากขึ้น จนไม่สามารถแข่งกับสินค้าของเวียดนามได้นั้น ผลกระทบดังกล่าวจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าไทยและเวียดนามเป็นคู่ค้าและคู่แข่งกันในสินค้าใดบ้าง และคุณภาพของสินค้าที่ผลิตนั้นเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การส่งออกของเวียดนามเร่งตัวขึ้นโดยตลอด สินค้าออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ ข้าว กุ้งแช่แข็ง รองเท้า และเฟอร์นิเจอร์ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกของเวียดนามในตลาดโลกยังต่ำกว่าไทย โดยในช่วง 11 เดือนของปี 2552 มีมูลค่าทั้งสิ้น 51.3 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณร้อยละ 0.4 ของมูลค่าส่งออกของโลก ขณะที่ของไทยมีมูลค่า 137.9 พันล้านดอลลาร์ หรือร้อยละ 1.2 ของมูลค่าส่งออกของโลก
ในด้านความเป็นคู่ค้า ไทยเกินดุลการค้ากับเวียดนามมาโดยตลอด โดยเวียดนามเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 9 ของไทย มีมูลค่าประมาณ 4.2 พันล้านดอลลาร์ โดยไทยส่งออก น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เหล็ก เครื่องยนต์ กระดาษ และเครื่องจักรกล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าทุนและวัตถุดิบที่เวียดนามนำไปผลิตต่อเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายสำหรับใช้ในประเทศและส่งออก ดังนั้น ในระยะสั้น การลดค่าเงินด่องไม่น่าจะทำให้เวียดนามลดการนำเข้าจากไทย และไปนำเข้าจากแหล่งอื่นแทน เพราะสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าจำเป็นที่ใช้ในการผลิตขั้นต่อๆ ไป และหากจะเปลี่ยนไปซื้อกับประเทศอื่น ราคาก็คงแพงใกล้เคียงกัน เนื่องจากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไปกับค่าเงินในภูมิภาค
ขณะที่การนำเข้าของไทยจากเวียดนามมีมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ หรือร้อยละ 1.1 ของการนำเข้าทั้งหมด สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ คอมพิวเตอร์ เครื่องจักรไฟฟ้า ถ่านหิน ด้ายและเส้นใย เงินด่องที่อ่อนค่าลงเมื่อเปรียบเทียบกับเงินบาท อาจช่วยลดต้นทุนการนำเข้าสินค้าของไทยจากเวียดนามลงบางส่วน
ในด้านความเป็นคู่แข่ง เวียดนามได้เปรียบไทยในเรื่องของผลผลิตต่อไร่ของสินค้าเกษตรบางตัว โดยเฉพาะข้าวที่มีผลผลิตต่อไร่สูงกว่าไทยมาก เนื่องจากมีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยให้เวียดนามสามารถกำหนดราคาข้าวได้ต่ำกว่าของไทยเกือบ 100 ดอลลาร์/ตัน แต่โชคดีที่ไทยยังคงความได้เปรียบในเรื่องข้าวหอมมะลิ จึงทำให้ข้าวไทยยังคงเป็นที่นิยมกันในตลาดโลก
ค่าจ้างในเวียดนามถูกกว่าในไทยกว่า 3 เท่า จึงทำให้ได้เปรียบด้านราคาในสินค้าที่ใช้แรงงานสูงอย่างเช่น กุ้งแช่แข็ง สิ่งทอ รองเท้า ของเล่น และอุปกรณ์กีฬา ซึ่งการลดค่าเงินด่องอาจช่วยให้เวียดนามได้เปรียบทางด้านราคามากขึ้นอีก
แม้ค่าเงินด่องที่อ่อนลงและค่าแรงที่ถูกจะช่วยให้เวียดนามได้เปรียบทางด้านราคา แต่เงินเฟ้อของเวียดนามค่อนข้างสูง แม้ว่าทางการได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่การลดค่าเงินด่องจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าปัจจัยการผลิตต่างๆ ของเวียดนามแพงขึ้นได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อเงินเฟ้อได้อีกต่อหนึ่ง ซึ่งทำให้ราคาสินค้าส่งออกสูงขึ้นในที่สุด จึงต้องรอดูต่อไปว่านโยบายค่าเงินอ่อนและดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จะช่วยเวียดนามให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้มากน้อยเพียงใด
การลดค่าเงินด่องทำให้รายได้ส่งออกต่อหน่วยเมื่อแปลงเป็นเงินด่องแล้วจะเพิ่มขึ้น ซึ่งหากเวียดนามลดราคาส่งออกในรูปดอลลาร์ลง ก็จะกระทบต่อสินค้าไทยที่เป็นคู่แข่งกับเวียดนาม แต่ทั้งนี้คุณภาพและมาตรฐานของสินค้าก็มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจของผู้ซื้อด้วยเช่นกัน
สรุป คำถามที่ว่าการลดค่าเงินด่องจะทำให้ไทยเสียเปรียบทางการแข่งขันหรือไม่ คำตอบไม่ได้อยู่ที่เรื่องของค่าเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่กระทบต่อความได้เปรียบเสียเปรียบทางการแข่งขัน การลดค่าเงินด่องอาจเป็นประโยชน์ต่อไทยในเชิงที่กระตุ้นให้เราต้องเร่งเดินหน้าพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการลงทุน ตลอดจนกลยุทธ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการส่งออกให้ดียิ่งขึ้น และให้ความสำคัญมากขึ้นกับการบริหารความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการแข่งขันของประเทศ เพราะสินค้าไทยไม่ได้แข่งขันกับสินค้าจากเวียดนามเท่านั้น แต่ยังต้องแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่นๆ ซึ่งนับวันก็จะทวีความเข้มข้นขึ้น
---------------------------
บทความนี้ เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย