สังวาลย์ สยาม กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2552
คอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) คือ ระบบการเกษตร (การเลี้ยงสัตว์หรือการเพาะปลูกพืช) ที่มีการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้า ระหว่างฝ่ายเกษตรกรเจ้าของฟาร์ม เรียกว่า "ฟาร์มประกัน" กับคู่สัญญา คือ "ผู้รับประกัน" ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นบริษัทเอกชนที่สัญญาว่าจะซื้อผลผลิตคืนจากอีกฝ่ายในราคาที่ได้ตกลงกันไว้ตั้งแต่ต้น เรียกว่า "ราคาประกัน" ที่จะเปลี่ยนแปลงได้ก็ต่อเมื่อครบกำหนดสัญญา
ระบบนี้แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ 1. การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและวิชาการ โดยบริษัทจะสรรหาเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยมาแนะนำ ให้กับเกษตรกรผู้เป็นเจ้าของกิจการที่มีสิทธิเลือกว่าจะขายผลผลิตเองหรือขายให้กับบริษัทก็ได้ 2. ฟาร์มจ้างเลี้ยง เกษตรกรเป็นเจ้าของกิจการ ที่รับจ้างทำการผลิต ให้กับบริษัทคู่สัญญาซึ่งจะรับผิดชอบเรื่องต้นทุนการผลิตทั้งหมด แล้วจ่ายเป็นผลตอบแทนให้เกษตรกร และ 3. ฟาร์มประกันราคา เกษตรกรผู้เป็นเจ้าของกิจการ จะรับผิดชอบต้นทุนการผลิตเอง โดยต้องซื้อวัตถุดิบทั้งหมดจากบริษัทตามราคาที่ได้ตกลงกันไว้ และขายผลผลิตทั้งหมดคืนให้บริษัทตามราคาประกัน
จะว่าไปแล้ว คอนแทรคฟาร์ม ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับบ้านเรา เพราะมีหลายบริษัทที่ใช้ระบบนี้ในการทำธุรกิจแล้วประสบความสำเร็จ ที่เห็นเด่นๆ ก็อย่าง บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่ทำระบบคอนแทรคฟาร์มโดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์ มานานกว่า 30 ปี เท่าที่เห็นก็ประสบความสำเร็จดีทั้งบริษัทและตัวเกษตรกร ยืนยันได้จากเกษตรกรที่ร่วมโครงการเฉพาะฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศ ที่มีกว่า 10,000 ราย เมื่อวิเคราะห์ดูจะพบว่าซีพีถือเป็นผู้นำในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในธุรกิจ และยังถ่ายทอดสู่เกษตรกร เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถผลิตผลผลิตที่ดี มีมาตรฐาน และประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับบริษัท ตรงนี้เองที่เป็นจุดแข็งทำให้ซีพีประสบความสำเร็จได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
ปกติระบบคอนแทรคฟาร์ม จะมีการทำสัญญาโดยในเนื้อหามักกำหนดให้ "ฟาร์มประกัน" ต้องซื้อปัจจัยการผลิตจาก "ผู้รับประกัน" อาทิเช่น พันธุ์พืช ปุ๋ย และยาฆ่าแมลง หรือพันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์ ยาและวัคซีน ในทางกลับกัน ผู้รับประกันจะต้องรับซื้อผลผลิตทั้งหมดคืนจากฟาร์มประกัน ที่สำคัญ ต้องระบุราคารับซื้อผลผลิตและราคาขายปัจจัยการผลิตที่ตายตัวไว้ล่วงหน้า พร้อมระบุวันที่รับมอบสินค้าอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ ฝ่ายบริษัทผู้รับประกัน จะให้การสนับสนุนแก่เกษตรกร ทั้งด้านวิชาการ การออกแบบแปลนฟาร์มมาตรฐาน พร้อมจัดหาวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตต่างๆ และอาจรวมไปถึงการสนับสนุนเงินสินเชื่อในช่วงแรก ส่วนฝ่ายเกษตรกรหรือฟาร์มประกัน จะต้องลงทุนในส่วนของที่ดินเพาะปลูก หรือการสร้างโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ ซึ่งถือเป็นเงินทุนก้อนใหญ่ จึงอาจจะไม่มีเงินทุนในส่วนอื่นๆ จำเป็นต้องขอสินเชื่อกับบริษัทหรือสถาบันการเงิน โดยจะนำรายได้จากการขายผลผลิตไปหักลบกับสินเชื่อ จนกว่าจะจ่ายคืนหมด
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรในระบบนี้ถือว่าเป็นผู้ประกอบอาชีพที่ต้องใช้ความสามารถ ไม่ใช่ใครมีเงินลงทุนก็จะทำได้ เพราะต้องคอยดูแลและใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิต เพื่อให้มีประสิทธิภาพการผลิตสูงสุด เป็นไปตามหลักวิชาการ เพื่อให้ได้มาตรฐานเดียวกับบริษัท และตรงตามความต้องการของตลาด ที่สำคัญ เกษตรกรต้องส่งมอบผลผลิตทั้งหมดให้บริษัทคู่สัญญาเท่านั้น ห้ามขายให้กับผู้อื่น
สำหรับผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับจะอยู่ในรูปของผลกำไร โดยคิดจากจำนวนเงินที่ขายผลผลิตได้หักกับค่าใช้จ่ายรวมที่ใช้ในการผลิต ขณะเดียวกัน บริษัทผู้รับประกันจะได้รับประโยชน์จากการที่สามารถรวบรวมผลผลิตของเกษตรกร เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบป้อนให้กับโรงงานของตนเองได้อย่างสม่ำเสมอ มีความต่อเนื่อง ทันเวลา เพียงพอสำหรับการผลิตสินค้า และยังสามารถกำหนดได้ทั้งปริมาณและราคา ซึ่งเรื่องนี้นับว่าสำคัญกว่าผลประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับจากผลกำไรในการขายสินค้า หรือแม้แต่กำไรจากการขายปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกรเสียด้วยซ้ำ เพราะถ้าบริษัทไม่มีผลผลิตของเกษตรกร ก็ไม่สามารถผลิตสินค้าส่งให้กับลูกค้าได้ทันตามกำหนด ทำให้เกิดความเสียหาย ยิ่งไปกว่านั้น การที่ราคารับซื้อไม่ผันแปรตามราคาตลาด ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนการผลิต คาดการณ์และวางแผนการตลาดได้อย่างเหมาะสม จึงเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อต้องส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ เนื่องจากสามารถเสนอขายสินค้าให้กับลูกค้าได้ล่วงหน้าในราคาที่กำหนดแน่นอน อย่างไรก็ดี การจะประสบความสำเร็จในธุรกิจด้วยระบบนี้ได้ จะต้องมีฟาร์มประกันอยู่กับบริษัทของตนเองในจำนวนที่มากเพียงพอกับความต้องการผลิต รวมทั้งต้องมีวิธีการวางแผน และการดำเนินการที่ดีควบคู่กันไปด้วย
อันที่จริงระบบนี้คู่สัญญาจะได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย เพราะบริษัทจำเป็นต้องพึ่งเกษตรกรให้ผลิตสินค้าป้อนเข้ากระบวนการผลิต เพื่อให้การส่งออกเป็นไปอย่างคล่องตัว ขณะที่เกษตรกรก็ต้องอาศัยวัตถุดิบและหลักวิชาการจากบริษัท ซึ่งส่วนใหญ่จะทำการศึกษาวิจัยและพัฒนา เพื่อพัฒนาการผลิตของตนเอง และยังนำความรู้และเทคโนโลยีนั้นมาถ่ายทอดสู่เกษตรกร เป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของเกษตรกร ทำให้สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ เท่ากับช่วยให้ภาคเกษตรเกิดการพัฒนายิ่งขึ้น ที่สำคัญ การที่บริษัทเข้ามารับความเสี่ยงจากภาวะผันผวนของราคาผลผลิตและปัจจัยการผลิตแทนนั้น ถือว่ามีส่วนช่วยลดภาระของภาครัฐ ที่จะต้องนำงบประมาณมาใช้พยุงราคาสินค้าเกษตรได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ก็พอใจที่สามารถซื้อปัจจัยการผลิตได้ในราคาที่แน่นอน และยังทราบราคาผลผลิตล่วงหน้า จึงคำนวณต้นทุนและกำไรได้แต่เนิ่นๆ ซึ่งผลตอบแทนที่ได้ค่อนข้างแน่นอน และสูงกว่าเมื่อเทียบกับเกษตรกรที่ต้องรับภาระทั้งการผลิตและการตลาดเอง
แม้ว่าระบบคอนแทรคฟาร์มจะเป็นการทำสัญญาซื้อ-ขายล่วงหน้าก็ตาม แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่เกษตรกรให้ความสำคัญกลับไม่ใช่ข้อสัญญาอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ความสม่ำเสมอในการผลิตต่างหากที่พวกเขาให้ความสนใจมากที่สุด โดยบริษัทจะต้องกำหนดระยะเวลาในการเพาะปลูก หรือเลี้ยงสัตว์ในทุกๆ รอบการผลิตให้มีความต่อเนื่องไม่ให้ขาดตอน โดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์ที่จะต้องนำพันธุ์สัตว์เข้าเลี้ยงภายในระยะเวลาที่เหมาะสม ต้องไม่ปล่อยให้โรงเรือนว่างนานจนเกินไป เพราะการผลิตที่หยุดชะงักลงแม้เพียงไม่กี่วัน ก็มีผลกระทบถึงรายได้ของเกษตรกรที่จะได้รับล่าช้า ทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินสินเชื่อคืนให้กับบริษัทหรือสถาบันการเงินได้ นอกจากนั้น บริษัทยังต้องรับผลผลิตคืนตามเวลา เพราะหากเกษตรกรต้องเลี้ยงสัตว์ต่อไป ก็เท่ากับการเสียอาหาร น้ำ ไฟ ฯลฯ นั่นคือ การเสียรายจ่ายโดยไม่จำเป็น ดังนั้น การนำพันธุ์สัตว์เข้าเลี้ยง และการรับซื้อผลผลิตคืนในเวลาที่เหมาะสม จึงถือเป็นปัจจัยกำหนดความสำเร็จที่สำคัญที่สุดในการทำคอนแทรคฟาร์ม
หากพิจารณาระบบคอนแทรคฟาร์มในฐานะผู้บริโภค โดยมองข้ามประโยชน์ที่ได้จากการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร หรือการสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงแก่เกษตรกรแล้ว ถือว่าผู้บริโภคอย่างเรา ได้ประโยชน์แบบเต็มๆ เพราะไม่เพียงได้บริโภคสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้น จากการผลักดันให้ผลผลิตมีความปลอดภัยและได้มาตรฐานสากลเท่านั้น แต่ราคาสินค้าที่ต้องจ่ายกลับถูกลง เนื่องจากมีผู้ผลิตจำนวนมาก ผลผลิตที่ได้จึงมากขึ้น ราคาย่อมปรับลดลง ตามกลไกตลาดว่าด้วยหลักการอุปสงค์-อุปทานของราคาสินค้า เรียกว่าทั้งเกษตรกร บริษัทเอกชน และผู้บริโภค ต่างก็ได้รับประโยชน์กันทุกฝ่าย
ระบบนี้อาจเป็นทางเลือกสู่ทางรอดของภาคเกษตรบ้านเราได้ หากไม่มองอย่างอคติหรือใจแคบจนเกินไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น