วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2552

3 หนังสือบริหารจัดการโบแดงปี 2552

นิติธร สุวรรณศาสน์ กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2552

แต่ละปีจะมีหนังสือแนวบริหารจัดการออกมานอนก่ายเกยกันนับร้อยๆ เล่ม บางเล่มถูกขายออกไปในเวลาอันรวดเร็ว ราวกับเพลงฮิตติดชาร์ทที่แผ่นถูกเปิดแล้วเปิดอีก มีคนพูดถึงแล้วพูดถึงอีก

บางเล่มก็ต้องทอดเวลาให้เป็นที่รู้จักมักคุ้น เพื่อเปลี่ยนจากหนังสือโนเนม (nobody) มาเป็นหนังสือมีเนม (somebody) เป็นที่ยอมรับกันในสังคมคนอ่าน

และก็มีไม่น้อยที่จำต้องโดดเดี่ยวเป็น home alone อยู่บนชั้นวางอย่างน่าเสียดาย

หลายสิบเล่มที่อ่านผ่านตาไปตลอดปี 2552 ที่กำลังจะโบกมือบ๊ายบายวันสองวันนี้ อย่างหนึ่งที่บอกได้ชัดเจนก็คือ ท่ามกลางตัวหนังสือภาษาปะกิดอัดแน่นละลานตา บนเนื้อหาหลากหลายทั้งเศรษฐศาสตร์ การเงิน การตลาด กรณีศึกษา และภาวะผู้นำ

การให้เวลากับหนังสือ ด้วยการนั่งลงแล้วลงมืออ่าน ไม่ว่าเนื้อหาจะเป็นแนวไหน ล้วนแล้วแต่ให้ความรู้ และแง่คิดอินเทรนด์มากมาย จากผลึกความคิดของบรรดากูรู นักคิด นักเขียน รวมถึงนักปฏิบัติจริงในสนามจริง

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบอกว่าตลอดปี 2552 นี้ หนังสือการจัดการเล่มไหนดีที่สุด โดดเด่นที่สุด และน่าเป็นเจ้าของที่สุด เพราะแต่ละคนก็ล้วนแล้วแต่มีมุมที่ชอบเป็นของตัวเอง แม้แต่โดยส่วนตัวที่คัดเอาหนังสือการจัดการ 3 เล่มในบรรทัดถัดๆ ไปนี้ มาเป็น ส.ค.ส. สวัสดีปีใหม่ 2553 ก็ยังเป็นเพราะเหตุผลของความชอบเพียงลำพังอย่างถึงที่สุด

ได้แต่แอบหวังใจว่า เมื่อบอกเหตุผลที่ชอบไปแล้ว หลายคนคงหันมาสนใจ และเริ่มเทใจให้หนังสือโบแดง 3 เล่มต่อไปนี้อย่างผมบ้าง

Free: The Future of a Radical Price โดย Chris Anderson หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยเรื่องของฟรีทั้งในมุมของเศรษฐศาสตร์และมุมของการตลาด แถมยังไล่เรียงประวัติความเป็นมาของการให้ฟรีแบบโบราณ ซึ่งคือการแจกของบางอย่างฟรีเพื่อหวังให้คนมาเสียเงินซื้ออีกอย่าง

เช่นให้โทรศัพท์มือถือฟรี โดยหวังรายได้จากค่าโทรและบริการเสริม ซึ่งเป็นวิธีการตลาดที่ซื้อใจคนได้ ไปจนถึงฟรีในความหมายสมัยใหม่ที่มูลค่าของถูกจนเหมือนได้ฟรี ซึ่งให้ความหมายในเชิงเศรษฐศาสตร์ ที่ซึ่งสินค้ามีต้นทุนลดต่ำลงจนใกล้ศูนย์อย่างแท้จริง

Anderson อธิบายปัจจัยผลักดันให้สินค้าเป็นไปเช่นนั้นได้อย่างทะลุปรุโปร่ง แถมยังเสริมถึงการตีแผ่วิธีการตลาด ที่สอดรับกับของฟรีในยุคใหม่นี้

แต่ที่กินใจมากที่สุดคือ การอธิบายของผู้เขียนที่ว่า ภาวะที่สินค้าฟรีนั้น นำไปสู่การมีสินค้าชนิดนั้นอยู่อย่างมากมาย และการมีอยู่อย่างมากมายของสิ่งหนึ่ง จะนำไปสู่ความต้องการสิ่งใหม่ๆ

ซึ่งคำพูดเช่นนี้โดยส่วนตัวแล้ว ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องเศรษฐศาสตร์หรือการตลาดเท่านั้น แต่คือปรัชญาที่เป็นจริงของโลกทีเดียว ไม่ว่าจะใช้อธิบายเรื่องมหภาค อย่างการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อดึงดูดผู้บริโภคออกจากสิ่งเดิมๆ ที่มีอยู่ดาษดื่น หรืออธิบายเรื่องจุลภาค อย่างการสร้างคุณค่าให้ตัวเองไม่เป็นของตายสำหรับคู่รัก

Anderson รักษาทั้งเนื้อหา และโครงสร้างการเขียนที่เป็นวิชาการ อธิบายง่ายๆ ก็คือมีฟรีแบบไหนบ้าง แต่ละแบบมีกลไกทำงานอย่างไรและมีที่มาที่ไปอย่างไร

ขณะเดียวกันก็เขียนด้วยภาษาเข้าใจง่าย มีวิธีเล่าเรื่องที่เพลิดเพลิน และยกตัวอย่างเก่ง ส่วนผสมดังกล่าวจึงทำให้ Free เป็นหนังสืออ้างอิง ที่มีคุณค่าเกินกว่าจะเก็บไว้ประดับความขลังของหิ้งหนังสือ

โดยส่วนตัวจะจัดระเบียบหนังสือเอาไว้ 3 ระดับคือ 1. หนังสือทั่วไป 2. หนังสืออ้างอิง คือหนังสือที่อธิบายเรื่องใดๆ อย่างมีหลักการ น่าเชื่อถือเกินกว่าหนังสือทั่วไป แต่หนังสืออ้างอิงในความหมายของผม มักจะอัดแน่นด้วยตรรกะและเนื้อหา จนคนไม่ค่อยอ่านและนำขึ้นหิ้ง และ 3. สุดยอดหนังสือ กล่าวคือเป็นหนังสืออ้างอิงที่ขึ้นไม่ถึงหิ้ง (เพราะคอยจะมีคนหยิบไปอ่านอยู่ตลอด)

และ Free ก็ถูกจัดเกรดอยู่ในหมวดนี้ ในสายตาของผมเอง

How the Mighty Fall ของ Jim Collins หนังสือเล่มเล็กคุณภาพโตเล่มนี้ แหวกแนวได้อย่างน่าสนใจว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าองค์กรที่กำลังเดินหน้ามาดีๆ นั้น กำลังมีลางร้ายสำหรับอนาคตมากกว่าที่จะสนใจว่าเมื่อลางร้ายเป็นจริงหรือเมื่อเกิดปัญหาแล้วจะแก้อย่างไร ซึ่งเป็นแนวของหนังสืออื่นๆ ส่วนใหญ่

ชอบที่ผู้เขียนยกตัวอย่างว่า ในบรรดาคนแข็งแรงที่วิ่งออกกำลังกายนั้น อาจมีบางคนที่มีเป็นมะเร็งโดยไม่รู้ตัวอยู่ ประเด็นคือ ผู้เขียนต้องการจะให้แนวทางสำรวจเชื้อมะเร็งสำหรับองค์กรโดยวางอยู่บนพื้นฐานว่า เป็นการกวาดสายตาสอดส่องในช่วงที่องค์กรยังมีสภาพดีอยู่

Collins มองขาลงขององค์กรเป็นห้าช่วง ไล่ตามระดับความรุนแรงของอาการ ในที่นี้ไม่ขอลงรายละเอียด เพียงแต่จะเล่าให้เห็นภาพว่า มุมของ Collins ไม่ต่างจากการพิจารณาเรื่องความประมาท ความย่ามใจ ความหยิ่งยโสโอหัง ซึ่งทั้งหมดนี้พร้อมจะทำให้องค์กรที่แข็งแรง กลายมาเป็นองค์กรหมดสภาพได้ทุกเมื่อ

ไม่น่าเชื่อว่าความสำเร็จอันมาจาก น้ำพักน้ำแรงแข็งขัน ความประมาณตน จะนำไปสู่ความมั่นใจเกินตัว จนกลายเป็นประมาท ต่อเมื่อความเฉื่อยของความสำเร็จยังคงลากต่อไป ความประมาทก็กลายเป็นย่ามใจ กล้าลุยในสิ่งที่ไม่น่าจะลุย คราวนี้พอเริ่มพลาด ก็โทษทุกอย่างที่ไม่ใช่ตนเองและไม่ฟังเสียงทัดทานหรือข้อมูลแย้ง

Collins บอกว่า ถ้าองค์กรใดเข้าสู่ช่วงสุดท้ายคือช่วงที่ห้านั้น มีทางออกอยู่เพียงสองทางคือขายกิจการหรือปิดกิจการเท่านั้น

ความเก่งของผู้เขียนประการแรกคือ มีมุมมองเลือกเรื่องได้น่าสนใจและแตกต่าง แทนที่จะเสนอวิธีแก้ กลับเสนอวิธีเช็คอาการ ซึ่งถือเป็นการป้องกันการเกิดปัญหา เชื่อว่าหลายท่านคงเห็นด้วยว่า การป้องกันถือเป็นระดับที่สูงกว่าการแก้ไข

ประการที่สองคือ เขียนเรื่องหนักๆ ให้สั้นและง่ายต่อการเข้าใจ ด้วยเนื้อหาเดียวกันถ้าเขียนยาวกว่านี้สัก 30-40% ก็อาจจะลดความน่าสนใจลงมากทีเดียว การทำให้คนอ่านเข้าใจภายใต้พื้นที่อันจำกัด ทำให้หนังสือเล่มนี้สุดยอดจนต้องยกนิ้วให้

เล่มสุดท้าย Google Speaks ของ Janet Lowe จริงๆ แล้วหนังสือบริหารจัดการหลายเล่ม มักพูดถึงคนที่ประสบความสำเร็จ หรือองค์กรที่สำเร็จ ภายใต้ลักษณะที่เหมือนๆ กันคือ มุ่งความสนใจไปที่ความอัจฉริยะของผู้นำ และกล่าวขวัญถึงผลงานชิ้นโบแดงอย่างชื่นชม

Lowe เธอก็ไม่ได้พลาดประเด็นยอดนิยมเหล่านี้ แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นสองประการคือ การเพิ่มจุดสนใจออกไป กว้างกว่าสองคู่หูอย่าง Page และ Brin และยังกว้างไปเกิน Eric Schmidt แม่บ้านขององค์กรด้วยซ้ำ

ซึ่งทำให้ Google Speaks ไม่ได้หมายถึงแค่ Page & Brin Speak

ประการที่สองคือ Lowe กล้าใส่ข้อมูลที่อาจไม่เป็นผลดีต่อองค์กรไม่ว่าจะเป็นข้อมูลสีดำหรือเทา ซึ่งมองว่าการใส่ข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่ท้าทายต่องานเขียนอย่างมาก เพราะถ้าไม่ใส่ก็จะทำให้งานเขียนดูขาดความเป็นจริง และขาดความเป็นกลาง

แต่เมื่อใส่แล้วก็ต้องระวังไม่ให้ภาพโดยรวมเป็นบวก เป็นลบ หรือดูกลางๆ จนเกินจริง

เธอเก่งตรงที่สามารถขมวดทุกปม ที่เป็นส่วนผสมระหว่าง “ขาว” กับ “ดำ” หรือ “เทา” เข้าไว้ด้วยกัน และทิ้งร่องรอยให้คนอ่านได้มีเวลาขบคิด เอาไปตัดสินใจเอง

หนังสือหลายเล่มที่มีโอกาสอ่านผ่านตาตลอดปี 2552 นอกจากความเพลิดเพลินในฐานะที่เป็นอาหารสมองแล้ว ข้อคิดที่ได้จากแต่ละเล่มบนเนื้อหาที่หลายหลาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวใหญ่น้อยใกล้ตัว

ล้วนสามารถอธิบายได้ ด้วยหลักเหตุผลที่คนธรรมดาสามารถเข้าใจ โดยระดับของความเข้าใจก็ขึ้นอยู่กับสไตล์ของนักเขียนแต่ละคน ว่าเขียนได้อ่านง่ายมากน้อยขนาดไหน

อย่างไรก็ดี ช่วงหลายปีที่ผ่านมา แนวทางการเขียนดูเหมือนว่าจะปรับเข้าหาคนอ่านมากขึ้น คือการอธิบายในสิ่งที่ดูยากแก่การเข้าใจ หรือว่าถ้าง่ายเป็นปอกกล้วยอยู่แล้ว ก็พยายามเพิ่มสีสันเมคอัพให้เรื่องราวนั้นดูน่าสนใจ

สังเกตได้ว่า ลักษณะการอธิบายจะเอื้อให้คนคิดตามได้ง่ายขึ้น ไม่ต่างจากการดูหนังหรือสารคดี ถือเป็นเรื่องน่าชื่นชมสำหรับนักคิดนักเขียนรุ่นใหม่ ที่สามารถปรับทิศทางการเขียนให้ง่าย สั้น กระชับ และย่อยความคิดได้เกือบจะทันที

อยากจะเชิญชวนทุกคนจัดเวลามาอ่านหนังสือกัน แม้ว่าทุกวันนี้จะมีสื่ออื่นๆ เจาะเข้าถึงผู้อ่านได้ง่ายกว่าก็ตามที

เพราะที่สุดแล้วเสน่ห์ของหนังสือ ในฐานะที่เป็นสื่อดั้งเดิม ก็ยังคงอรรถประโยชน์ทั้งการเรียนรู้ การฝึกภาษา และฝึกจินตนาการ

ด้วยเทคนิคการเปลี่ยนจากตัวหนังสือ มาเป็นภาพทางความคิด ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปแค่ไหน หน่วยความจำนี้ก็จะถูกบันทึกไว้ในสมองไดร์ฟ และพร้อมใช้งานเมื่อถึงเวลาอันควร


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น