วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การลงทุนและความเสี่ยงในปี 2010 จากมุมมองของเมอร์ริล ลินช์

เศรษฐศาสตร์จานร้อน : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เมอร์ริล ลินช์ มองโลกในแง่ดีว่าการลงทุนในปีหน้า จะมีความราบรื่นด้วยปัจจัยดังนี้

1. การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกในปี 2010 จะสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ กล่าวคือ เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 3.0% (ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 1.5%) และเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 4.2% (ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 3.1%)

2. เงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับต่ำ ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จึงจะถูกถอนออกอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการเงิน ดังนั้น ธนาคารกลางสหรัฐจึงจะยังไม่ต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นจนกระทั่งปี 2011

3. เมอร์ริล ลินช์ จึงแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นและตราสารทุนของบริษัท ซึ่งจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าและมีความมั่นคง ไม่จำเป็นต้องเน้นการถือเงินสดและพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งจะให้ผลตอบแทนต่ำกว่ามาก

4. ดอกเบี้ยระยะยาวจะยังต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ผลตอบแทนจากการถือพันธบัตรรัฐบาล (ทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น) จะติดลบเล็กน้อยในปี 2010

5. การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ (อาทิเช่น ทองคำ น้ำมัน และทองแดง) จะให้ผลตอบแทนที่ดีในปี 2010 แม้ว่าเงินดอลลาร์จะเริ่มมีเสถียรภาพ และไม่อ่อนตัวเช่นที่เกิดขึ้นในปีนี้

6. กล่าวโดยสรุปคือนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ผ่อนปรนเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจ การที่ราคาหุ้นยังไม่สูงมากในขณะนี้ ประกอบกับระบบธนาคารที่จะกลับมาปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น จะทำให้ราคาหุ้นของโลกสามารถปรับตัวขึ้นได้อีก 20% ในปี 2010

7. อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของหุ้นนั้นมีความแตกต่างกัน คือ ในประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) จะเป็นการปรับขึ้นในเชิงโครงสร้างอย่างต่อเนื่องไปอีกหลายปี (secular bull market) แต่สำหรับประเทศพัฒนาแล้วราคาหุ้นจะปรับเพิ่มขึ้นตามวัฏจักรของเศรษฐกิจขาขึ้น (cyclical bull market) ทั้งนี้ สำหรับประเทศยุโรปนั้น เมอร์ริล ลินช์ แนะนำให้ลงทุนในหุ้นมากกว่ามาตรฐาน (overweight) เพราะคาดว่าเศรษฐกิจยุโรปจะฟื้นตัวได้ดีกว่าการคาดการณ์ของตลาดมาก (เมอร์ริล ลินช์ มองว่าเศรษฐกิจยุโรปจะขยายตัว 2.2% ในปี 2010 ในขณะที่ไอเอ็มเอฟคาดว่าจะขยายตัวไม่ถึง 1%)

เมอร์ริล ลินช์ สรุปปัจจัยความเสี่ยงที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น (แต่ย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้) รวมทั้งสิ้น 6 ข้อดังนี้

1. ราคาน้ำมันปรับขึ้นไป 100 ดอลลาร์ และเงินเฟ้อถีบตัวสูงขึ้น ในกรณีดังกล่าวเงินเฟ้อจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4% ภายในปลายปี 2010 (จาก -1% ในขณะนี้) ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเกินไปและเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชีย ทำให้อุปสงค์ของน้ำมันปรับสูงขึ้นเกินคาด ผลคือธนาคารกลางจะต้องปรับดอกเบี้ยระยะสั้นขึ้น ในขณะที่การปรับขึ้นของดอกเบี้ยระยะยาว จะทำให้การบริหารหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ (ซึ่งมีหนี้สินเพิ่มขึ้นมาก) จะยากลำบากมากขึ้น ทั้งนี้เมอร์ริล ลินช์ ให้จับตาดูว่าราคาทองคำจะปรับตัวสูงขึ้นเกิน 1,250 ดอลลาร์ต่อออนซ์หรือไม่ และหากเป็นเช่นนั้น ควรจะต้องลดการลงทุนในพันธบัตรและเพิ่มการลงทุนในทองคำและหุ้นกับเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ เป็นต้น

2. เศรษฐกิจชะลอตัวลงเป็นตัว "W" ในกรณีนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปชะลอตัวลงเกินความคาดหมายใน 12 เดือนข้างหน้า จนกระทั่งกลายเป็นการหดตัวอันเป็นผลมาจากการถอนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เร็วเกินไป ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์ยังไม่ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจ (โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม) อย่างเพียงพอและผู้บริโภคก็ออมเงินมากขึ้น ทำให้กำลังซื้อไม่ฟื้นตัวดังคาด ในกรณีนี้ดอกเบี้ยระยะยาวจะปรับลดลงได้ถึง 1.5% จากปัจจุบันและดัชนีการผลิตต่างๆ จะต่ำกว่าคาดการณ์ ซึ่งจะทำให้การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลให้ผลตอบแทนสูงสุด และลงทุนในหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่มั่นคง (อาทิเช่น บริษัทผลิตไฟฟ้า) หุ้นที่พึ่งพาการขยายตัวของเศรษฐกิจและหุ้นประเทศกำลังพัฒนาจะให้ผลตอบแทนต่ำ

3. ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในจีน ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวอย่างเชื่องช้า ทำให้มีสภาพคล่องล้นระบบอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการที่จีนตรึงค่าเงินหยวนกับเงินดอลลาร์ ที่อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน ทำให้เงินทุนไหลเข้าไปเก็งกำไรในประเทศจีน จนกระทั่งราคาสินทรัพย์ในจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง ส่งผลให้จีนประสบปัญหาเงินเฟ้อในที่สุด ซึ่งจะทำให้ประเทศตลาดเกิดใหม่ประสบปัญหาทำนองเดียวกันด้วย ในกรณีนี้นักลงทุนควรเน้นการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ (ทองคำ น้ำมัน ฯลฯ) หุ้นประเทศ BRIC และเงินสกุลเอเชีย

4. การกีดกันทางการค้าควบคู่กับวิกฤติเงินดอลลาร์ ในกรณีนี้การว่างงานในสหรัฐพุ่งขึ้นสูงพร้อมกับเงินยูโรแข็งค่าขึ้นอย่างมากเทียบกับเงินหยวน ทำให้นักการเมืองทั้งของสหรัฐและยุโรปรุมโจมตีจีน และผลักดันมาตรการกีดกันการค้าจีนอย่างรุนแรง จีนตอบโต้โดยการปฏิเสธที่จะซื้อเงินดอลลาร์และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงอย่างรุนแรง และดอกเบี้ยในสหรัฐปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรงพร้อมกันไป ความเสี่ยงนี้อาจเกิดขึ้นได้หากอัตราการว่างงานในสหรัฐสูงถึง 10.8% (จาก 10.2% ในขณะนี้) และหากเงินยูโรแข็งค่าขึ้นมากกว่าปัจจุบันอีก 10% และราคาทองคำเพิ่มขึ้นไปที่ 1,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในกรณีนี้นักลงทุนไม่มีทางเลือกมากนัก โดยจะต้องถือเงินสด ทองคำและรอซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งราคาจะปรับลดลงอย่างมากในตอนแรก ในขณะเดียวกัน ราคาหุ้นในตลาดหลักจะปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง

5. รัฐบาลญี่ปุ่นไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ ปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นขาดดุลงบประมาณมากถึง 10.2% ของจีดีพี และมีหนี้สาธารณะสูงถึง 218% ของจีดีพี ซึ่งหากสภาวะหนี้สินของรัฐบาลญี่ปุ่นไม่ปรับตัวดีขึ้น ในอนาคตก็อาจทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งประสบปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว หากพยายามใช้จ่ายเงินมากเกินไป เพื่อให้เป็นไปตามแนวนโยบายที่ได้เคยหาเสียงเอาไว้ ในกรณีดังกล่าวธนาคารกลางของญี่ปุ่นก็จำต้องพิมพ์เงินเยนออกมาช่วยเหลือรัฐบาล ซึ่งอาจผลักให้ดอกเบี้ยระยะยาวของญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 1.5-4.0% พร้อมกับการอ่อนตัวของเงินเยน

6. ภาคอสังหาริมทรัพย์และผู้บริโภคสหรัฐฟื้นตัวดีเกินคาด ซึ่งเป็นกรณีที่นโยบายดอกเบี้ยต่ำ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ผลดีเกินคาด ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์หลักๆ ของสหรัฐฟื้นตัวอย่างรวดเร็วพร้อมกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยระยะสั้นอย่างรุนแรง (ดอกเบี้ยระยะยาวจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย) และหุ้นจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าพันธบัตรอย่างมาก รองลงมา คือ ตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะให้ผลตอบแทนที่ดี

ทั้งนี้ ต้องขอย้ำอีกครั้งว่าปัจจัยเสี่ยงทั้ง 6 ข้อที่กล่าวมานั้น เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่หากเกิดขึ้นก็จะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อตลาดเงินและตลาดทุน เหตุที่ต้องนำเสนอความเสี่ยงดังกล่าว ก็เพราะวิกฤติเพิ่งผ่านมานั้นก็ไม่ควรจะเกิดขึ้น อาทิเช่น การที่ราคาหุ้นของโลกปรับตัวลดลง 20% ในเดือนตุลาคม 2008 นั้น หากอาศัยหลักสถิติที่ตั้งสมมติฐานว่าความผันผวนกระจายตัวปกติ (normal distribution) ก็จะคำนวณออกมาว่าการปรับลดลงของราคาหุ้นที่รุนแรงดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้น 1 ครั้ง ทุกๆ 4,112 ปี และความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2008 ควรจะเกิดขึ้น 1 ครั้งในรอบ 14,079 ปี แปลว่าแบบจำลองสถิติที่เราใช้กันอยู่ประเมินความเสี่ยง (ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น) ต่ำเกินกว่าความเป็นจริงครับ

"ทำไมแบร์ลุสโคนีจึงยังอยู่ในตำแหน่งอย่างมั่นคง?" ในมุมมองเศรษฐศาสตร์

"ทำไมแบร์ลุสโคนีจึงยังอยู่ในตำแหน่งอย่างมั่นคง?" ในมุมมองเศรษฐศาสตร์

ธานี ชัยวัฒน์ กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ในช่วงที่ผ่านมา มีข่าวค(ร)าวมากมายเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีของอิตาลี ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี (Silvio Berlusconi) ทั้งทางสื่อมวลชนทั่วโลกและอีกมากมายในอิตาลีเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพฤติกรรมการนอกใจภรรยา การซื้อบริการทางเพศ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการหรือตัวแทนระดับสูงที่ถูกตั้งข้อสงสัย รวมทั้งนโยบายที่ล้มเหลว และการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ

การตั้งประเด็นเรื่องของนโยบายคงไม่น่าแปลกใจมากนัก เพราะเป็นเรื่องปกติในการวิพากษ์วิจารณ์หรือโจมตีความล้มเหลวในบางมิติของการทำงานรัฐบาลอยู่แล้ว แต่ในประเด็นอื่นๆ ต่างหากที่น่าแปลกใจและน่าสงสัยอย่างยิ่งว่า ทำไมพฤติกรรมมากมายที่แบร์ลุสโคนีกระทำลงไป จึงมีผลกระทบทางการเมืองต่อตัวเขาน้อยมาก

ยิ่งถ้าเราทราบด้วยว่า อิตาลีเป็นประเทศที่ประชากรมีส่วนร่วมทางการเมืองสูง มีนิสัยชอบวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะเรื่องทางการเมือง และยังเป็นประเทศที่มีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการแสดงออก โดยการเดินขบวนหรือประท้วงด้วย เราคงยิ่งสงสัยว่าแล้วทำไมประชาชนในอิตาลีถึงไม่ได้มีบทบาทเหล่านี้เท่าที่ควรหรือหากจะมีอยู่บ้าง แต่ก็ไม่สามารถทำให้เก้าอี้นายกรัฐมนตรีของแบร์ลุสโคนีขยับได้แม้แต่น้อย

ขอเท้าความกลับไปก่อนหน้านี้ ว่า แบร์ลุสโคนีเคยเป็นนายกรัฐมนตรีของอิตาลีมาก่อนในช่วงปี 2544-2550 จากนั้นต้องสูญเสียอำนาจไปภายใต้ข้อกังขาคล้ายๆ กับปัญหาที่เรียกว่าคอร์รัปชันเชิงนโยบายในประเทศไทย ต่อมารัฐบาลชุดใหม่ก็เข้ามาบริหารงานได้เพียงแค่ 1 ปี ก็ต้องมีการเลือกตั้งใหม่อีก เนื่องจากนายกรัฐมนตรีคนถัดมา คือ โรมาโน โปรดี (Romano Prodi) ไม่สามารถสร้างความปรองดองให้กับพรรคร่วมรัฐบาลได้มากพอที่จะดำเนินนโยบายได้อย่างเป็นรูปธรรม

การเลือกตั้งครั้งถัดมาในปี 2551 แบร์ลุสโคนีชนะการเลือกตั้งกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ข่าวค(ร)าวของแบร์ลุสโคนีได้รับความสนใจมากขึ้นจากสื่อต่างๆ เพราะเป็นเรื่องที่เขาเคยทำมาก่อนตั้งแต่อดีต ในขณะที่แรงต้านสำหรับเรื่องที่เป็นข่าวฉาวต่างๆ นั้นกลับมีไม่มากเท่าที่ควร

ก่อนอื่นต้องบอกว่าแบร์ลุสโคนีชนะการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ที่ให้สิทธิกับทุกคนอย่างเท่าเทียม ประกอบกับการซื้อเสียงในอิตาลีมีน้อยมาก (เนื่องจากประชาชนตื่นตัวทางการเมือง จึงรักษาสิทธิของตนเองอย่างเต็มที่) จึงถือได้ว่าแบร์ลุสโคนีได้รับฉันทามติจากเสียงส่วนใหญ่ให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

ก่อนการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ชาวอิตาเลียนทุกคนรู้ดีว่า การเลือกแบร์ลุสโคนีเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เขา(อาจ)จะได้รับการบริหารงานที่เป็นเอกภาพ และประสิทธิผลของนโยบายที่เป็นรูปธรรม แต่เขาต้องรับรู้(อย่างแน่นอน)กับข่าวค(ร)าวเรื่องทางเพศ ผู้หญิง ผลประโยชน์ทางธุรกิจและพวกพ้องของแบร์ลุสโคนีเช่นกัน แต่แบร์ลุสโคนีก็ชนะการเลือกตั้ง

บางความเห็นอาจจะกล่าวว่า เป็นเพราะไม่มีตัวเลือกที่ดีเลยในการเลือกตั้งของอิตาลี และแบร์ลุสโคนี คือ ตัวเลือกที่แย่น้อยที่สุด บางความเห็นอาจจะกล่าวว่า เขาสามารถต่อรองกับมาเฟียทางตอนใต้ได้ เขาจึงได้คะแนนเสียงจำนวนมาก จากมาเฟียดังกล่าว รวมทั้งบางความเห็นอาจจะมองว่าเพราะแบร์ลุสโคนีเป็นเจ้าของสื่อยักษ์ใหญ่ในอิตาลี ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล(ด้านลบ)ได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น แต่อย่างไรก็ตาม สุดท้ายเขาก็ชนะการเลือกตั้งภายใต้ความตระหนักรู้ของประชาชนถึงข้อเสียที่จะตามมา

ในทางเศรษฐศาสตร์ แนวคิดของ Dulleckand Kerschbamer (2006) กล่าวถึง การเลือกซื้อสินค้าบางอย่าง ผู้ซื้อจะไม่สามารถทราบถึงคุณภาพตอนก่อนซื้อได้เลย แต่จะทราบก็ต่อเมื่อได้จ่ายเพื่อซื้อสินค้านั้นมาแล้ว สินค้าเหล่านี้ คือ สินค้าที่ต้องอาศัยประสบการณ์ (Experience Goods) อาทิเช่น อาหาร โรงแรม ภาพยนตร์ ไวน์ เป็นต้น ความพึงพอใจที่ได้จากซื้อสินค้าเหล่านี้ จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่คุณภาพของสินค้า แต่ขึ้นอยู่กับความคาดหวัง (Expectation) ต่อตัวสินค้าด้วย อาทิเช่น เราเลือกกินอาหารรสชาติไม่ดีที่ขายอยู่ข้างบ้าน ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่ารสชาติไม่ดี และรู้สึกพอใจกับมันมากกว่าที่จะรู้สึกพอใจกับอาหารรสชาติดีตามภัตตาคาร แต่เราคิดเอาไว้ว่ามันน่าจะดีกว่านี้

บริการทางการเมืองก็เป็นประเภทหนึ่ง ที่จัดได้ว่าเป็นสินค้าที่ต้องอาศัยประสบการณ์ เพราะประชาชนผู้ซื้อบริการนั้นไม่มีทางรู้เลยว่าบริการที่จะได้รับจากนักการเมือง เมื่อเขาเข้าไปอยู่ในตำแหน่งแล้วจะดีอย่างที่คิดไว้หรือไม่ ความคาดหวังของประชาชนก่อนการเลือกตั้ง จึงมีบทบาทสำคัญต่อความพอใจต่อการทำงานของนักการเมืองหลังการเลือกตั้ง

ความมีเสถียรภาพของการเมืองอิตาลีจึงอยู่ที่ว่า หากอิตาลีไม่ได้มีนักการเมืองที่ดีพอหรือมากพอมาให้ประชาชนเลือก การตัดสินใจอย่างรอบด้านเพื่อเปรียบเทียบทั้งผลดีและผลเสีย จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อความมีเสถียรภาพดังกล่าว โดยถ้าประชาชนทั้งประเทศสามารถประเมินข้อมูลข่าวสารได้อย่างมีเหตุมีผล จนทำให้แต่ละคนตัดสินใจดีที่สุด เมื่อนั้นนักการเมืองที่เป็นทางเลือกซึ่งดูเหมือนว่าไม่ดีพอ ก็สามารถถูกคัดกรองให้ดีที่สุดได้ (ตามคะแนนเสียงส่วนใหญ่) และเมื่อถึงเวลานั้น ทุกคนก็จะต้องยอมรับผลการเลือกตั้งอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง ดังเช่นในอิตาลี ประชาชนอาจจะบ่นกับพฤติกรรมของแบร์ลุสโคนีแล้วก็เพิกเฉยไป เพราะคนที่ไม่ชอบแบร์ลุสโคนีก็ได้เพียงแต่บอกว่า "ก็รู้อยู่แล้วว่าเขาเป็นแบบนี้ ซึ่งไม่ได้ต่างจากความคาดหวังที่มีอยู่ตอนแรก"

ดังนั้น หากทางเลือกที่มีอยู่ทางการเมืองไม่ได้มีมากนัก สิ่งสำคัญ คือ การได้ข้อมูลรอบด้านของประชาชน เพื่อให้เขาตัดสินใจอย่างดีที่สุด เพราะอย่างน้อยนอกจากจะทำให้ได้นักการเมืองที่แย่น้อยที่สุดแล้ว เรายังได้ "การเมืองที่มีเสถียรภาพ" ภายใต้เงื่อนไขของคุณภาพนักการเมืองที่ไม่ดีนัก ซึ่งย่อมดีกว่าที่จะได้การเมืองที่ "ไร้" เสถียรภาพพร้อมๆ กับนักการเมืองคุณภาพแย่อย่างแน่นอน