ธานี ชัยวัฒน์ กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
ในช่วงที่ผ่านมา มีข่าวค(ร)าวมากมายเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีของอิตาลี ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี (Silvio Berlusconi) ทั้งทางสื่อมวลชนทั่วโลกและอีกมากมายในอิตาลีเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพฤติกรรมการนอกใจภรรยา การซื้อบริการทางเพศ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการหรือตัวแทนระดับสูงที่ถูกตั้งข้อสงสัย รวมทั้งนโยบายที่ล้มเหลว และการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ
การตั้งประเด็นเรื่องของนโยบายคงไม่น่าแปลกใจมากนัก เพราะเป็นเรื่องปกติในการวิพากษ์วิจารณ์หรือโจมตีความล้มเหลวในบางมิติของการทำงานรัฐบาลอยู่แล้ว แต่ในประเด็นอื่นๆ ต่างหากที่น่าแปลกใจและน่าสงสัยอย่างยิ่งว่า ทำไมพฤติกรรมมากมายที่แบร์ลุสโคนีกระทำลงไป จึงมีผลกระทบทางการเมืองต่อตัวเขาน้อยมาก
ยิ่งถ้าเราทราบด้วยว่า อิตาลีเป็นประเทศที่ประชากรมีส่วนร่วมทางการเมืองสูง มีนิสัยชอบวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะเรื่องทางการเมือง และยังเป็นประเทศที่มีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการแสดงออก โดยการเดินขบวนหรือประท้วงด้วย เราคงยิ่งสงสัยว่าแล้วทำไมประชาชนในอิตาลีถึงไม่ได้มีบทบาทเหล่านี้เท่าที่ควรหรือหากจะมีอยู่บ้าง แต่ก็ไม่สามารถทำให้เก้าอี้นายกรัฐมนตรีของแบร์ลุสโคนีขยับได้แม้แต่น้อย
ขอเท้าความกลับไปก่อนหน้านี้ ว่า แบร์ลุสโคนีเคยเป็นนายกรัฐมนตรีของอิตาลีมาก่อนในช่วงปี 2544-2550 จากนั้นต้องสูญเสียอำนาจไปภายใต้ข้อกังขาคล้ายๆ กับปัญหาที่เรียกว่าคอร์รัปชันเชิงนโยบายในประเทศไทย ต่อมารัฐบาลชุดใหม่ก็เข้ามาบริหารงานได้เพียงแค่ 1 ปี ก็ต้องมีการเลือกตั้งใหม่อีก เนื่องจากนายกรัฐมนตรีคนถัดมา คือ โรมาโน โปรดี (Romano Prodi) ไม่สามารถสร้างความปรองดองให้กับพรรคร่วมรัฐบาลได้มากพอที่จะดำเนินนโยบายได้อย่างเป็นรูปธรรม
การเลือกตั้งครั้งถัดมาในปี 2551 แบร์ลุสโคนีชนะการเลือกตั้งกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ข่าวค(ร)าวของแบร์ลุสโคนีได้รับความสนใจมากขึ้นจากสื่อต่างๆ เพราะเป็นเรื่องที่เขาเคยทำมาก่อนตั้งแต่อดีต ในขณะที่แรงต้านสำหรับเรื่องที่เป็นข่าวฉาวต่างๆ นั้นกลับมีไม่มากเท่าที่ควร
ก่อนอื่นต้องบอกว่าแบร์ลุสโคนีชนะการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ที่ให้สิทธิกับทุกคนอย่างเท่าเทียม ประกอบกับการซื้อเสียงในอิตาลีมีน้อยมาก (เนื่องจากประชาชนตื่นตัวทางการเมือง จึงรักษาสิทธิของตนเองอย่างเต็มที่) จึงถือได้ว่าแบร์ลุสโคนีได้รับฉันทามติจากเสียงส่วนใหญ่ให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
ก่อนการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ชาวอิตาเลียนทุกคนรู้ดีว่า การเลือกแบร์ลุสโคนีเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เขา(อาจ)จะได้รับการบริหารงานที่เป็นเอกภาพ และประสิทธิผลของนโยบายที่เป็นรูปธรรม แต่เขาต้องรับรู้(อย่างแน่นอน)กับข่าวค(ร)าวเรื่องทางเพศ ผู้หญิง ผลประโยชน์ทางธุรกิจและพวกพ้องของแบร์ลุสโคนีเช่นกัน แต่แบร์ลุสโคนีก็ชนะการเลือกตั้ง
บางความเห็นอาจจะกล่าวว่า เป็นเพราะไม่มีตัวเลือกที่ดีเลยในการเลือกตั้งของอิตาลี และแบร์ลุสโคนี คือ ตัวเลือกที่แย่น้อยที่สุด บางความเห็นอาจจะกล่าวว่า เขาสามารถต่อรองกับมาเฟียทางตอนใต้ได้ เขาจึงได้คะแนนเสียงจำนวนมาก จากมาเฟียดังกล่าว รวมทั้งบางความเห็นอาจจะมองว่าเพราะแบร์ลุสโคนีเป็นเจ้าของสื่อยักษ์ใหญ่ในอิตาลี ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล(ด้านลบ)ได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น แต่อย่างไรก็ตาม สุดท้ายเขาก็ชนะการเลือกตั้งภายใต้ความตระหนักรู้ของประชาชนถึงข้อเสียที่จะตามมา
ในทางเศรษฐศาสตร์ แนวคิดของ Dulleckand Kerschbamer (2006) กล่าวถึง การเลือกซื้อสินค้าบางอย่าง ผู้ซื้อจะไม่สามารถทราบถึงคุณภาพตอนก่อนซื้อได้เลย แต่จะทราบก็ต่อเมื่อได้จ่ายเพื่อซื้อสินค้านั้นมาแล้ว สินค้าเหล่านี้ คือ สินค้าที่ต้องอาศัยประสบการณ์ (Experience Goods) อาทิเช่น อาหาร โรงแรม ภาพยนตร์ ไวน์ เป็นต้น ความพึงพอใจที่ได้จากซื้อสินค้าเหล่านี้ จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่คุณภาพของสินค้า แต่ขึ้นอยู่กับความคาดหวัง (Expectation) ต่อตัวสินค้าด้วย อาทิเช่น เราเลือกกินอาหารรสชาติไม่ดีที่ขายอยู่ข้างบ้าน ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่ารสชาติไม่ดี และรู้สึกพอใจกับมันมากกว่าที่จะรู้สึกพอใจกับอาหารรสชาติดีตามภัตตาคาร แต่เราคิดเอาไว้ว่ามันน่าจะดีกว่านี้
บริการทางการเมืองก็เป็นประเภทหนึ่ง ที่จัดได้ว่าเป็นสินค้าที่ต้องอาศัยประสบการณ์ เพราะประชาชนผู้ซื้อบริการนั้นไม่มีทางรู้เลยว่าบริการที่จะได้รับจากนักการเมือง เมื่อเขาเข้าไปอยู่ในตำแหน่งแล้วจะดีอย่างที่คิดไว้หรือไม่ ความคาดหวังของประชาชนก่อนการเลือกตั้ง จึงมีบทบาทสำคัญต่อความพอใจต่อการทำงานของนักการเมืองหลังการเลือกตั้ง
ความมีเสถียรภาพของการเมืองอิตาลีจึงอยู่ที่ว่า หากอิตาลีไม่ได้มีนักการเมืองที่ดีพอหรือมากพอมาให้ประชาชนเลือก การตัดสินใจอย่างรอบด้านเพื่อเปรียบเทียบทั้งผลดีและผลเสีย จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อความมีเสถียรภาพดังกล่าว โดยถ้าประชาชนทั้งประเทศสามารถประเมินข้อมูลข่าวสารได้อย่างมีเหตุมีผล จนทำให้แต่ละคนตัดสินใจดีที่สุด เมื่อนั้นนักการเมืองที่เป็นทางเลือกซึ่งดูเหมือนว่าไม่ดีพอ ก็สามารถถูกคัดกรองให้ดีที่สุดได้ (ตามคะแนนเสียงส่วนใหญ่) และเมื่อถึงเวลานั้น ทุกคนก็จะต้องยอมรับผลการเลือกตั้งอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง ดังเช่นในอิตาลี ประชาชนอาจจะบ่นกับพฤติกรรมของแบร์ลุสโคนีแล้วก็เพิกเฉยไป เพราะคนที่ไม่ชอบแบร์ลุสโคนีก็ได้เพียงแต่บอกว่า "ก็รู้อยู่แล้วว่าเขาเป็นแบบนี้ ซึ่งไม่ได้ต่างจากความคาดหวังที่มีอยู่ตอนแรก"
ดังนั้น หากทางเลือกที่มีอยู่ทางการเมืองไม่ได้มีมากนัก สิ่งสำคัญ คือ การได้ข้อมูลรอบด้านของประชาชน เพื่อให้เขาตัดสินใจอย่างดีที่สุด เพราะอย่างน้อยนอกจากจะทำให้ได้นักการเมืองที่แย่น้อยที่สุดแล้ว เรายังได้ "การเมืองที่มีเสถียรภาพ" ภายใต้เงื่อนไขของคุณภาพนักการเมืองที่ไม่ดีนัก ซึ่งย่อมดีกว่าที่จะได้การเมืองที่ "ไร้" เสถียรภาพพร้อมๆ กับนักการเมืองคุณภาพแย่อย่างแน่นอน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น