วันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2552

อาลัย Paul Samuelson ผู้เปลี่ยนเศรษฐศาสตร์

โดย วรากรณ์ สามโกเศศ มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม 2552 หน้า 6
ไม่มีใครที่เคยเรียนเศรษฐศาสตร์มาบ้าง จะไม่รู้จักศาสตราจารย์ Paul Samuelson ปรมาจารย์ผู้มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อวิชาเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เขาได้จากไปในวัย 94 ปี โดยทิ้งมรดกสำคัญให้อนุชนรุ่นหลัง
ผู้คนจำนวนนับล้านตลอดหลายชั่วคนเรียนเศรษฐศาสตร์จากตำราเศรษฐศาสตร์ของเขา ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกใน ค.ศ.1948 จนถึงครั้งที่ 19 ในปัจจุบันรวมกว่า 4 ล้านเล่ม ฉบับแปลมีถึง 40 ภาษา (ภาษาไทย ผู้แปลคือ ศ.ดร.เดือน บุนนาค แปลในทศวรรษแรกของ พ.ศ.2500 ท่านอาจารย์เดือนเรียกผู้เขียนอย่างนับถือว่า “ท่านพอลล์” ) ตราบจนถึงปัจจุบันยังไม่มีตำราเศรษฐศาสตร์เล่มใดที่มีสถิติเช่นนี้
ตำราอมตะของเขาในการพิมพ์ครั้งแรกมีชื่อว่า “Economics : An Introductory Analysis” ถือว่าเป็นหนังสือเล่มแรกที่อธิบายหลักเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิม กับสิ่งที่เรียกว่า Keynesian Economics
ซึ่งแนวคิดนี้มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อความคิดของผู้คนทั่วโลก และแปรเปลี่ยนเป็นนโยบายเศรษฐกิจตลอดเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา
Paul Samuelson เกิดใน ค.ศ.1915 เมือง Gary รัฐอินเดียน่า สหรัฐอเมริกา ในครอบครัวยิวมีฐานะที่อพยพมาจากโปแลนด์ พ่อมีอาชีพเป็นเภสัชกร เขาเข้าเรียนปริญญาตรีด้านศิลปศาสตร์ที่ University of Chicago เมื่ออายุเพียง 16 ปี และจบปริญญาโท และเอกเศรษฐศาสตร์จาก Harvard จากนั้นมาเป็นอาจารย์ที่ MIT เมื่ออายุเพียง 25 ปี และสร้าง MIT ให้เป็นป้อมปราการเศรษฐศาสตร์สำคัญของโลก จนเกษียณอายุเมื่อตอนอายุ 70 ปี
ครอบครัวของเขาประกอบด้วยนักเศรษฐศาสตร์มีชื่อเสียงหลายคน น้องชายแท้ๆ และน้องสะใภ้ (Robert และ Anita Summers) เป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย
หลานชายของเขาจากครอบครัวนี้คือ Larry Summers (อดีตนักวิชาการธนาคารโลก อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัย Harvard และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโอบามา)
และพี่ชายของ Anita ก็คือ Kenneth Arrow นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชื่อดังอีกคนหนึ่ง
ลูกศิษย์ของ Paul Samuelson และนักเศรษฐศาสตร์ที่เขาชักชวนมาสอนที่ MIT ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์กันหลายคน เช่น Robert Solow / Paul Krugman / Joseph Stiglitz / Franco Modigliani / Robert C. Merton ฯลฯ
เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ( สาขานี้ “จอง”โดยนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันเกือบทุกปี ร้อยละ 60 ของผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขานี้ เป็นคนอเมริกัน) โดยรับรางวัลใน ค.ศ.1970 ส่วนหนึ่งมาจากผลงานในการเปลี่ยนแปลงวิชาเศรษฐศาสตร์เดิม ที่ใช้การตะหนักใคร่ครวญประเด็นเศรษฐศาสตร์มาเป็นเศรษฐศาสตร์ใหม่ที่สามารถใช้แก้ไขปัญหา และช่วยให้สามารถตอบคำถามเรื่องความเป็นสาเหตุ และผลที่เกิดขึ้น ตลอดจนวัดขนาดได้อย่างชัดเจนด้วยการใช้คณิตศาสตร์
มรดกสำคัญอันนี้ของ Paul Samuelson ก็คือการช่วยเปลี่ยนแปลงศาสตร์ที่ครั้งหนึ่งอยู่รวมกับวิชาการเมือง ( Politics ) ดังที่เรียก และเรียนกันมายาวนานในยุโรป และอเมริกาว่าวิชา Political Economy ( เศรษฐศาสตร์การเมือง ) มาเป็นเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ที่นำคณิตศาสตร์เข้ามาประยุกต์
เขามีบทบาทอย่างสำคัญยิ่งในการยกระดับความสามารถในการวิเคราะห์ตลอดจนยกระดับของวิธีการวิเคราะห์ของเศรษฐศาสตร์จนวิชานี้ กลายเป็นวิชาเชิงวิทยาศาสตร์ บางครั้งเรียกว่า Economic Science แทน Economics
เมื่อมีผู้วางรากฐานแล้วที่เหลือก็คือ ประวัติศาสตร์ของการต่อยอดของนักเศรษฐศาสตร์ต่อๆ มา จำนวนมากมาย เศรษฐศาสตร์ก้าวหน้าไปไกลตลอดเวลา จากการนำคณิตศาสตร์ สถิติ ทฤษฎีฟิสิกส์ ทฤษฎีจิตวิทยา ฯลฯ มาประยุกต์จนสามารถตอบคำถาม และให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นเพชรงามเม็ดหนึ่งของวงวิชาการ
(จะมัวหมองไปบ้าง ก็จากวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ที่ยังหานักเศรษฐศาสตร์ที่พยากรณ์วิกฤตไว้ชัดแจ้งไม่ได้)
ในบทบาทแรกของการเปลี่ยนแปลงเศรษฐศาสตร์นี้ หนังสือคลาสิคของเขาที่นำมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก และเป็นตำราเรียนในระดับปริญญาเอกมายาวนาน คือ The Foundation of Economic Analysis (1941) ได้ร่วมวางรากฐานของการเปลี่ยนแปลงวิชาเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิม มาเป็นแนวประยุกต์คณิตศาสตร์
มรดกที่สองของเขาคือ การเผยแพร่แนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ John Maynard Keynes (แนวคิดนี้เรียกว่า Keynesian Economics) ผ่านตำราเรียนยอดนิยมกว่า 4 ล้านเล่มดังกล่าวแล้ว แนวคิดนี้เสนอแนะว่าภาครัฐต้องแทรกแซงเศรษฐกิจด้วยรายจ่าย ภาษีอากร ฯลฯ จะปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาด้วยตัวมันเอง เช่น ปัญหาว่างงาน ปัญหาเงินเฟ้อ ฯลฯ ไม่ได้ ( การตกต่ำของเศรษฐกิจโลกในยุค 1930's คือ ผลพวงของความผิดพลาดที่ภาครัฐไม่ได้แทรกแซง )
เขานำหลักเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิมที่รู้จักกันในนามของ Neoclassical Economics มา "แต่งงาน" กับ Keynesian Economics ในตำราเรียนคลาสสิคนี้เป็นครั้งแรกของโลก อย่างชัดเจน และแจ่มแจ้ง จนกลายเป็นตำราเรียนหลักเศรษฐศาสตร์ของทั่วโลก
คนทั่วโลกกว่า 3 ชั่วคนเรียนตำราเล่มนี้จนสามารถเข้าใจ "ภาษา" เดียวกัน สื่อสารในเรื่องเศรษฐศาสตร์กันได้เข้าใจ สามารถร่วมมือกันแก้ไขปัญหาวิกฤตโลกได้ดังเช่นครั้งนี้ที่ใช้ Keynesian Economics แก้ไขปัญหากันในทุกประเทศ
มรดกชิ้นที่สามของเขาก็คือ การมีส่วนร่วมในการสร้างความเข้าใจเศรษฐศาสตร์ ด้วยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สำคัญมากมายในหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นการค้าระหว่างประเทศ เศรษฐศาสตร์สวัสดิการ เศรษฐศาสตร์สาธารณะ เศรษฐศาสตร์มหภาค ทฤษฎีผู้บริโภค ฯลฯ ผ่านบทความที่ตีพิมพ์จำนวน 388 บทความ หนังสือ 5 เล่ม และข้อเขียนในนิตยสาร และหนังสือพิมพ์อีกมากมาย
Paul Samuelson เป็นคนแรกที่นำทฤษฎี Thermodynamics จากฟิสิกส์มาประยุกต์กับเศรษฐศาสตร์ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก และต่อมาเป็นหนังสือของเขา การนำแนวคิดของศาสตร์อื่นมาใช้ในวิชาสังคมศาสตร์ เช่นนี้เป็นนวัตกรรมของยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นการจุดประกายไฟสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ในยุคต่อๆมาอย่างแท้จริง
เมื่อหลายปีก่อน สมัยสอนอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ผมได้ติดการ์ตูนที่ Paul Samuelson ใช้ประกอบข้อเขียนของเขาครั้งหนึ่ง ไว้หน้าประตูห้องทำงาน เพื่อกระตุ้นให้ลูกศิษย์คิด ในรูปมีปู่นั่งอยู่กับหลานชายวัยรุ่น
หลานถามว่า "ปู่ครับ ปู่มีส่วนร่วมในการสร้าง GDP อย่างไร" (สร้างรายได้รวมของประเทศโดยมีนัยว่ามีส่วนร่วมช่วยชาติอย่างไร) ปู่ซึ่งคือตัวเขาเองตอบว่า
"I worried (ปู่กังวล)" นักศึกษาหลายคนขอให้อธิบายภาพนี้ แต่ผมขอให้เขาคิดเองว่า "การห่วงกังวล" ช่วยชาติได้อย่างไร
Paul Samuelson ได้จากไปแล้ว โดยทิ้งมรดกสำคัญไว้ให้ลูกหลานชาวโลก มรดกนั้นคือ เครื่องมือ และวิธีคิดใหม่ของเศรษฐศาสตร์ ในการตั้งโจทย์เกี่ยวกับความ "ห่วงกังวล" และการแก้ไขข้อกังวลเหล่านั้น

ทำไม "ทฤษฎีเคนส์" จึงล้มเหลว

ประวิทย์ เรืองศิริกูลชัย กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2552
ตั้งแต่สมัยของอดัม สมิธ แนวคิดของเศรษฐศาสตร์คลาสสิกได้บังเกิดขึ้น โดยมีพื้นฐานมาจากการแบ่งชนชั้นคล้ายศักดินา โดยปัจจัยการผลิตแบ่งออกเป็น ทุน ที่ดิน แรงงาน และผู้ประกอบการ ดังนั้น ชนชั้นของนายทุน และเจ้าที่ดิน จึงอยู่สูงกว่าชนชั้นแรงงานที่มีจำนวนมากกว่า โดยประเมินว่า "ทุน" มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในฐานะปัจจัยการผลิต ซึ่งมีอยู่น้อยคนที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตนี้ เขายังสนับสนุนการผลิตแบบแบ่งงานกันทำเฉพาะอย่าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้แรงงาน อย่างไรก็ดี มนุษย์ได้ถูกแปรสภาพให้ทำงานซ้ำๆ คล้ายกับเครื่องจักร นี่เป็นจุดเริ่มต้นของ "ทุนนิยม"
เมื่อมาถึงยุคของคาร์ล มาร์กซ์ ได้ปฏิเสธแนวคิดนี้ โดยคิดว่า "ทุน" นั้น ไม่ควรคิดว่าเป็นปัจจัยการผลิต เขารังเกียจชนชั้นนายทุนมาก ขณะที่เขาคิดว่า มีแต่ "แรงงาน" เท่านั้น ที่เป็นปัจจัยการผลิต บุคคลไม่สมควรมีทรัพย์สินเป็นส่วนตัว นี่คือ แนวคิดของ "เศรษฐกิจสังคมนิยม"
เมื่อมาถึงยุคของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ผู้ซึ่งเห็นใจประชาชนผู้ว่างงาน ซึ่งไร้ทั้งงาน และไร้ทั้งเงิน ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำสุดขีด ในช่วงทศวรรษที่ 1930 เขาเสนอให้รัฐบาลทำการกู้ยืมเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือประชาชน แนวคิดนี้ได้ช่วยลดแรงกดดันความขัดแย้งระหว่างชนชั้น โดยชนชั้นนายทุนก็สูญเสียทุนไปมาก จากการล่มสลายของตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ โดยผลตอบแทนของทุนหรือดอกเบี้ยก็ตกต่ำสุดๆ ขณะที่ชนชั้นแรงงานก็สูญเสียงาน...ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตของตนเองไปเช่นเดียวกัน ดังนั้น ทุกฝ่ายพยายามรักษาผลประโยชน์ของตนเอง ภายใต้สภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ เคนส์จึงเสนอแนวคิดให้ยืมเงินคนรุ่นลูกหลานมาใช้ก่อน เพื่อไม่ให้คนรุ่นนี้ต้องลำบาก และ ขัดแย้งกันรุนแรง โดยใช้รัฐบาลเป็นตัวกลางในการกู้ยืมผ่านพันธบัตรรัฐบาล
เมื่อรัฐบาลเข้ามาเป็นตัวกลางในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยไม่ต้องรอให้ตลาดปรับตัวเองในระยะยาวตามแนวคิดของเศรษฐศาสตร์คลาสสิก ก็ช่วยเหลือประชาชนไปได้มาก ตามประโยคดังก้องโลกของเคนส์ที่ว่า "In the long run, we are all dead." "หากรอให้ถึงระยะยาวเราก็ตายกันหมดแล้ว" แต่หากจะแปรประโยคนี้อย่างประชดประชัน ก็อาจหมายความถึง "ในระยะยาว พวกเรา (คนรุ่นเรา) ก็จะตายกันหมด ส่วนภาระหนี้สาธารณะนั้น ปล่อยให้ลูกหลานไปคิดกันเองในอนาคต"
ทฤษฎีของเคนส์ประสบความสำเร็จอย่างดี ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้นๆ เพื่อช่วยฟื้นเศรษฐกิจ และช่วยปัญหาการว่างงาน ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่ได้นำแนวคิดของเคนส์มาใช้ โดย นาย ทาคาฮาชิ ซึ่งดำรงตำแหน่ง รมว.คลังสมัยนั้น ได้รับฉายา "เคนส์แห่งญี่ปุ่น" นำแนวคิดนี้มาใช้ก่อนประเทศอเมริกาและอังกฤษ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1931 ก่อนที่ความคิดของเคนส์จะออกมาเป็นหนังสือในปี ค.ศ. 1936 และญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกเช่นกันที่ติด "กับดักเคนส์" จน มีหนี้สาธารณะสูงถึงกว่า 200% GDP
แนวคิดของเคนส์นั้น เป็นที่พอใจของรัฐบาลเกือบทั้งโลก เพราะทำให้รัฐสามารถดำเนินการโดยมีเป้าหมายแอบแฝงได้เสมอมา หากจะศึกษาถึงความสำเร็จและความล้มเหลวของทฤษฎีเคนส์ ผมคิดว่าเราควรศึกษาประเทศญี่ปุ่นเป็นต้นแบบ
ไม่เพียงแต่มุ่งหวังเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ และช่วยปัญหาการว่างงานเท่านั้น ในสมัยทศวรรษ 1930 รัฐบาลญี่ปุ่นได้กู้เงินมา เพื่อใช้ในการสร้างแสนยานุภาพทางการทหาร โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ อาณาจักรมหาเอเชียบูรพาอีกด้วย ในช่วง 15 ปีแห่งเศรษฐกิจในห้วงสงคราม มีการใช้เงินการคลังเพื่อการทหารสูงขึ้นเรื่อยๆ จนบางปีสัดส่วนนี้สูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณ เป้าหมายแฝง คือ ช่วยเหลือนายทุนบริษัทผลิตอาวุธ และอุปกรณ์เครื่องใช้เพื่อการสงคราม เมื่อ รมว.คลัง นายทาคาฮาชิได้เริ่มรู้ว่าหลงกลทหารเข้าแล้ว ก็คิดจะเริ่มปฏิเสธแนวทางกู้เงินมาเพื่อทหาร แต่เขาก็ถูกลอบสังหารอย่างรวดเร็ว
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้สร้างประเทศใหม่ ด้วยการทุ่มงบประมาณมหาศาล เพื่อสร้างสาธารณูปโภค จนอาจกล่าวได้ว่า มีระบบเครือข่ายรถไฟฟ้าที่ครอบคลุมและทันสมัยที่สุดในโลก หนี้สาธารณะได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างเร็ว โดยมีเป้าหมายแฝงเพื่อช่วยเหลือนายทุนรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่
เมื่อมาถึงยุคปัจจุบันที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ในการสร้างถนนที่ไม่มีรถวิ่ง สร้างสะพานที่ไม่มีรถข้าม ญี่ปุ่นก็หันมากู้เงินเพื่อส่งเสริมในด้านประกันสังคม (เบี้ยบำนาญ และประกันสุขภาพ) พร้อมๆ กับกู้เงินมาเพื่อจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรแทน เป้าหมายแฝงเพื่อช่วยเหลือบริษัทยา โรงพยาบาล บริษัทประกันชีวิต และบริษัทจัดการกองทุนรวมต่างๆ
แต่ไม่ว่ายุคใด...นักการเมืองล้วนมีเป้าหมายแฝงเหมือนกัน เพื่อหวังการรั่วไหลของเงินงบประมาณเข้าสู่กระเป๋าตนเอง หรือการทุจริตคอร์รัปชันนั่นเอง
ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเคยประสบความสำเร็จกับทฤษฎีของเคนส์มาเป็นอย่างดีอย่างน้อย 3 ครั้ง จากวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก (The Great Depression) วิกฤติความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และวิกฤติราคาน้ำมันในทศวรรษ 1970 แต่เพราะเหตุใดญี่ปุ่นจึงได้ล้มเหลว เมื่อประสบกับปัญหาฟองสบู่แตกตั้งแต่ปี 1991 ประเทศนี้ได้เข้าติด "กับดักเคนส์" โดยสร้างหนี้สาธารณะเพิ่มเฉลี่ย 8 เปอร์เซ็นต์จีดีพีต่อปี โดยเศรษฐกิจแทบไม่ได้เติบโตเลย ในช่วงเวลา 18 ปีที่ผ่านมา
ผมคิดว่าเหตุผลสำคัญ ก็คือ "โครงสร้างประชากร" นั่นเอง จากสภาพที่เป็นลักษณะ "พีระมิด" เหมือนประเทศกำลังพัฒนาทั่วๆ ไปในอดีต ปัจจุบันโครงสร้างประชากรได้เปลี่ยนมาเป็น "พีระมิดหัวกลับ" ซึ่งหมายถึง ประชากรผู้สูงอายุได้สูงขึ้นถึง 1 ใน 4 ของทั้งหมด และเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงส่งผลลบ 5 ประการต่อสัดส่วนหนี้สินสาธารณะต่อ GDP 1. เมื่อคนชรามากขึ้น รายได้มีแนวโน้มเติบโตลดลง หมายถึง จีดีพีที่เติบโตช้าลง 2. เมื่อคนชรามากขึ้น การเก็บภาษีทั้งทางตรงทางอ้อม ซึ่งคือรายได้ของรัฐบาลลดลง 3. เมื่อคนชรามากขึ้น ต้องมีการใช้จ่ายเพื่องานประกันสังคม อาทิเช่น เบี้ยบำนาญ และประกันสุขภาพที่สูงขึ้นมาก 4. เมื่อคนชรามากขึ้น รัฐบาลก็จะมีการลดหย่อนภาษีเพื่อการออมเงินบำนาญมากขึ้น ทำให้รายได้ภาษีลดลง 5. เมื่อคนชรามากขึ้น รัฐบาลต้องจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรมากขึ้นตาม ให้กับกองทุนบำนาญซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของรัฐบาล
หากเหตุผลนี้เป็นจริงแล้ว เราน่าจะคาดการณ์ได้ว่า ประเทศพัฒนาแล้วอย่างอเมริกา และยุโรป น่าจะประสบความล้มเหลวกับการใช้ทฤษฎีเคนส์เช่นกัน โดยมีสาเหตุหลัก คือ "โครงสร้างประชากร" ที่เป็นสังคมผู้สูงอายุนั่นเอง ประเทศไทยก็ไม่ควรประมาท เพราะหากเดินตามเส้นทางนี้ สัดส่วนหนี้สินสาธารณะต่อจีดีพี ที่คาดว่าจะสูงสุดที่ 60 เปอร์เซ็นต์นั้น อาจไม่ลดลงตามที่คาดกันไว้ ในทางตรงกันข้ามโอกาสที่จะวิ่งไม่หยุดเหมือนกับประเทศญี่ปุ่นนั้นน่าจะมีโอกาสสูงกว่า
ดังนั้น สมควรหรือไม่ที่จะหากรอบแนวคิดใหม่ เพื่อเป็นทางออกสำรองไว้สำหรับประเทศไทยของเรา "เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก" ซึ่งใช้หลักการยืมพลังศัตรู และรักษาสมดุลหยินหยาง อาจเป็นทางออกที่เหมาะสมครับ