โดย วรากรณ์ สามโกเศศ มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม 2552 หน้า 6
ไม่มีใครที่เคยเรียนเศรษฐศาสตร์มาบ้าง จะไม่รู้จักศาสตราจารย์ Paul Samuelson ปรมาจารย์ผู้มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อวิชาเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เขาได้จากไปในวัย 94 ปี โดยทิ้งมรดกสำคัญให้อนุชนรุ่นหลัง
ผู้คนจำนวนนับล้านตลอดหลายชั่วคนเรียนเศรษฐศาสตร์จากตำราเศรษฐศาสตร์ของเขา ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกใน ค.ศ.1948 จนถึงครั้งที่ 19 ในปัจจุบันรวมกว่า 4 ล้านเล่ม ฉบับแปลมีถึง 40 ภาษา (ภาษาไทย ผู้แปลคือ ศ.ดร.เดือน บุนนาค แปลในทศวรรษแรกของ พ.ศ.2500 ท่านอาจารย์เดือนเรียกผู้เขียนอย่างนับถือว่า “ท่านพอลล์” ) ตราบจนถึงปัจจุบันยังไม่มีตำราเศรษฐศาสตร์เล่มใดที่มีสถิติเช่นนี้
ตำราอมตะของเขาในการพิมพ์ครั้งแรกมีชื่อว่า “Economics : An Introductory Analysis” ถือว่าเป็นหนังสือเล่มแรกที่อธิบายหลักเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิม กับสิ่งที่เรียกว่า Keynesian Economics
ซึ่งแนวคิดนี้มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อความคิดของผู้คนทั่วโลก และแปรเปลี่ยนเป็นนโยบายเศรษฐกิจตลอดเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา
Paul Samuelson เกิดใน ค.ศ.1915 เมือง Gary รัฐอินเดียน่า สหรัฐอเมริกา ในครอบครัวยิวมีฐานะที่อพยพมาจากโปแลนด์ พ่อมีอาชีพเป็นเภสัชกร เขาเข้าเรียนปริญญาตรีด้านศิลปศาสตร์ที่ University of Chicago เมื่ออายุเพียง 16 ปี และจบปริญญาโท และเอกเศรษฐศาสตร์จาก Harvard จากนั้นมาเป็นอาจารย์ที่ MIT เมื่ออายุเพียง 25 ปี และสร้าง MIT ให้เป็นป้อมปราการเศรษฐศาสตร์สำคัญของโลก จนเกษียณอายุเมื่อตอนอายุ 70 ปี
ครอบครัวของเขาประกอบด้วยนักเศรษฐศาสตร์มีชื่อเสียงหลายคน น้องชายแท้ๆ และน้องสะใภ้ (Robert และ Anita Summers) เป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย
หลานชายของเขาจากครอบครัวนี้คือ Larry Summers (อดีตนักวิชาการธนาคารโลก อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัย Harvard และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโอบามา)
และพี่ชายของ Anita ก็คือ Kenneth Arrow นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชื่อดังอีกคนหนึ่ง
ลูกศิษย์ของ Paul Samuelson และนักเศรษฐศาสตร์ที่เขาชักชวนมาสอนที่ MIT ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์กันหลายคน เช่น Robert Solow / Paul Krugman / Joseph Stiglitz / Franco Modigliani / Robert C. Merton ฯลฯ
เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ( สาขานี้ “จอง”โดยนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันเกือบทุกปี ร้อยละ 60 ของผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขานี้ เป็นคนอเมริกัน) โดยรับรางวัลใน ค.ศ.1970 ส่วนหนึ่งมาจากผลงานในการเปลี่ยนแปลงวิชาเศรษฐศาสตร์เดิม ที่ใช้การตะหนักใคร่ครวญประเด็นเศรษฐศาสตร์มาเป็นเศรษฐศาสตร์ใหม่ที่สามารถใช้แก้ไขปัญหา และช่วยให้สามารถตอบคำถามเรื่องความเป็นสาเหตุ และผลที่เกิดขึ้น ตลอดจนวัดขนาดได้อย่างชัดเจนด้วยการใช้คณิตศาสตร์
มรดกสำคัญอันนี้ของ Paul Samuelson ก็คือการช่วยเปลี่ยนแปลงศาสตร์ที่ครั้งหนึ่งอยู่รวมกับวิชาการเมือง ( Politics ) ดังที่เรียก และเรียนกันมายาวนานในยุโรป และอเมริกาว่าวิชา Political Economy ( เศรษฐศาสตร์การเมือง ) มาเป็นเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ที่นำคณิตศาสตร์เข้ามาประยุกต์
เขามีบทบาทอย่างสำคัญยิ่งในการยกระดับความสามารถในการวิเคราะห์ตลอดจนยกระดับของวิธีการวิเคราะห์ของเศรษฐศาสตร์จนวิชานี้ กลายเป็นวิชาเชิงวิทยาศาสตร์ บางครั้งเรียกว่า Economic Science แทน Economics
เมื่อมีผู้วางรากฐานแล้วที่เหลือก็คือ ประวัติศาสตร์ของการต่อยอดของนักเศรษฐศาสตร์ต่อๆ มา จำนวนมากมาย เศรษฐศาสตร์ก้าวหน้าไปไกลตลอดเวลา จากการนำคณิตศาสตร์ สถิติ ทฤษฎีฟิสิกส์ ทฤษฎีจิตวิทยา ฯลฯ มาประยุกต์จนสามารถตอบคำถาม และให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นเพชรงามเม็ดหนึ่งของวงวิชาการ
(จะมัวหมองไปบ้าง ก็จากวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ที่ยังหานักเศรษฐศาสตร์ที่พยากรณ์วิกฤตไว้ชัดแจ้งไม่ได้)
ในบทบาทแรกของการเปลี่ยนแปลงเศรษฐศาสตร์นี้ หนังสือคลาสิคของเขาที่นำมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก และเป็นตำราเรียนในระดับปริญญาเอกมายาวนาน คือ The Foundation of Economic Analysis (1941) ได้ร่วมวางรากฐานของการเปลี่ยนแปลงวิชาเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิม มาเป็นแนวประยุกต์คณิตศาสตร์
มรดกที่สองของเขาคือ การเผยแพร่แนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ John Maynard Keynes (แนวคิดนี้เรียกว่า Keynesian Economics) ผ่านตำราเรียนยอดนิยมกว่า 4 ล้านเล่มดังกล่าวแล้ว แนวคิดนี้เสนอแนะว่าภาครัฐต้องแทรกแซงเศรษฐกิจด้วยรายจ่าย ภาษีอากร ฯลฯ จะปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาด้วยตัวมันเอง เช่น ปัญหาว่างงาน ปัญหาเงินเฟ้อ ฯลฯ ไม่ได้ ( การตกต่ำของเศรษฐกิจโลกในยุค 1930's คือ ผลพวงของความผิดพลาดที่ภาครัฐไม่ได้แทรกแซง )
เขานำหลักเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิมที่รู้จักกันในนามของ Neoclassical Economics มา "แต่งงาน" กับ Keynesian Economics ในตำราเรียนคลาสสิคนี้เป็นครั้งแรกของโลก อย่างชัดเจน และแจ่มแจ้ง จนกลายเป็นตำราเรียนหลักเศรษฐศาสตร์ของทั่วโลก
คนทั่วโลกกว่า 3 ชั่วคนเรียนตำราเล่มนี้จนสามารถเข้าใจ "ภาษา" เดียวกัน สื่อสารในเรื่องเศรษฐศาสตร์กันได้เข้าใจ สามารถร่วมมือกันแก้ไขปัญหาวิกฤตโลกได้ดังเช่นครั้งนี้ที่ใช้ Keynesian Economics แก้ไขปัญหากันในทุกประเทศ
มรดกชิ้นที่สามของเขาก็คือ การมีส่วนร่วมในการสร้างความเข้าใจเศรษฐศาสตร์ ด้วยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สำคัญมากมายในหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นการค้าระหว่างประเทศ เศรษฐศาสตร์สวัสดิการ เศรษฐศาสตร์สาธารณะ เศรษฐศาสตร์มหภาค ทฤษฎีผู้บริโภค ฯลฯ ผ่านบทความที่ตีพิมพ์จำนวน 388 บทความ หนังสือ 5 เล่ม และข้อเขียนในนิตยสาร และหนังสือพิมพ์อีกมากมาย
Paul Samuelson เป็นคนแรกที่นำทฤษฎี Thermodynamics จากฟิสิกส์มาประยุกต์กับเศรษฐศาสตร์ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก และต่อมาเป็นหนังสือของเขา การนำแนวคิดของศาสตร์อื่นมาใช้ในวิชาสังคมศาสตร์ เช่นนี้เป็นนวัตกรรมของยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นการจุดประกายไฟสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ในยุคต่อๆมาอย่างแท้จริง
เมื่อหลายปีก่อน สมัยสอนอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ผมได้ติดการ์ตูนที่ Paul Samuelson ใช้ประกอบข้อเขียนของเขาครั้งหนึ่ง ไว้หน้าประตูห้องทำงาน เพื่อกระตุ้นให้ลูกศิษย์คิด ในรูปมีปู่นั่งอยู่กับหลานชายวัยรุ่น
หลานถามว่า "ปู่ครับ ปู่มีส่วนร่วมในการสร้าง GDP อย่างไร" (สร้างรายได้รวมของประเทศโดยมีนัยว่ามีส่วนร่วมช่วยชาติอย่างไร) ปู่ซึ่งคือตัวเขาเองตอบว่า
"I worried (ปู่กังวล)" นักศึกษาหลายคนขอให้อธิบายภาพนี้ แต่ผมขอให้เขาคิดเองว่า "การห่วงกังวล" ช่วยชาติได้อย่างไร
Paul Samuelson ได้จากไปแล้ว โดยทิ้งมรดกสำคัญไว้ให้ลูกหลานชาวโลก มรดกนั้นคือ เครื่องมือ และวิธีคิดใหม่ของเศรษฐศาสตร์ ในการตั้งโจทย์เกี่ยวกับความ "ห่วงกังวล" และการแก้ไขข้อกังวลเหล่านั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น