วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ซื้อรถส่วนตัว vs. นั่งแท็กซี่

ซื้อรถส่วนตัว vs. นั่งแท็กซี่

นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 04 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เมื่อเร็วๆ นี้ มีผู้ถามความเห็นผมว่า เธอควรจะซื้อรถส่วนตัวมาขับ หรือว่าควรจะนั่งแท็กซี่ไปทำงานทุกวันต่อไปดี

หลังจากได้มีโอกาสขบคิด เพื่อหาคำตอบของคำถามนี้ ผมก็ได้ค้นพบด้วยว่า ปัญหาในชีวิตประจำวันที่เราได้ยินกันอยู่บ่อยๆ อย่างเช่นคำถามนี้ แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์หลายอย่างสามารถนำมาช่วยได้เยอะมาก

อย่างแรก เวลาคุณจะคิดต้นทุนของการเป็นเจ้าของรถส่วนตัว คุณต้องไม่รวมราคารถยนต์เข้าไปทั้งคัน แต่ต้องนับเฉพาะค่าเสื่อมราคาในช่วงที่ใช้งานเท่านั้น เธอบอกว่า เธอกลัวการซ่อมรถยนต์มาก เธอจึงวางแผนจะซื้อรถยนต์มือหนึ่ง เพื่อใช้งานแค่ห้าปีแล้วเปลี่ยนคันใหม่เลย เช่นนี้ต้นทุนการใช้รถยนต์ห้าปีของเธอจึงเท่ากับราคารถคันใหม่ทั้งคันหักด้วยราคาขายต่อเมื่อครบห้าปี (ประเมินจากตลาดรถมือสอง) แล้วบวกด้วยค่าน้ำมันและค่าบำรุงรักษาที่ประมาณได้ตลอดห้าปีเท่านั้น ไม่ใช่นับราคารถทั้งคัน

หลักคิดแบบนี้ตรงกับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ข้อหนึ่งที่ว่า เวลาเปรียบเทียบทางเลือก ต้นทุนที่เราสนใจ คือ ต้นทุนจม (Sunk cost) ของทางเลือกนั้นเท่านั้น เพราะว่าต้นทุนจมเป็นต้นทุนที่จะเรียกคืนกลับมาไม่ได้อีก หลังจากที่ได้ตัดสินใจเลือกทางเลือกนั้นไปแล้ว มันจึงเป็นต้นทุนที่เราต้องสนใจ รถยนต์ที่ซื้อไปแล้วยังสามารถเปลี่ยนใจขายต่อได้เสมอ ดังนั้น ต้นทุนจมจึงได้แก่ค่าเสื่อมราคาของรถยนต์เท่านั้น เพราะเป็นส่วนที่เรียกคืนกลับมาไม่ได้ ไม่ใช่ราคาของรถทั้งคัน

ในทางตรงกันข้าม คนเราไม่ควรนำต้นทุนจมของทางเลือกใดๆ ที่เราได้ตัดสินใจไปแล้ว กลับมาคิดอีก เพราะเรียกกลับคืนมาไม่ได้แล้ว เวลาที่คุณหลวมตัวซื้อตั๋วเข้าไปดูหนังเรื่องหนึ่งที่ไม่สนุกเอาเสียเลย แม้ว่าค่าตั๋วที่จ่ายไปจะแพงมากในความรู้สึกของคุณ แต่ทันทีที่คุณรู้ตัวว่า หนังเรื่องนี้ไม่มีค่าสำหรับคุณที่จะทนนั่งดูต่อไป คุณก็สามารถเดินออกโรงหนังได้เลยโดยไม่ต้องเสียดายค่าตั๋ว เพราะค่าตั๋วกลายเป็นต้นทุนจมตั้งแต่ตอนที่คุณจ่ายเงินออกไปแล้ว

กลับมาเรื่องรถยนต์กันต่อ เมื่อได้ต้นทุนรวมของการใช้รถยนต์ทั้งห้าปีมาแล้ว ก็นำไปหารด้วย จำนวนวันที่คิดว่าจะเดินทางไปทำงานตลอดห้าปี จะได้เป็นต้นทุนเฉลี่ยในการใช้รถยนต์ต่อวัน แล้วนำค่านี้ไปเปรียบเทียบกับค่าแท็กซี่ที่จ่ายอยู่ในปัจจุบันแต่ละวันดู

ปรากฏว่าในกรณีของเธอนั้น ต้นทุนของการใช้รถยนต์ส่วนตัวต่อวันแพงกว่าค่าแท็กซี่ที่จ่ายอยู่ค่อนข้างมาก ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะระยะทางจากบ้านไปที่ทำงานของเธอไม่ได้ไกลมากนัก อีกทั้งตำแหน่งงานของเธอก็แทบไม่ต้องไปไหนมาไหนเลยระหว่างวัน การใช้งานที่น้อยมากเกินไปทำให้ค่าใช้จ่ายของการใช้รถยนต์ของเธอเมื่อคิดเป็นต่อวันแล้วแพงมาก นั่งแท็กซี่คุ้มกว่าเห็นๆ

ตรงนี้ทำให้นึกถึงหลักเศรษฐศาสตร์อีกข้อหนึ่งที่บอกว่า เวลาตัดสินใจเปรียบเทียบทางเลือก ต้นทุนที่ต้องเปรียบเทียบ คือ ต้นทุนส่วนเพิ่ม (Marginal Cost) ทั้งหมด ที่เกิดขึ้นจากการเลือกทางเลือกนั้น ไม่ใช่ต้นทุนเฉลี่ย (Average Cost)

การตัดสินใจซื้อรถส่วนตัว มีต้นทุนส่วนเพิ่ม คือ ค่าเสื่อมของรถยนต์ทั้งคันเสมอ ไม่ว่าคุณจะใช้รถมากหรือน้อยก็ตาม ดังนั้น แม้ว่าโดยทั่วไปการใช้รถส่วนตัวมักจะมีต้นทุนเฉลี่ยต่ำกว่าการนั่งแท็กซี่ แต่เนื่องจากการใช้รถยนต์มีต้นทุนส่วนเพิ่ม คือ ค่าเสื่อมของรถทั้งคัน เธอจึงต้องแบกรับต้นทุนส่วนเพิ่มนี้ไปทั้งหมด ตั้งแต่วันแรกที่เธอใช้รถเลย การใช้รถยนต์จึงกลายเป็นทางเลือกที่ไม่คุ้มสำหรับเธอ ทั้งที่จริงๆ แล้วต้นทุนเฉลี่ยของการใช้รถยนต์จะต่ำกว่าการนั่งแท็กซี่ก็ตาม

เหตุผลเดียวที่ยังพอจะอ้างได้ว่า การใช้รถส่วนตัวเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับเธอ ก็คือ บ้านของเธออยู่ในซอยที่ค่อนข้างลึก ทำให้การใช้แท็กซี่ไม่ค่อยสะดวกเท่าที่ควร ดังนั้น สุดท้ายแล้วคงขึ้นอยู่กับว่า ความสะดวกที่เพิ่มขึ้นนี้จะมีค่าต่อเธอมากพอที่จะชดเชยต้นทุนการใช้รถยนต์ที่แพงกว่าได้บ้างหรือเปล่า อันนี้คงต้องแล้วแต่ความรู้สึกของเธอแล้วล่ะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น