กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 03 ธันวาคม พ.ศ. 2552
ปีใหม่นี้ ตลาดอนุพันธ์ หรือ TFEX อยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อจัดทำอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ย หรือที่เรียกว่า Interest rate based futures โดยน่าจะสอดคล้องกับการคาดการณ์เรื่องการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีหน้าเพื่อตอบรับกับการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจ
การพัฒนาอนุพันธ์ใหม่ๆ ของ TFEX เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาตลาดเงินตลาดทุนของประเทศไทย โดยผู้ลงทุนสถาบันจะมีเครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพต่อการทำงานได้มากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการและผู้ลงทุนทั่วไป จะมีทางเลือกในการบริหารจัดการและการซื้อขายของตนได้มากขึ้น เครื่องมือบริหารความเสี่ยงใน TFEX ส่วนใหญ่อ้างอิงกับดัชนีหรือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้แก่ SET50 Index Futures และ Options รวมทั้ง Single Stock Futures และน้องใหม่ไฟแรงอย่าง Gold Futures ซึ่งมาในจังหวะที่ทองคำกลายเป็นทรัพย์สินเพื่อการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงมากจึงเป็นที่ต้องการของคนทั่วโลก
อนุพันธ์ที่อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยที่จะจัดให้มีในปีหน้านี้ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงาน ก.ล.ต. กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และจากผู้ลงทุนสถาบัน ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันชีวิต และ กบข. โดยคาดหวังว่าจะเป็นเครื่องช่วยให้การบริหารเงินลงทุนในพันธบัตรและตราสารหนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนปัจจุบันตลาดตราสารหนี้มีขนาดใหญ่ถึง 5.8 ล้านล้านบาทซึ่งใหญ่กว่าตลาดหลักทรัพย์ที่มีมูลค่ารวมกันเพียง 5.5 ล้านล้านบาท
ฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับพันธบัตรรัฐบาล หรือ Government Bond Futures ก็คือ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยระยะยาวประเภทหนึ่ง (ในทางปฏิบัตินั้นมี Interest Rate Futures ที่อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นด้วย) ที่ผู้ซื้อและผู้ขายฟิวเจอร์สตกลงกันในวันนี้ว่า จะซื้อหรือจะขายพันธบัตรรัฐบาลที่ราคาเท่าไร มูลค่าเท่าใด โดยจะทำการส่งมอบกันในอนาคต เช่น 3 เดือนหรือ 6 เดือนข้างหน้าตามที่สัญญากำหนดไว้ และเมื่อถึงวันครบกำหนดจะต้องนำพันธบัตรที่มีมูลค่าและลักษณะตามที่ตกลงกันไว้มาส่งมอบหรือจะชำระเงินส่วนต่างแก่กันก็ได้ สำหรับรายละเอียดของ Bond Futures ที่จะนำมาซื้อขายในตลาดอนุพันธ์นั้นจะได้นำมาสรุปให้ทราบในครั้งต่อๆ ไป โดยในครั้งนี้จะขอนำข้อมูลโดยสังเขปจากตลาดอนุพันธ์ต่างประเทศมาให้ท่านผู้อ่านทราบ
ปริมาณธุรกรรมของอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าในตลาดอนุพันธ์ทั่วโลกหดตัวลดลงในช่วงปี 2551 ภายหลังวิกฤตในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีสาเหตุมาจากธุรกรรมในตลาดหลักของอเมริกาและยุโรป ธุรกรรมของอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยระยะยาว (รวมทั้งฟิวเจอร์สและออปชั่น) นั้นมีการกระจุกตัวอยู่ในตลาดอนุพันธ์ CME Group ในอเมริกา และ Eurex ในยุโรป เพียงสองตลาดนี้ มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันมากกว่า 90% เมื่อเทียบกับธุรกรรมของอนุพันธ์ดังกล่าวทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ตลาดอนุพันธ์อื่นๆ เช่น Johannesburg Stock Exchange (JSE) ในแอฟริกาใต้ และ Mexican Derivatives Exchange (MexDer) ในเม็กซิโก เริ่มมีอัตราการเติบโตของอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ในอัตราที่สูงเช่นกัน
ภูมิภาคเอเชีย ตลาดที่มีการซื้อขายอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยระยะยาวในปริมาณที่สูง ได้แก่ ญี่ปุ่น (JGB Futures) และออสเตรเลีย (Australia 3-year and 10-year Treasury Bond Futures) โดยอาจกล่าวได้ว่า เป็นเจ้าใหญ่ของภูมิภาคนี้ แต่หากมองในวงแคบลงเหลือเพียง ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลี จะพบว่า ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวที่ยังไม่มีการซื้อขาย Bond Futures โดยมาเลเซียซื้อขาย 3-year, 5-year and 10-year Malaysian Government Bond Futures สิงคโปร์ซื้อขาย 5-year Singapore Government Bond Futures, JGB Futures และ Mini JGB Futures ไต้หวันซื้อขาย 10-year Government Bond Futures เกาหลีซื้อขาย 3-year, 5-year and 10-year Government Bond Futures และฮ่องกงซื้อขาย 3-year Exchange Fund Note (ซึ่งเป็นตราสารที่ออกโดยรัฐบาลฮ่องกง)
เมื่อพิจารณาปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของตลาดเอเชียพบว่า ตลาดสิงคโปร์และมาเลเซียมีปริมาณซื้อขาย Bond Futures ค่อนข้างน้อย โดยตลาดมาเลเซียมีปริมาณซื้อขายอยู่ในระดับหลักสิบสัญญาต่อวัน ส่วนตลาดสิงคโปร์มีปริมาณซื้อขายเฉลี่ยวันละ 3,393 สัญญา โดยสัญญาที่มีการซื้อขายกันมากนั้น กลับเป็น JGB Futures ซึ่งอ้างอิงกับพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น ไม่ได้อ้างอิงกับพันธบัตรรัฐบาลสิงคโปร์ สำหรับตลาดฮ่องกงนั้น Exchange Fund Note ก็แทบไม่มีการซื้อขายเลย ขณะที่ตลาดไต้หวันมีการซื้อขายเฉลี่ยวันละ 1,925 สัญญา ส่วนตลาดเกาหลีมีปริมาณการซื้อขายรวมของ Bond Futures อยู่ที่ 60,127 สัญญา โดย 99% เป็นการซื้อขายใน 3-year Government Bond Futures
การที่ปริมาณธุรกรรมการซื้อขายฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับพันธบัตรหรืออัตราดอกเบี้ยระยะยาวของตลาดในเอเชียเติบโตน้อยกว่าตลาดในยุโรปและสหรัฐอเมริกานั้น อาจมาจากหลายสาเหตุ แต่เหตุผลหนึ่งที่สำคัญก็คือ ตลาดตราสารหนี้ในเอเชียนั้นยังไม่มีการพัฒนาไปมากเท่ายุโรป ซึ่งเราคงต้องยอมรับว่า ตลาดอนุพันธ์หลายๆ แห่งในเอเชีย รวมถึงไทยด้วยนั้น มีการพึ่งพาเงินกู้จากสถาบันการเงินเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นแล้ว เรายังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีพอ ทั้งในเรื่องของระบบการประมูลพันธบัตร และ Benchmark อ้างอิงที่น่าเชื่อถือ ซึ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่จำเป็นจะต้องพัฒนาต่อไป
นอกจากนี้ ผู้ลงทุนที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ เป็นผู้ลงทุนสถาบัน ซึ่งมีมุมมองไปในทางเดียวกัน ขณะที่ผู้ลงทุนรายย่อยไม่สนใจที่จะเข้ามาซื้อขาย เพราะตราสารหนี้มีความซับซ้อน ซึ่งการที่ตลาดของสินค้าอ้างอิงดังกล่าว ยังมีระดับการพัฒนาไม่มากนักและมีสภาพคล่องค่อนข้างต่ำ ทำให้การซื้อขายอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับสินค้าเหล่านี้ประสบความสำเร็จได้ค่อนข้างยาก สินค้าประเภทดังกล่าวจัดว่า เป็นสินค้าที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาตลาดทุน และนั่นคือเหตุผลหลักที่ TFEX จะจัดให้มีการซื้อขายสินค้าประเภทนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น