วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4205 ประชาชาติธุรกิจ
58 ปี...เป๊ปซี่ดีที่สุด
เพิ่งครบรอบ 58 ปี การก่อตั้งบริษัทไปเมื่อ วันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา สำหรับบริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) และอีกเพียง 2 ปี ก็จะมีงานฉลองใหญ่ครบรอบ 60 ปี
เสริมสุข เป็นหนึ่งในบริษัทของคนไทยที่เหลืออยู่ไม่กี่แห่งที่มีประวัติมายาวนานถึง 6 ทศวรรษ และเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ก่อตั้งที่แม้ว่าจะเป็น บริษัทเล็ก ๆ แต่สามารถแจ้งเกิด "เป๊ปซี่" เครื่องดื่มน้ำอัดลม ยักษ์ใหญ่ระดับโลกในเมืองไทยได้สำเร็จ ทั้งยังเป็นการจุดประกายที่ทำให้อุตสาหกรรมน้ำอัดลม หยั่งรากลงในเมืองไทยด้วย
แต่การย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 59 กลับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของเสริมสุข เมื่อบริษัท สตราทีจิค เบฟเวอร์เรจเจส (ประเทศไทย) จำกัด ถือฤกษ์ดีในช่วงหลังวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประกาศเจตนาว่าจะทำคำเสนอ ซื้อหุ้นทั้งหมดของเสริมสุข
ช็อกวงการไปตาม ๆ กัน และยิ่งช็อกมากขึ้นไปอีก เมื่อทราบว่า สตราทีจิคฯหาใช่คนอื่นคนไกลที่ไหน แต่เป็นบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ ประกอบด้วย บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด และบริษัท แมเนจเม้นท์ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทที่มี เป๊ปซี่-โคล่า อินเตอร์ฯ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
เท่ากับว่าเป๊ปซี่-โคล่าจะเข้ามาครอบครองกิจการของเสริมสุขแบบเบ็ดเสร็จ
ด้วยเหตุผลว่าเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันระยะยาว และสร้างการเติบโตที่มั่นคงอย่างต่อเนื่องของเสริมสุข
ย้อนกลับไปสักเมื่อ 60 ปีที่แล้ว คนไทยยังไม่รู้จักและเคยลิ้มลองรสน้ำอัดลมชื่อ "เป๊ปซี่" มาก่อน จนกระทั่ง "ยม ตัณฑเศรษฐี" กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ ทราบว่าที่สิงคโปร์มีบริษัทจัดจำหน่ายน้ำอัดลมในลักษณะแฟรนไชส์ บ๊อตเทิลเลอร์ เกิดขึ้น และน่าจะเป็นธุรกิจที่มีอนาคต จึงได้ติดต่อกับเป๊ปซี่-โคล่า คัมปะนี ที่นิวยอร์ก เพื่อขอเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่าย
การเจรจาราบรื่นและสำเร็จลุล่วง "ยม" จึงได้ชักชวน คนสนิทชิดเชื้อ ได้แก่ ม.ร.ว.บุญรัน พินิจชนคดี คุณหญิงอุดมศักดิ์ ศรียานนท์ เจ้าสัวตันจิงเก่ง คุณวงศ์ กัลยาณคุปต์ เจ้าสัวโล่เต็กชวน บุลสุข และ พลเรือเอกจรูญ รัตนกุลเสรีเริงฤทธิ์ มาลงทุนตั้งบริษัท
โดยใช้ชื่อว่า "เสริมสุข" เนื่องจากคุณยม และคุณพระพินิจชนคดี ปรึกษากันว่า "เราทำเครื่องดื่มที่คนดื่มแล้วมีความสุข ถ้าอย่างนั้นเรียกว่า บริษัทเสริมสุขก็แล้วกัน"
"เสริมสุข" เกิดขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 8 ล้านบาท ตั้งโรงงานขนาดย่อมแห่งแรกขึ้นบนเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ บนถนนสีลม (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของอาคารสีลม คอมเพล็กซ์) ผลิตเป๊ปซี่ขวดแรกออกสู่ตลาดครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2496 และมีกำลังการผลิตเพียงวันละ 20,000 ขวด
การเปิดตลาดในช่วงแรก นอกจากรสชาติที่เป็นต่อแล้ว การรุกเข้าตีตลาดด้วยขวดขนาด 10 ออนซ์ ตั้งราคาแค่บาทเดียว พร้อมสโลแกน "ดีมาก มากดี" (Quality Quantity) ทำให้ได้รับความนิยมเหนือกว่าคู่แข่งที่ขายอยู่ก่อน ในขวดขนาด 6.5 ออนซ์ ราคา 1.50 บาท ทำให้คู่แข่งต้องลดราคาลงมาสู้ในราคา 1 บาทเท่ากัน
จากนโยบายที่ "ทรง บุลสุข" (ลูกชายเจ้าสัวชวน) กรรมการผู้จัดการ ที่เข้ามารับช่วงต่อจาก "ยม" ที่ว่า "สินค้าถึงตัว โฆษณาถึงใจ" เสริมสุขจึงให้ความสำคัญ กับการโฆษณามาตั้งแต่ไหนแต่ไร
นอกจากสินค้าที่มีคุณภาพดีและการบริหารที่ยอดเยี่ยมแล้ว ส่วนหนึ่งของความสำเร็จเกิดจากโฆษณาของเป๊ปซี่ ตั้งแต่ยุคแรก "เสริมสุข" เน้นการโฆษณาทั้งทีวีและวิทยุ ผ่านเพลง "เป๊ปซี่ดีที่สุด" ที่แปลมาจากเพลง Pepsi-Cola Hit the Spot ร้องโดยนักร้องชื่อดังในสมัยนั้น เพ็ญศรี พุ่มชูศรี
ส่วนทางทีวี เสริมสุขมีการโฆษณาทางทีวีทั้งช่อง 4 บางขุนพรหม รวมถึง ททบ.5 ที่เพิ่งเปิดใหม่ ควบคู่กันนี้ เสริมสุขยังคิดกลยุทธ์การใช้สื่อที่ปัจจุบันเรียกว่า solus spot ด้วยการนำหนังจากอังกฤษเข้ามาฉาย แล้วใช้โฆษณาเป๊ปซี่ออกอากาศก่อนจะเริ่มฉายหนัง เพื่อช่วยเสริมเพลงเป๊ปซี่ดีที่สุด ให้อยู่ในใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอีกทางหนึ่ง
หรือแม้แต่โรงหนัง ก็มีสปอตโฆษณาเครื่องดื่มตัวเก่งนี้ไปขึ้นนำก่อนฉายทุกเรื่อง และเสริมสุขก็นำเป๊ปซี่ไปขายตามโรงหนังต่าง ๆ ด้วย แม้แต่บนเวทีลิเกก็มีแบนเนอร์ สโลแกน "เป๊ปซี่ดีที่สุด" ไปติดอยู่
จึงไม่แปลกใจที่ "เป๊ปซี่ดีที่สุด" จะกลายเป็นคำพูดที่ติดปากคนทุกเพศทุกวัยอย่างรวดเร็ว แม้ช่วงปี 2523 ทางการจะมีกฎห้ามการใช้โฆษณาเปรียบเทียบ และเสริมสุขต้องระงับสโลแกนนั้นนับตั้งแต่นั้นมา แต่ "เป๊ปซี่ดีที่สุด"ก็ยังเป็นอมตะมาจนถึงทุกวันนี้
ถึงวันนี้แม้เสริมสุขจะจัดจำหน่ายเครื่องดื่มครบทุกประเภท ทั้งเครื่องดื่มผสมคาร์บอเนต และน็อนคาร์บอเนต รวมถึงน้ำดื่ม แต่ยอดขายของเป๊ปซี่ก็ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่เคยตก ตามที่ให้คำมั่นไว้กับเป๊ปซี่ อินเตอร์ฯ
วันนี้ "เสริมสุข" ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มครบวงจรบริษัทแรกในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น