คอลัมน์ เศรษฐกิจต้องรู้ โดย ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4193
เศรษฐกิจไทยในช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมานั้น เป็นการขยายตัวโดยภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก กล่าวคือจีดีพีโดยรวมขยายตัวเฉลี่ย 5.8% ต่อปี ทั้งนี้ไม่รวมเงินเฟ้อ และหากรวมเงินเฟ้อก็จะขยายตัวประมาณ 10.4% ต่อปี ที่สำคัญคือการขยายตัวส่วนใหญ่ขับเคลื่อนด้วยภาคอุตสาหกรรมซึ่งขยายตัว 7.8% ต่อปี ในขณะที่ภาคเกษตรนั้นขยายตัวเพียง 3.1% ต่อปี ผลคือสัดส่วนของอุตสาหกรรมเพิ่มจาก 25% ของจีดีพีในปี 1980 มาเป็น 40% ในปี 2008 ในขณะที่สัดส่วนของภาคเกษตรหดตัวลงจาก 19% ของจีดีพี ในปี 1980 เหลือเพียง 9% ในปี 2008
รูปที่ 1 ผลผลิตมวลรวม (จีดีพี) พันล้านบาท
การเลือกปีเริ่มต้นที่ปี 1980 นั้นเพราะเป็นปีที่ประเทศไทยเปิดมาบตาพุดเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย โดยเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมเพราะมีท่าเรือ ตั้งอยู่ใกล้กรุงเทพฯ และมีแหล่งพลังงาน (ก๊าซธรรมชาติ) ราคาถูก ผลที่ตามมาคือมาบตาพุดเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นหากไม่สามารถแก้ไขปัญหามาบตาพุดให้ลุล่วง ตลอดจนไม่มีแนวนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ชัดเจนก็จะเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าเกณฑ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต
ทำไมจึงคิดว่ามาบตาพุดมีความสำคัญมาก ตรงนี้ยากจะหาข้อมูลรายละเอียดมายืนยันได้ แต่ข้อมูลในระดับจังหวัดก็จะพอนำมาสรุปในทางอ้อมได้ว่า มาบตาพุดมีความสำคัญอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรม (ซึ่งตรงนี้ผมรวมภาคเหมืองแร่และพลังงานเข้าไปด้วย) โดยผมเปรียบเทียบจากพัฒนาการในช่วง 1995-2008 ของจังหวัดที่มีภาคอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุด 5 จังหวัด (เหตุที่ถอยหลังไปเพียง 1995 ก็เพราะมีการปรับปรุงข้อมูลและย้อนหลังเพียงปี 1995)
รูปที่ 2 สัดส่วนผลผลิตภาคอุตฯของจังหวัดสำคัญต่อผลผลิตภาคอุตฯทั้งประเทศ
จะเห็นได้ว่าเมื่อปี 1995 กรุงเทพฯมีความสำคัญมากที่สุด เพราะผลิตสินค้าอุตสาหกรรมในสัดส่วนสูงถึง 22.3% ของประเทศ ในขณะที่จังหวัดอื่น ๆ มีสัดส่วนเพียง 5.7-9.0% แต่ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมาจังหวัดที่รุดหน้าที่สุดในการขยายตัวของอุตสาหกรรมคือระยอง (ซึ่งเป็นที่ตั้งของมาบตาพุด) โดยในปี 2008 นั้น ระยองผลิตสินค้าอุตสาหกรรมในสัดส่วนสูงถึง 13.8% ของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมทั้งประเทศเท่ากับกรุงเทพฯ และน่าจะนำหน้ากรุงเทพฯได้หากไม่สะดุดปัญหาที่มาบตาพุด สำหรับจังหวัดหลักอื่น ๆ นั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก เว้นแต่อยุธยาซึ่งเพิ่มสัดส่วนจาก 5.7% เป็น 10.2%
บางคนอาจคิดว่าแม้จังหวัดที่กล่าวถึงนี้มีความสำคัญในเชิงของภาคอุตสาหกรรม แต่ก็อาจจะไม่ได้มีขนาดใหญ่มากนัก เทียบกับจังหวัดที่เรารู้สึกว่า "ใหญ่" และสำคัญ เช่น เชียงใหม่และนครราชสีมา เป็นต้น แต่หากวัดโดยใช้ขนาดของผลผลิตมวลรวมแล้ว ผมเชื่อว่าจะผิดคาดของคนหลายคน ผมคิดว่าทุกคนจะทายถูกว่ากรุงเทพฯมีผลผลิตมวลรวมสูงที่สุด (รูปที่ 3) แต่ที่สำคัญคือ สัดส่วนของผลผลิตมวลรวมของกรุงเทพฯต่อทั้งประเทศนั้นปรับลดลงต่อเนื่องจาก 35% ในปี 1995 เหลือเพียง 24% ในปี 2008 โดยผลผลิตของกรุงเทพฯนั้นขยายตัวเฉลี่ยเพียง 3.7% ต่อปีเท่านั้น (รวมเงินเฟ้อด้วย) ซึ่งในรูปนี้ผมเปรียบเทียบกับจังหวัดภูเก็ตและสุโขทัยซึ่งมีอัตราการขยายตัวสูงกว่า แต่ผลผลิตของจังหวัดทั้งสองมีสัดส่วนต่ำเพียง 0.7% และ 0.4% ตามลำดับ คำถามคือ ทำไมผมจึงนำเอา 2 จังหวัดนี้มาเปรียบเทียบ คำตอบคือ จังหวัดภูเก็ตได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่โดดเด่นที่สุดในด้านการท่องเที่ยว ในขณะที่สุโขทัยนั้นพึ่งพาการเกษตรมากที่สุด เพื่อสะท้อนว่า หากจะคิดเร่งการพัฒนาภาคการท่องเที่ยวและการเกษตรมาทดแทนภาคอุตสาหกรรม โดยการเร่งพัฒนาจังหวัดที่เน้นการท่องเที่ยวและการเกษตรนั้น จะเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก เพราะ 2 จังหวัดที่กล่าวถึงนั้นมีสัดส่วนต่อจีดีพีของประเทศรวมกันเพียง 1.2%
รูปที่ 3 สัดส่วนของผลผลิตมวลรวมจังหวัดต่อผลผลิตมวลรวมทั้งประเทศ
ในขณะเดียวกันจังหวัดที่เน้นภาคอุตสาหกรรม 4 จังหวัดที่กล่าวถึงข้างต้น คือ ระยอง สมุทรปราการ ชลบุรี และอยุธยานั้น รวมกันมีผลผลิตเท่ากับผลผลิตมวลรวมของกรุงเทพฯ คือประมาณ 24% ของจีดีพีของประเทศไทย และเป็นจังหวัดที่การขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับสูง
7.5-13% ในช่วง 1995-2008
รูปที่ 4 สัดส่วนของผลผลิตมวลรวมจังหวัดต่อผลผลิตมวลรวมทั้งประเทศ
บางคนอาจชี้ว่า แม้ 4 จังหวัดข้างต้นจะมีความสำคัญด้านอุตสาหกรรมและมีสัดส่วนประมาณ 5-7% ของจีดีพีรวมของประเทศ แต่ก็มีจังหวัดอื่น ๆ ของไทยที่มิได้พึ่งพาภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก แต่สามารถกระจายภาคการผลิตไปหลายภาคการผลิต ดังที่กล่าวข้างต้นคนมักจะนึกถึงเชียงใหม่และนครราชสีมา เป็นต้น แต่เมื่อไล่ลำดับขนาดของจังหวัดโดยวัดจากมูลค่าผลผลิตของจังหวัดแล้ว หลายคนจะแปลกใจและทายไม่ถูกว่า จังหวัดที่ใหญ่รองลงมาจาก กทม. (ผลผลิตมวลรวมเท่ากับ 2.3 ล้านล้านบาทในปี 2008) คือ สมุทรปราการ (642,000 ล้านบาท) และระยอง (597,000 ล้านบาท) ต่อจากนั้นคือชลบุรี อยุธยา สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี สงขลา แล้วจึงมาถึงนครราชสีมาที่ลำดับ 10 ส่วนเชียงใหม่นั้นอยู่ที่ลำดับ 16 และมีผลผลิตมวลรวมเพียง 127,000 ล้านบาท หรือเพียง 21% ของผลผลิตมวลรวมของระยอง และหากบวกผลผลิตมวลรวมของ 5 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพฯที่พึ่งพาอุตสาหกรรมเป็นหลักดังกล่าวข้างต้น ก็จะพบว่าผลผลิตรวมกันเท่ากับ 2.5 ล้านล้านบาท สูงกว่า กทม.เสียอีก
ทั้งนี้หากรวม กทม.กับ 5 จังหวัดหลักดังกล่าวก็จะได้ผลผลิตมวลรวมเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจีดีพีของประเทศไทยครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น