วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ผู้นำกับบรรษัทภิบาล

รายงานโดย :ยุทธ วรฉัตรธาร:
วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552
คำว่า “ผู้นำ” โดยความเข้าใจทั่วไปหมายถึง ผู้ที่สามารถพูดหรือกระทำให้ผู้อื่นทำตาม คนทั่วไปจึงมักคาดหวังคุณสมบัติของผู้นำว่าจะต้องเป็นคนเก่งและคนดี แล้วใครล่ะคือผู้นำ?
เป็นที่เข้าใจว่าผู้นำองค์กรคือ ผู้บริหารระดับสูงสุด (Chief Executive Officer) ซึ่งอาจรวมถึงผู้บริหารระดับรองลงมา และประธานกรรมการ ส่วนจะมีคุณสมบัติทั้งดีและเก่งหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
หลักการบรรษัทภิบาลที่ดีที่แนะนำโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พูดเรื่องผู้นำอย่างน้อย 3 ประเด็นที่สำคัญ ดังนี้
1.ในหมวดที่เกี่ยวกับ “ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ” ระบุไว้ว่า คณะกรรมการควรมีภาวะผู้นำ วิสัยทัศน์ และมี ความเป็นอิสระในการตัดสินใจ เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้ถือหุ้นโดยรวม แสดงว่า “กรรมการ” ทุกคนคือผู้นำด้วย
2.การสรรหากรรมการและผู้บริหารระดับสูงสุดควรมีกระบวนการสรรหาที่โปร่งใสเพื่อให้ได้ผู้นำที่มีคุณสมบัติทั้งเป็นคนดี มีความสามารถ
3.คณะกรรมการควรส่งเสริมให้มีการจัดทำจรรยาบรรณทางธุรกิจเป็นลายลักษณ์ เพื่อให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานยึดถือเป็นแนวทางบริหารธุรกิจ และปฏิบัติงานอย่างมีจริยธรรม มีความระมัดระวังรอบคอบ และมีประสิทธิภาพ
ที่ต้องเสนอแนะหลักการและแนวปฏิบัติข้างต้น ก็เพราะธุรกิจจะเติบโตยั่งยืนหรือล้มเหลว ผู้ถือหุ้นจะได้รับผลตอบแทนที่ดีหรือหมดตัวก็อยู่ที่ฝีมือการกำกับดูแลและการจัดการของ ผู้นำเหล่านี้ เพราะฉะนั้นผู้ถือหุ้นต้องให้ความสำคัญโดยการเลือกผู้นำที่มีทั้งความสามารถและมีคุณธรรม เพราะในตลาดทุนมีการแสวงหาประโยชน์ด้วยการเอารัดเอาเปรียบ ทุจริต คดโกงผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนด้วยกันอย่างไร้จริยธรรมและศีลธรรม จอห์น เอ็ม. ฮันต์สแมน (John M. Huntsman) ผู้เขียน หนังสือ Winners Never Cheat (คุณภัทรพงศ์ และคุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย นำไปแปลและเรียบเรียงโดยใช้ชื่อ “รวยได้... ไม่ต้องโกง”) ให้ความเห็นเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมการลงทุนในตลาดทุนไว้ว่า
“ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ความโลภของนักลงทุนกลายมาเป็นความหมกมุ่นอำนาจและอิทธิพล บริษัทมหาชนถูกกดดันให้ ต้องสร้างผลกำไรแต่ละไตรมาสให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเกรงว่าผู้ถือหุ้นจะกบฏ รายงานฐานะการเงินที่ไม่โปร่งใสเป็นสื่อล่อใจ ยามที่ตลาดมุ่งจะลงโทษพวกที่มีผลประกอบการไม่ดี และคนที่เปิดเผยตัวเลขบัญชีจริงๆ พวกที่วอลสตรีตให้สัญญาณออกมาอย่างสม่ำเสมอว่า พวกเขายอมรับคำโกหกที่ว่าบริษัทมีกำไร มาก”
เพื่อเป็นการเตือนให้นักลงทุนต้องรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนและเลือกคบบริษัทที่มีบรรษัทภิบาลที่ดี มีผู้นำที่มีความสามารถและมีคุณธรรม ขอนำเสนอเรื่องราวพฤติกรรมผู้นำในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาให้เห็นเป็นตัวอย่างสัก 4-5 เรื่อง
เรื่องแรกสั้นๆ ตรงๆ เพราะผมได้รับข่าวสั้นโดยไม่มี รายละเอียดประกอบ เรื่องมีว่า คอนราด แบล็ก เจ้าพ่อหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ ถูกศาลสหรัฐพิพากษาจำคุก 6 ปี โทษฐาน โกงผู้ถือหุ้น
เรื่องที่สอง บริษัท Federal National Mortgage Association (Fannie Mae) ยินยอมจ่ายเงิน 350 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท) ให้แก่ผู้ถือหุ้นที่ถูกโกงกรณีทุจริตของบริษัทโดยการตกแต่งงบการเงินในช่วงปีพ.ศ. 2541-2547 เพื่อยุติคดี โดยก.ล.ต.สหรัฐจะส่งมอบเช็คมูลค่าดังกล่าวให้ผู้ถือหุ้นที่ได้รับความเสียหาย กรณีนี้ถือว่าเป็นการจ่ายค่าชดเชยสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการเปรียบเทียบปรับมา
เรื่องที่สาม วันที่ 15 ต.ค. 2550 ก.ล.ต.สหรัฐยื่นกล่าวโทษบริษัท Nortel Network Corporation บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์สื่อสาร เนื่องจากมีการตกแต่งงบการเงินในช่วงปีพ.ศ. 2543-2546 เพื่อให้ตัวเลขผลประกอบการเป็นไปตามประมาณการ Nortel ยอมยุติคดีด้วยการยอมรับข้อตกลงว่าจะไม่กระทำผิดกฎหมายหลักทรัพย์อีก และยินยอมจ่ายค่าปรับจำนวน 35 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,190 ล้านบาท) เพื่อนำไปชดเชยผู้ถือหุ้นที่ได้รับความเสียหายผ่าน Fair Fund
เรื่องที่สี่ ตกแต่งบัญชีอีกแล้ว แต่เรื่องนี้มีความผิดที่น่าสนใจหลายประเด็น เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2550 ก.ล.ต.สหรัฐยื่นฟ้อง David H. Brooks อดีต CEO ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้งบริษัท DHB Industries ซึ่งเป็นผู้ขายอาวุธและเสื้อเกราะให้แก่กองทัพสหรัฐ ส่วนความผิดจะเป็นเรื่องอะไรบ้างนั้น ขอนำมาเล่าต่อในตอนหน้า

ตอนที่แล้วปิดท้ายด้วยกรณีที่อดีต CEO ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้งบริษัท DHB Industries ซึ่งเป็นผู้ขายอาวุธและเสื้อเกราะให้แก่กองทัพสหรัฐ ถูกก.ล.ต. สหรัฐยื่นฟ้อง ความผิดที่พบมีหลายเรื่องที่น่าสนใจดังนี้
1.ตบแต่งงบการเงินโดยสร้างตัวเลขผลกำไรด้วยการลงบัญชีมูลค่าสินค้าคงเหลือล้าสมัยสูงเกินความจริง โดยมีอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านปฏิบัติการ เป็นผู้ให้ความร่วมมือช่วยดำเนินการ
2.ยักย้ายถ่ายเทเงินออกจากบริษัทโดยการทำธุรกรรมไม่สุจริต
3.ใช้บัตรเครดิตและเช็คของบริษัทจ่ายเงินหลายล้านเหรียญเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว ซื้อรถหรูราคาแพง อัญมณี ศิลปะ อสังหาริมทรัพย์ พักร้อนสุดหรู รวมทั้งซื้อ IPOD มูลค่า 1.22 แสนเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4.10 ล้านบาท) แจกให้แก่แขกที่ไปร่วมงานปาร์ตี้ของลูกสาวในปี 2548 ที่ใช้เงินไปหลายล้านเหรียญ
4.ปี 2547 ใช้ข้อมูลภายในที่ยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ ขายหุ้นบริษัทในช่วงที่หุ้นมีราคาสูงสุดในรอบปี ได้เงินค่าขายไปถึง 186 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6,300 ล้านบาท อนิจจาเงินทั้งก้อนนี้ถูกก.ล.ต. ยึดกลับไปให้บริษัท
5.ยังไม่สะใจ ก.ล.ต.จะแถมให้อีก 1 ข้อหา โทษฐานขัดขวางการตรวจสอบและจะขอให้ศาลตัดสินปลดนาย Brook ออกจากกรรมการและพนักงานของบริษัทจดทะเบียน
ต้องเรียนท่านผู้อ่านว่า กรณีคล้ายคลึงกันแบบนี้มีเกิดขึ้นในเมืองไทยไม่น้อยกับผู้บริหารทั้งที่เป็นผู้ถือหุ้น และผู้บริหารที่เรียกตนเองว่ามืออาชีพ เช่น กรณีพาครอบครัว ญาติมิตร ไปเลี้ยงภัตตาคาร โรงแรมหรู ราคาแพง เป็นการเลี้ยงส่วนตัวไม่เกี่ยวกับธุรกิจบริษัท แต่กลับมาเบิกค่ารับรองจากบริษัท โดยอ้างว่าไปเลี้ยงรับรองลูกค้า และเป็นการเบิกตามจริงตามระเบียบบริษัท ไม่แน่ใจว่าตีความแบบศรีธนญชัยหรือเปล่าว่า เบิกตามจริงคือรับประทานจริง วัตถุประสงค์ไม่เกี่ยว นอกจากนี้ยังใช้อำนาจซื้อรถยนต์ไปให้ครอบครัวใช้ ทั้งที่รถประจำตำแหน่งก็มีให้อยู่แล้ว แถมด้วยการตีกอล์ฟฟรี (เพราะใช้เงินบริษัท) ทุกวันหยุด โอ๊ย...สารพัดเบิก โดยลืมไปว่ากำลังใช้เงินของผู้ถือหุ้นเป็นพันเป็นหมื่นคน ทั้งๆ ที่รายได้ของท่านทั้งหลายเหล่านี้ก็เดือนละหลายแสนหรือเหยียบล้านบาทอยู่แล้ว
เรื่องสุดท้ายที่แปลกประหลาดหน่อย นายจุงมงคู (Mr. Chung Mong Koo) ประธานกรรมการบริษัท Hyundai Motor ถูกศาลเกาหลีใต้พิพากษาจำคุก 3 ปี ในข้อหายักยอกเงินบริษัทมูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,400 ล้านบาท) เพื่อจ่ายให้หัวคะแนนที่ช่วยหาเสียงให้รัฐบาลและใช้จ่ายส่วนตัว ต่อมาศาลสูงสุดมีคำสั่งให้หยุดพักการลงโทษจำคุกไว้เป็นเวลา 5 ปี เพื่อให้นายจุงกลับไปทำงานให้ Hyundai เนื่องจาก Hyundai มียอดส่งออกถึงปีละ 7% ของบริษัทส่งออกทั้งหมดของประเทศ หากนายจุงติดอยู่ในคุก ธุรกิจของ Hyundai อาจหยุดชะงักและเศรษฐกิจเกาหลีใต้จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง หากภายใน 5 ปี นายจุงทำความดีโดยไม่ทำผิดอีก โทษจำคุกถือว่าพ้นโทษไป ดูแล้วคล้ายๆ รอลงอาญา แต่ไม่รู้ว่าถูกคุมความประพฤติด้วยหรือไม่ และไม่ทราบว่าถูกฟ้องคดีแพ่งให้ชดใช้ค่าเสียหายด้วยหรือไม่ แสดงว่านายจุงต้องเป็นยอดฝีมือจริงๆ ศาลจึงให้ความสำคัญนายจุงโดยยึดผลประโยชน์ประเทศชาติประกอบด้วย
ยังมีเรื่องราวประเภทคล้ายคลึงกันนี้ในทุกประเทศทั่วโลก เมืองไทยก็มิได้ยกเว้น กรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยและเป็นข่าว ส่วนใหญ่เป็นเรื่องแต่งบัญชี ปั่นหุ้น ใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้น เอาเปรียบผู้ถือหุ้นด้วยรูปแบบต่างๆ
อย่างไรก็ตามเรื่องทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงผลสำรวจของการทุจริตคดโกงในองค์กรที่ระบุว่า สาเหตุหลักประการหนึ่งที่ทำให้เกิดการทุจริตในองค์กร คือ ผู้นำทำตัวอย่างไม่ดี หรือที่คนไทยชอบพูดว่า “หัวไม่ส่าย หางไม่กระดิก”อย่างไรก็ตาม มีผู้นำทำเรื่องดีๆ เป็นตัวอย่างก็มีเยอะ แต่ไม่ค่อยได้ออกมาเป็นข่าว ท่านผู้อ่านท่านใดมีตัวอย่างดีๆ อาจส่งมาให้ช่วยเผยแพร่ก็ได้นะครับ จะได้มีตัวอย่างดีๆ ไว้ให้เป็นแบบอย่าง
การป้องกันไม่ให้บริษัทเกิดความเสียหายจากพฤติกรรมของผู้นำที่ไม่ดีตามหลักการบรรษัทภิบาลที่ดี ต้องถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้ถือหุ้น คณะกรรมการและผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น และคณะกรรมการต้องสรรหากรรมการที่มีความรู้ ความสามารถ และซื่อสัตย์สุจริต ส่วนคณะกรรมการก็มีหน้าที่สรรหาผู้บริหารที่มีความรู้ ความสามารถ และซื่อสัตย์สุจริตเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังต้องกำกับดูแลให้มีจรรยาบรรณธุรกิจเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติของทั้งกรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน จรรยาบรรณที่ดีจะมีเนื้อหาสะท้อนให้เห็นถึงคุณธรรมเมื่อมีการปฏิบัติ และการปฏิบัติตามจรรยาบรรณย่อมช่วยให้คณะกรรมการและผู้บริหารทำหน้าที่ได้อย่างมีจริยธรรม เพราะบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงจะต้องพบกับความยากลำบากในการตัดสินใจอยู่เสมอเกี่ยวกับเรื่องการรักษาความพอดี พอเพียง ระหว่างการทำกำไรให้กับบริษัทได้มากๆ โดยต้องคำนึงถึงการปฏิบัติให้ถูกกฎหมายและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น