วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552

Get it ซูเปอร์มาร์เก็ต ได้เวลาออกสู่โลกภายนอก

นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา ตุลาคม 2552
ตั้งฮั่วเส็งเคยมีนโยบายแช่แข็งธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ต จากอดีตที่ได้รับบทเรียนไม่ดีจนต้องปิดกิจการไป แต่ท้ายที่สุดธุรกิจได้นำมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง

ห้างสรรพสินค้าตั้วฮั่วเส็งเป็นกลุ่มธุรกิจค้าปลีกขนาดกลาง มีข้อจำกัดเรื่องเงินทุนในการขยายธุรกิจ ดังนั้นยุทธศาสตร์การบริหารงานจึงยึดพื้นที่และสาขาทั้ง 2 แห่ง บางลำพู และธนบุรีให้แข็งแกร่งโดยไม่มีแผนเพิ่มสาขาของห้างในระยะสั้นหรือระยะกลาง

ตั้งฮั่วเส็งมีความคิดขยายธุรกิจส่วนซูเปอร์มาร์เก็ต ที่มองว่ามีศักยภาพและมองเห็นโอกาสที่มีอยู่ จึงได้รีแบรนด์ใหม่ขึ้นมาภายใต้ชื่อว่า get it

get it ซูเปอร์มาร์เก็ตและ get it มินิซูเปอร์มาร์เก็ตของบริษัทสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง จำกัด ถูกฟูมฟักมาตั้งแต่ปี 2549 และมีแผนขยายสาขาใหม่เพิ่มอีก 10 แห่งในปี 2553 จากปัจจุบันที่มีทั้งหมด 7 แห่ง

ธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตของตั้งฮั่วเส็งเกิดขึ้นมาพร้อมกับห้างสรรพสินค้าสาขาแรกในย่านบางลำพู ได้รับความนิยมจากลูกค้าเป็นอย่างมาก เพราะมีสินค้าที่หลากหลายและมีชื่อในเรื่องราคาถูก

ทำให้ยุคที่เศรษฐกิจกำลังเฟื่องฟูในช่วงปี 2534-2539 บริษัทจึงเริ่มขยายสาขาซูเปอร์มาร์เก็ตออกไปมีทั้งหมด 9 แห่ง แต่หลังจากเศรษฐกิจซบเซาในปี 2540 ประกอบกับทำเลบางแห่งมีที่ตั้งไม่เหมาะสมอยู่นอกชานเมืองจนเกินไป ลูกค้าไม่มีกำลังซื้อจึงต้องปิดกิจการลงบางแห่ง อย่างเช่น บนถนนสุขาภิบาล 3 สัมมากรในเวลานั้น

แต่หลังจากเวลาผ่านไปเกือบ 10 ปี วิโรจน์ จุนประทีปทอง เข้ามานั่งในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ จึงมีแนวคิดนำซูเปอร์มาร์เก็ตมาปรับปรุงใหม่ เพราะหลังจากศึกษาพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป มีวิถีชีวิตรวดเร็วมากขึ้น แนวการบริโภคที่เปลี่ยนมาต้องการอาหารปรุงสำเร็จรูป และหาซื้อสินค้าใกล้บ้าน

จึงกลายเป็นการจุดประกายความคิดให้ปรับเปลี่ยนและขยายซูเปอร์มาร์เก็ตอีกครั้งหนึ่งพร้อมกับรีแบรนด์ใหม่ว่า get it

เพราะดั้งเดิมซูเปอร์มาร์เก็ตและมินิมาร์ท จะใช้ชื่อตั้งฮั่วเส็งมินิมาร์ท และพลัสวัน ซูเปอร์มาร์เก็ต โดยตั้งฮั่วเส็ง มินิมาร์ทจะเปิดในโรงพยาบาล สินค้าที่จำหน่ายจะเป็นเครื่องอุปโภคเป็นส่วนใหญ่

พลัสวัน ซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่จำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภค

แบรนด์ใหม่ get it เริ่มใช้กับสาขาใหม่ทั้งหมดก่อน ปัจจุบันมีทั้งหมด 4 แห่ง 1. ในปั๊มน้ำมันซัสโก้ บนถนนสาทร-ราชพฤกษ์ 2. หมู่บ้านสัมมากร ถนนสุขาภิบาล 3 3. มหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา และ 4. พุทธมณฑล สาย 4

ส่วนมินิซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่ระหว่างปรับปรุงมาใช้แบรนด์ get it มี 3 แห่ง 1. โรงพยาบาลเด็ก 2. โรงพยาบาลศิริราช และ 3. ปั๊มน้ำมันซัสโก้ ถนนบรมราชนนี

สำหรับพื้นที่ในการขยายซูเปอร์มาร์เก็ตจะไม่เหมือนกันโดยเฉพาะพื้นที่เปิดใหม่ทั้ง 4 แห่ง จะใช้พื้นที่เฉลี่ยประมาณ 350 ตารางเมตร ยกเว้นพื้นที่หมู่บ้านสัมมากรจะใช้พื้นที่ใหญ่ประมาณ 1,500 ตารางเมตร เพราะเป็นกลุ่มลูกค้าระดับบนและระดับกลางมีศักยภาพในการซื้อสินค้าสูง ส่วนมินิซูเปอร์มาร์เก็ตมีพื้นที่เฉลี่ย 200 ตารางเมตร

จุดเด่นการใช้พื้นที่ค่อนข้างใหญ่ เพราะมีเป้าหมายให้มีที่จอดรถของลูกค้าเดินทางได้สะดวก

กลยุทธ์ในการเลือกพื้นที่จัดตั้งสาขาซูเปอร์มาร์เก็ตของตั้งฮั่วเส็ง ส่วนใหญ่จะยึดพื้นที่ในฝั่งธนบุรี สาขาแต่ละแห่งจะอยู่ใกล้เคียงกันและอยู่ใกล้กับหมู่บ้านที่มีลูกค้าระดับกลาง แตกต่างจากในอดีตที่จะยึด 4 มุมเมืองเป็นหลัก

การเลือกตั้งสาขาให้อยู่ใกล้เคียงกัน จะทำให้ระบบขนส่งสินค้าสะดวกและง่าย เพราะต้นทุนมีผลต่อระบบโลจิสติกส์ และค่าน้ำมันเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุน เพราะรถที่ขนส่งมีตั้งแต่ 6 ล้อ และรถกระบะ

จุดเด่นของซูเปอร์มาร์เก็ตของตั้งฮั่วเส็งที่แตกต่างจากซูเปอร์มาร์เก็ตอื่นๆ คือความใหม่สดของอาหาร เช่น เนื้อ หมู ผักสด ผลไม้ทุกชนิด ที่ส่งตรงถึงซูเปอร์มาร์เก็ตทุกวัน เนื่องจากตั้งฮั่วเส็งมีศูนย์การผลิตอาหารอยู่บริเวณชั้น 7 ในฝั่งธนบุรี จึงทำให้ส่งสินค้าได้รวดเร็วและง่าย

และสิ่งที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดก็คืออาหารที่ทำใหม่ทุกเช้าและน้ำสมุนไพร รวมถึงสุกี้บาร์ที่มีอาหารหลากหลายให้ลูกค้าได้เลือก 20-30 รายการ

จุดได้เปรียบของตั้งฮั่วเส็งคือมีสาขาไม่มากนัก ทำให้บริหารจัดการอาหารได้ดี มีของสดไปวางได้เร็ว และอาหารสำเร็จรูปที่ปรุงจะทำทุกเช้า แตกต่างจากซูเปอร์มาร์เก็ตอื่นๆ ที่มีสาขาจำนวนมากที่ไม่สามารถทำได้

"เราไม่สามารถบอกได้ว่าผงกาแฟยี่ห้อเดียวกันของเราอร่อยกว่าที่อื่น แต่เราสามารถบอกได้ว่าแกงเขียวหวานของเราอร่อยกว่า เพราะแม่ครัวคนละคนกัน" วิโรจน์เล่า

get it ซูเปอร์มาร์เก็ตยังมีความแตกต่างด้านสินค้าอื่นๆ อีก เช่นมีหมวดเครื่องสำอาง เครื่องเขียน เสื้อผ้า และอุปกรณ์เครื่องครัว หรือแม้กระทั่งมีบริการอินเทอร์เน็ตให้กับลูกค้าที่อยู่ในสถานศึกษา

แต่ตั้งฮั่วเส็งก็รู้จุดแข็งของคู่แข่งเช่นเดียวกัน ฟูดส์แลนด์มีจุดเด่นเปิดบริการ 24 ชั่วโมง เรื่องเนื้อนำเข้าจากต่างประเทศและแอลกอฮอล์ เช่นเดียวกับวิลล่าที่มีรูปแบบสินค้าเด่นคล้ายกัน แต่เพิ่มจุดเด่นเรื่องเบเกอรี่

ส่วนท็อปส์มีมีจุดเด่นที่เนื้อต่างๆ นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ไม่เด่นเรื่องแอลกอฮอล์

หลังจากที่ get it ซูเปอร์มาร์เก็ตเริ่มรุกอย่างจริงจัง ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีรายได้จากมินิซูเปอร์มาร์เก็ตประมาณ 10-20 ล้านบาทต่อปี ส่วนสาขาสัมมากรจำหน่ายได้ 100 ล้านบาทต่อปี

แม้ว่าตั้งฮั่วเส็งจะมีนโยบายชัดเจนไม่เปิดสาขาห้างค้าปลีกแห่งที่ 3 ก็ตาม แต่การขยายซูเปอร์มาร์เก็ตกลายเป็นยุทธศาสตร์สร้างแบรนด์ของตั้งฮั่วเส็งขยายอาณาจักรให้ไกลออกไปอีกก้าวหนึ่ง
Get it ซูเปอร์มาร์เก็ต ได้เวลาออกสู่โลกภายนอก
โดย นภาพร ไชยขันแก้ว


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น