เปิดกรุผู้กุมชะตา"ทองคำ" โลก 13 ชาติ 2 สถาบัน 4 ขาใหญ่
ความน่าสนใจของทองคำ ส่งผลให้เว็บไซต์ของเอ็นบีซีนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ "ผู้ถือครองทุนสำรองที่เป็นทองคำมากที่สุด" 15 อันดับแรก ซึ่งประกอบด้วย 13 ประเทศและ 2 สถาบัน
อันดับหนึ่ง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา มีทุนสำรองที่เป็นทองคำทั้งสิ้น 2.9836 แสนล้านดอลลาร์ โดยเก็บรักษาอยู่ที่สถาบัน รับฝากทองสหรัฐ ในเคนทักกี โรงกษาปณ์ที่ฟิลาเดลเฟีย โรงกษาปณ์ที่เดนเวอร์ สถาบันรับฝากทองที่เวสต์พอยต์ และสำนักงานถลุงแร่ทองคำในซานฟรานซิสโก
อันดับสอง คือ เยอรมนี มีทุนสำรองทองคำรวม 1.2501 แสนล้านดอลลาร์ โดยมีปริมาณทองคำในครอบครอง 3,749.1 ตัน ตามด้วย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มีทุนสำรองที่เป็นทองคำรวม 1.18 แสนล้านดอลลาร์ โดยมีปริมาณทองคำในครอบครอง 3,539 ตัน และ อิตาลี ที่สำรองทองคำเก็บไว้ รวม 8.992 หมื่นล้านดอลลาร์ ในอันดับ 3 และ 4 ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังมี ฝรั่งเศส จีน และสวิตเซอร์แลนด์ ที่สำรองทองคำไว้เป็นมูลค่า 8.968 หมื่นล้านดอลลาร์ 3.865 หมื่นล้านดอลลาร์ และ 3.815 หมื่นล้านดอลลาร์ ตามลำดับ
อันดับ 8 เป็น ญี่ปุ่น มีทองคำในมือ 2.807 หมื่นล้านดอลลาร์ อันดับ 9 เป็น เนเธอร์แลนด์ ที่มีทองคำในครอบครอง 2.247 หมื่นล้านดอลลาร์ ถัดไปเป็น รัสเซีย มีทองคำในมือ 2.085 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยมีปริมาณทองคำในมือ 625.2 ตัน
ในอันดับ 11-15 ได้แก่ ธนาคารกลางแห่งยุโรป 1.839 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยมีสัดส่วนทองคำในทุนสำรอง 18.8% รวม 551.5 ตัน ไต้หวัน 1.53 หมื่นล้านดอลลาร์ โปรตุเกส 1.403 หมื่นล้านดอลลาร์ อินเดีย 1.312 หมื่นล้านดอลลาร์ และ เวเนซุเอลา 1.307 หมื่นล้านดอลลาร์
โดยรวมแล้วทองคำในการถือครองของ 13 ชาติชั้นนำ และสถาบันการเงินเสาหลัก 2 แห่ง มีปริมาณทั้งสิ้น 29,634 ตัน หรือคิดเป็น 20.5% ของปริมาณทองคำทั่วโลก นอกจากนี้ยังพบว่า ทองคำกระจายอยู่ในการถือครองของบริษัทเอกชน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการซื้อขายทองคำในตลาดโลก มีอยู่ 4 ราย ไม่นับรวมสวิตเซอร์แลนด์ ที่ถือเป็นผู้มีบทบาทในตลาดทองคำเป็นอันดับ 2 ของโลก ประกอบด้วย กองทุนทองคำเอสพีดีอาร์ กองทุนที่เน้นการลงทุนในผลิตภัณฑ์อ้างอิงรายใหญ่สุด มีทองคำในครอบครอง 1,109.314 ตัน นับถึง 14 ตุลาคม โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงระดับการถือครองมาตั้งแต่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา
ขณะที่อันดับ 2 คือ อีทีเอฟ ซีเคียวริตีส์ ถือครองทองคำแท่ง 8.066 ล้านออนซ์ และอันดับ 3 เป็นบาร์ริกส์โกลด์ ผู้ผลิตทองคำรายใหญ่สุดของโลก และ แองโกลโกลด์ อาชันติ ตามมาเป็นอันดับ 4
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของแหล่งทรัพยากรทอง ถือว่ากานาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทโดดเด่น ไม่แพ้แคนาดา แอฟริกาใต้ และออสเตรเลีย แม้ว่าปัจจุบันจีนเป็นประเทศผู้ผลิตทองคำรายใหญ่สุดของโลก โดยพบว่าปัจจุบันกานามีบริษัททองรายใหญ่ 13 ราย ในจำนวนนั้นรวมถึงแองโกลโกลด์ อาชันติ ครอบครองแหล่งทองมาก คิดเป็น 17% ของแหล่งทองทั่วโลก
สำหรับการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ พบว่าราคาในตลาดโลกยังพุ่งทะยานอย่างร้อนแรง แม้จะมีแรงเทขายทำกำไรเป็นระยะ ๆ โดยระหว่างการซื้อขายวันพฤหัสบดี สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า ส่งมอบเดือนธันวาคม ยังเคลื่อนไหวเหนือ 1,060 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ใกล้กับระดับปิดตลาด 1,064 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในตลาดโคเม็กซ์ของตลาดนิวยอร์ก เมอร์แคนไทล์ แต่ต่ำกว่าระดับปิดตลาด 1,072 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เมื่อวันพุธ (14 ต.ค.)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น