วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552

CSR แมคโดนัลด์ ไม่ใช่โปรโมชั่น 1 แถม 1

วรนุช เจียมรจนานนท์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2552

มูลนิธิโรนัลด์ แมคโดนัลด์ เฮาส์ ประเทศไทย เลือกที่จะเจริญรอยตามบริษัทแม่ในสหรัฐอเมริกา ในการจับเอาประเด็นของ “เด็ก” มาเป็นแกนหลักขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) ที่แยกขาดชัดเจนจากการทำธุรกิจฟาสต์ฟู้ดแมคโดนัลด์

เฮสเตอร์ ชิว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมคไทย จำกัด และรองประธานกรรมการ มูลนิธิโรนัลด์ แมคโดนัลด์ เฮาส์ ประเทศไทย บอกว่า แนวทางการทำประโยชน์ให้สังคม ไม่ได้มีสัญญาเป็นเรื่องเป็นราว แต่เป็นความมุ่งมั่นทั้งองค์กร ที่เมื่อเลือกจะตัดสินใจทำแล้ว ก็จะเดินหน้าให้ถึงที่สุด

“ทำได้ก็ทำ แค่ถามตัวเองว่า จะทำไหม ถ้าทำ โอเคจบ ไม่ใช่ปีนี้ทำ แต่ปีหน้าหยุด เป็นความมุ่งมั่นเมื่อตัดสินใจลงมือทำ แล้วตั้งใจทำออกมาให้ดี ไม่ต้องทำมาก และไม่ทำอะไรสะเปะสะปะ”

เขาบอกว่า แนวคิดนี้คนละเรื่องกับการทำตลาด และไม่ใช่กลยุทธ์โปรโมชั่นซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง ที่สำคัญไม่ต้องฉกฉวยจังหวะเวลา ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำไปช้าๆ ดีกว่าไปเร็วๆ แล้วจบกัน

โรนัล แมคโดนัลด์ เฮาส์ สหรัฐอเมริกา วางเป้าหมายหลักในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็ก ในกรณีที่ป่วยหนักต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานๆ โดยสร้างบ้านพักหลังที่สองให้ครอบครัวของเด็ก ได้มาพักอาศัยใกล้กับโรงพยาบาล จะได้อยู่ดูแลกันอย่างใกล้ชิด

ในส่วนของเมืองไทย เขาเลือกที่จะดำเนินการไปทีละเฟส โดยหลังจากเสร็จสิ้นโครงการตกแต่งห้องสันทนาการ “โรนัลด์ แมคโดนัลด์” ตามโรงพยาบาลต่างๆ รวม 14 แห่ง เพื่อให้เด็กป่วยและเด็กกำพร้าได้มีสถานที่พักผ่อน และทำกิจกรรมร่วมกัน ระหว่างพักรักษาตัว

เป้าหมายภายในปีสองปีนี้ มูลนิธิฯ เมืองไทยจะดำเนินการจัดสร้างบ้านพักใกล้กับโรงพยาบาล เพื่อให้ครอบครัวของเด็กได้มีโอกาสมาดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิด ในราคาสุดประหยัด ซึ่งจะสอดรับกับทิศทางของมูลนิธิฯ ทั่วโลก

ถึงแม้ CSR แมคโดนัลด์จะไม่ใช่กิจกรรมซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง แต่เฮสเตอร์ก็หยิบเอาวิธีคิดทางการตลาด มาเชื่อมโยงคน องค์กร ธุรกิจ และพันธมิตรมาไว้ด้วยกัน

ด้วยการสร้างความร่วมมือกับห้างแว่นท็อปเจริญ โรงพยาบาลพญาไท และอีกหลายพันธมิตร ผ่านโครงการหน่วยบริการตรวจสายตาและสุขภาพเคลื่อนที่ ให้กับเด็กๆ ด้อยโอกาส โดยใช้รถโรนัลด์ แมคโดนัลด์ แคร์ โมบาย เปิดให้บริการทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่เดือนต.ค. ปีที่ผ่านมา และจะสิ้นสุดโครงการภายในสิ้นปี 2556

เฮสเตอร์บอกว่า การทำธุรกิจต้องมีกำไรและยืนได้ด้วยตัวเองก่อน ถึงจะไปแบ่งปันให้กับสังคม และเมื่อประกาศเจตนารมณ์เด่นชัดแล้วว่า จะทำอะไร ก็ต้องดึงเครือข่ายขึ้นมาเพื่อสร้างประโยชน์ให้เกิดสูงสุด

“เราทำคนเดียวไม่ไหว โดยเฉพาะกับโครงการให้บริการตรวจสายตา ก็ต้องมีท็อปเจริญ และโรงพยาบาลพญาไทเข้ามาช่วย เป้าหมายหลักคือ เราจะทำทุกอย่างเพื่อช่วยเด็ก การมีหน่วยรถให้บริการตรวจสายตาเคลื่อนที่ เรามองว่าเป็นอีกปัญหาของเด็กที่ผู้ใหญ่หลายคนมองข้าม”

ที่ผ่านมาปัญหาเกี่ยวกับเด็กมีหลากหลาย ธุรกิจส่วนใหญ่มักพุ่งประเด็นไปที่การศึกษา โดยเฉพาะการให้ทุน ส่วนตัวเขามองว่า ทุกวันนี้ทุนการศึกษามีมากมาย การเข้าไปให้ความช่วยเหลือที่ซ้ำซ้อน เป็นสิ่งไม่จำเป็น

แต่ถ้าลองขยับมุมมองมาหาปัญหาขั้นพื้นฐานของการศึกษา อย่างเช่น ปัญหาสายตาสั้นโดยเฉพาะกับเด็กยากจนที่นำไปสู่การออกจากระบบการเรียนไปในที่สุด ถือเป็นเรื่องเล็กๆ ที่มีโอกาสสร้างปัญหาใหญ่ๆ และไม่ควรมองข้าม

“พอเด็กสายตาไม่ดี ยิ่งเรียนไม่ดี ยิ่งยากจน ก็ต้องออกจากการเรียนไปช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน ถือเป็นปัญหาใต้จมูกนิดเดียว ถ้าเพียงแต่เขามองเห็น เขาก็อยู่ในระบบการศึกษาได้ เราเลยหยิบปัญหาเรื่องสายตาขึ้นมา หาข้อมูลศึกษา แล้วก็คุยกับท็อปเจริญ”

ก่อนหน้านี้ท็อปเจริญมีโครงการเพื่อสังคมผ่านกิจกรรมแว่นตาเพื่อน้องเฉลิมพระเกียรติฯ อยู่ก่อนแล้ว และจากผลวิจัยที่ผ่านมาพบว่า ไม่น้อยกว่า 25% ของเด็กไทย มีแนวโน้มจะสายตาสั้นมากขึ้น ผลพวงจากการดูทีวีและเล่นอินเทอร์เน็ตมากเกินไป ถึงเวลาที่ควรรณรงค์ให้เด็กๆ ได้ดูแลตรวจสุขภาพสายตามากขึ้น การเข้าร่วมกับมูลนิธิฯ จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สอดรับไปในทางเดียวกัน

“ผ่านมาหนึ่งปี เราสามารถส่งมอบแว่นตาให้กับเด็กๆ ไปแล้วกว่า 3,000 อัน และพบว่าเด็กสายตาสั้นร่วม 7,000 คน”

ขณะที่ประเด็นการเชื่อมโยง คน องค์กร และธุรกิจเข้ากับการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม บริษัท แมคไทย จำกัด ในฐานะเจ้าภาพหลักของมูลนิธิ จะใช้วิธีบริจาคพนักงานมาเป็นอาสาสมัคร ถือเป็นการทำบุญเต็มวันในหนึ่งปี จากโครงการตรวจสายตาที่ต้องตระเวนไปทั่วประเทศรวม 94 ครั้งภายใน 5 ปี

เขาอธิบายว่า เป็นอีกวิธีคิดในการสร้างคนในองค์กร ด้วยการแบ่งปันเรื่องราว แนวคิด และประสบการณ์ใหม่ๆ ในสังคม โดยดึงให้พนักงานมามีส่วนร่วม “เราบอกเล่าเรื่องราวในทุกการประชุม ไตรมาสละครั้ง ในกลุ่มผู้จัดการสาขาทั่วประเทศ มาแชร์กันเรื่องมูลนิธิ มาอัพเดทว่าทำอะไรไปบ้างช่วงที่ผ่านมา แล้วโชว์แผนให้ดูว่า แต่ละปีมูลนิธิฯ เราจะทำอะไร เพื่อเปิดทางให้พนักงานแมคโดนัลด์ทั่วประเทศ อยากมาเป็นอาสาสมัคร ได้มารู้จักกับเพื่อนต่างสาขา เป็นอีกวิธีสร้างความผูกพัน”

เงินอุดหนุนส่วนหนึ่งของมูลนิธิมาจากบริษัทแม่ และแมคไทย กับอีกส่วนหนึ่งจะมาจากการทำโปรโมชั่น แฮปปี้มีล ซึ่งจะเริ่มในเดือนพ.ย. ปีนี้ โดยนำรายได้บางส่วนสมทบเข้ามูลนิธิฯ เพื่อเดินหน้าโครงการในปีถัดๆ ไป

ท่ามกลางภาวะผันผวนทางเศรษฐกิจปีนี้ เขามองว่า บริษัทยังมีความสามารถในการรับมือได้ดี ทุกอย่างโอเคแต่ทว่ายังต้องเหนื่อยสุดสุด

ภายใต้บุคลิกสบายๆ และติดจะฮาเฮ ไม่ว่าจะเป็นวันที่ฝนตกหนักหรือแดดร้อนเปรี้ยง ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจหรือความมุ่งมั่นใน CSR

สิ่งที่เหมือนกันภายใต้ความเป็นแมคไทยและซีอีโอ chill chill คนนี้ คือมีความสุขและสนุกกับทุกสิ่งที่ทำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น