วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552

จังหวะรุ่งทอง อวสานดอลลาร์ ? จับทิศทางโลก ผ่านเกมการเงินธนาคารกลาง

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4149

ราคาทองคำ ทั้งทองแท่งและรูปพรรณยังคงขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาเปิดซื้อขายวันที่ 13 ตุลาคม ทองแท่งอยู่ที่ 16,450 (ซื้อ)/16,550 (ขาย) ทองรูปพรรณ 16,206.04 (ซื้อ)/16,950 (ขาย) สอดคล้องกับทิศทางของราคาในตลาดโลก ซึ่งเมื่อวันที่ 12 ต.ค. สัญญาฟิวเจอร์สทองคำงวดส่งมอบเดือนธันวาคม พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุด 1,060 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ระหว่างการซื้อขายก่อนปรับมาปิดที่ 1,057.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์

นับจากต้นปี 2552 ถึงปัจจุบัน ราคาทองคำพุ่งทะยานขึ้นมาแล้วประมาณ 20% สถานการณ์ของตลาดทองสวนทางกับค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 2-3 สัปดาห์ ที่ผ่านมา โดยพบว่าดอลลาร์ซื้อที่ระดับประมาณ 1.47 ดอลลาร์ต่อยูโร อ่อนค่าลงนับจากเดือนมีนาคม 17% และอ่อนค่าราว 8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งช่วงนั้นดอลลาร์อยู่ที่ 1.60 ดอลลาร์ต่อยูโร

ปรากฏการณ์ของดอลลาร์และทองคำในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งแรงกดดันมาถึงตลาดเงินในเอเชียอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะเงินเอเชียแทบทุกสกุลแข็งค่าขึ้นโดยอัตโนมัติ ตามแรงอ่อนค่าของดอลลาร์

จากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ 9 ต.ค. เงินหยวนของจีนอยู่ที่ 6.8256 หยวนต่อดอลลาร์ เทียบกับ 6.8290 หยวนต่อดอลลาร์ของวันที่ 30 กันยายน รวมนับจากกลางปี 2548 ซึ่งเป็นช่วงที่จีนนำระบบตะกร้าเงินมาใช้แทนการผูกค่าเงินไว้กับดอลลาร์สหรัฐ หยวนได้แข็งค่าขึ้นประมาณ 20%

เช่นเดียวกับวอนของเกาหลีใต้ ที่แข็งมาอยู่ที่ 1,164.50 วอนต่อดอลลาร์ เทียบกับ 1,178.3 วอนต่อดอลลาร์ และค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย ที่แข็งค่าขึ้นไปที่ 9,450 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ จาก 9,645 รูเปียห์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

แรงแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินเอเชีย ส่งผลให้ธนาคารกลางในภูมิภาคต้องสกัดการแข็งค่าของเงินท้องถิ่นหลายครั้งในช่วง ต้นเดือนตุลาคม อาทิ สำนักงานการเงินฮ่องกง ซึ่งมีฐานะเทียบเท่าธนาคารกลางของเขตปกครองพิเศษแห่งนี้ยอมรับว่าได้แทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนทั้งสิ้น 3.88 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 500 ล้านดอลลาร์) เพื่อจำกัดการแข็งค่าของดอลลาร์ฮ่องกง

ในเกาหลีใต้ เทรดเดอร์ค้าเงินตราคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้อาจเข้าแทรกแซงธนาคาร เพื่อหยุดการแข็งค่าของเงินวอน โดยประเมินว่าธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้ใช้เงินเข้าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 500-1,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อสกัดให้วอนอยู่เหนือ 1,170 วอนต่อดอลลาร์

ธ.กลางทั่วโลกปรับเกมบริหารทุนสำรอง

นอกเหนือการแทรกแซงตลาดแล้ว ช่วงที่ผ่านมาธนาคารกลาง หลายแห่งทั่วโลกได้ปรับกลยุทธ์ในการบริหารทุนสำรองเงินตรา ต่างประเทศใหม่ โดยมีทั้งการลดสัดส่วนสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ในพอร์ตทุนสำรอง หันไปเพิ่มสินทรัพย์สกุลยูโรและเยนมากขึ้น

ข้อมูลของบลูมเบิร์ก พบว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ถือครองทุนสำรองเพิ่มขึ้นราว 4.13 แสนล้านดอลลาร์ในไตรมาส 2 ของปีนี้ ซึ่งเป็นการเพิ่มของระดับทุนสำรองมากที่สุดนับจากปี 2546 รวม 7.3 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในจำนวนนั้น 63% ของทุนสำรองที่เพิ่มขึ้น เป็นสินทรัพย์สกุลยูโรและเยน ขณะที่สกุลดอลลาร์เพิ่มเพียง 37%

ขณะที่ธนาคารกลางบางประเทศ อาทิ รัสเซียและจีน ได้หันมากว้านซื้อทองคำเก็บ โดยธนาคารกลางรัสเซียได้เข้าซื้อทองคำรวม 300,000 ออนซ์ ในเดือนสิงหาคม ขณะที่ธนาคารกลางจีนได้แสดงความสนใจจะเข้าซื้อทองคำทั้ง 403 ตัน ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประกาศนำออกขาย อีกทั้งจีนยังเป็นผู้ถือครองทองคำมากที่สุดอันดับ 6 ของโลก จากการจัดอันดับของ สภาทองคำโลก ด้วยปริมาณทองคำ 1,040 ตัน นับถึงกันยายนปีนี้

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังเรียกร้องให้ชาวจีนหันมาซื้อทองคำเก็บ เพื่อป้องกันผลกระทบในกรณีหากเกิดฟองสบู่สินเชื่อในประเทศ

การปรับกลยุทธ์การบริหารทุนสำรองของธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะการเปลี่ยนจากการขายทองคำ เพื่อรักษาเสถียรภาพของดอลลาร์ มาเป็นการกว้านซื้อทองคำ เป็นปัจจัยสำคัญที่ปลดล็อกทองคำ จนพุ่งทะยานพ้นระดับ 1,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และ ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์หลายครั้ง นับถึงวันจันทร์ที่ 12 ต.ค.

แกะรอย ธปท.แทรกแซงบาท

ค่าเงินบาทของไทย ก็หนีไม่พ้นแรงกระทบจากดอลลาร์อ่อน โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (5-9 ต.ค.) เงินบาทได้ปรับแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยมีกรอบการเคลื่อนไหวในช่วง 33.28-33.45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 14 เดือน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดย นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงินออกมายอมรับเป็นคนแรกว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยที่ยังเปราะบางกว่าประเทศอื่น ทำให้ ธปท.ต้องเข้าดูแล ไม่ให้เงินบาทผันผวนแข็งค่าเร็วเกินไป

และล่าสุดเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท.ยอมรับเช่นกันว่า ธปท.ได้เข้าดูแลค่าเงินบาทอยู่ และค่าเงินยังเกาะกลุ่มกับภูมิภาค ค่าเงินบาทที่ผันผวนและแข็งค่าเร็วเป็นไปตามค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงและทองคำที่ขณะนี้เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ตอนนี้ราคาค่อนข้างจะผันผวนก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ค่าเงินบาทผันผวนและแข็งค่าขึ้นในช่วงนี้

แหล่งข่าวจาก ธปท.เปิดเผยว่า ช่วงนี้ ธปท.เข้าดูแลค่าเงินบาท ค่อนข้างมาก ทำให้วงเงินที่ ธปท.รับผิดชอบในการดำเนินการแทรกแซงค่าเงินบาทไม่เพียงพอ ต้องขออนุมัติวงเงินในการ เข้าแทรกแซงค่าเงินบาทเพิ่มเป็นระยะ ๆ จากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

"กฎหมาย ธปท.กำหนดหน้าที่ของ กนง.ต้องบริหารนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้มีหน้าที่ในการดูแลการเข้าแทรกแซงค่าเงินบาท ด้วยการพิจารณาวงเงินในการเข้าแทรกแซงค่าเงินบาท รวมถึงการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศด้วย" แหล่งข่าวธปท.กล่าว

ทั้งนี้ การเข้าดูแลค่าเงินบาทของ ธปท. ส่งผลให้เงินสำรองระหว่างประเทศสูงขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุด ณ 2 ต.ค. 2552 อยู่ที่ 131,346.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เฉพาะสินทรัพย์ต่างประเทศมีจำนวน 126,743.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีฐานะ forward 15,637 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น ธปท.มีสินทรัพย์เงินตรา ต่างประเทศรวม 142,380.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากต้นปี ณ 2 ม.ค. 2552 ที่สินทรัพย์เงินตราต่างประเทศรวม 114,822.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แม้ ธปท.ต้องมีภาระในการเข้าดูแลค่าเงินบาท โดยการเข้าซื้อเงินตราต่างประเทศ และขายเงินบาท ทำให้ต้องดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินออกผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่กำหนด 1.25% แต่ ธปท.ยืนยันว่า สถานการณ์ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องออกมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายเหมือนที่เคยออกมาตรการกันสำรอง 30% เมื่อ 18 ธ.ค. 2549

ขณะที่ นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะคณะกรรมการนโยบายการเงิน ยอมรับว่า ธปท.เข้าแทรกแซงเงินบาทค่อนข้างมากทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมาก แต่หาก ธปท.ต้องแทรกแซงไปเรื่อย ๆ อาจไม่เหมาะเพราะอาจเป็นข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายการเงินที่ต้องรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่กำหนด

และหาก ธปท.อุ้มเงินบาทไม่ให้แข็งค่าต่อไป สินทรัพย์ของ ธปท.ก็จะเต็มไปด้วยเงินตราต่างประเทศและจะกลายเป็นบัญชีที่ดูแล้วประเทศร่ำรวย แต่เกิดจากการแทรกแซงค่าบาท ซึ่งมีต้นทุน

เพื่อช่วยลดแรงกดดันการแข็งค่าของบาท นายพรายพลเสนอว่าต้องกระตุ้นให้ดำเนินการอย่างจริงจังใน 2 แนวทางคือ สนับสนุนให้คนไทยไปลงทุนต่างประเทศ ซึ่ง ธปท.ได้ผ่อนเกณฑ์เงินไหลออกให้แล้ว จึงเป็นโอกาสที่นักลงทุนควรไปหาผลตอบแทนที่สูงกว่า

อีกแนวทางที่สำคัญคือ การเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการใช้จ่ายและการลงทุนมากขึ้น ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะการใช้จ่ายของรัฐบาลในโครงการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่รัฐบาลประกาศมา ตั้งนานแล้ว ควรเร่งดำเนินการ เพราะหากมีการลงทุนก็ต้องมีการนำเข้า ทำให้การเกินดุลการค้าลดลง เงินบาทจะได้ไม่แข็งค่ามากเกินไป ผู้ส่งออกก็สบายได้ว่าจะได้มีคำสั่งซื้อมากขึ้น

"การให้ภาครัฐเร่งใช้จ่ายลงทุนในโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดี เพราะประเทศเรายังขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานอีกเยอะ ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคม และเรื่องพลังงานทดแทน ซึ่งภายใต้วิกฤตแบบนี้ราคาวัตถุดิบยังไม่แพง ใคร ๆ ก็อยากให้กู้ อยากขายสินค้า ถ้าไม่ทำตอนนี้อาจช้าเกินไป ทำให้เสียโอกาส ทั้ง ๆ ที่ประเทศเราอยู่ในฐานะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้"


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น