อนุสรณ์ ธรรมใจ Anusorn4reform@Gmail.com www.Anusornt4reform.com กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 02 เมษายน พ.ศ. 2553
นวัตกรรมทางการเงิน ภาวะไร้พรมแดนของการเคลื่อนย้ายทุนระยะสั้นในตลาดการเงิน ทำให้โลกการเงินเต็มไปด้วยความผันผวน ความเสี่ยง และโอกาส
ขณะเดียวกัน กระบวนการโลกาภิวัตน์ทางการเงิน ได้ทำให้โฉมหน้าของธุรกิจการเงินการธนาคารพลิกโฉมไปอย่างมาก อุตสาหกรรมธนาคารทั้งในระดับโลก ภูมิภาคและในประเทศได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รุนแรงและต่อเนื่อง เรากำลังอยู่ในยุคสมัยแห่งการปฏิวัติทางการเงินครั้งใหญ่
ไม่นับรวมการจัดระเบียบการเงินโลกใหม่หลังวิกฤติสินเชื่อซับไพร์ม อันเป็นสิ่งที่ท้าทายต่อการปรับตัวของระบบสถาบันการเงินไทย
สถาบันการเงินถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นสื่อกลางทางการเงิน (Financial Intermediaries) สถาบันการเงินย่อมก่อให้เกิดประสิทธิภาพทางด้านการออม การลงทุนในระบบเศรษฐกิจ ทำให้ระบบเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพและมั่นคง กระตุ้นให้ผู้ประกอบการขยายการผลิตสินค้าและบริการ จัดสรรเงินทุนให้กับผู้ต้องการเงินทุน และทำหน้าที่ระดมเงินออม
สถาบันการเงินในยุคนี้จำนวนไม่น้อยได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกรรมเก็งกำไรเกินขนาด จนกระทั่งยักษ์ใหญ่ทางการเงินระดับโลกหลายแห่งประสบการล้มละลายช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ตั้งแต่ เลแมน บราเดอร์ส จนถึง เอไอจี หากสถาบันการเงินขีดวงการทำธุรกิจให้อยู่ในกรอบของหน้าที่ในการเป็นสื่อกลางทางการเงิน ปัญหาวิกฤติในปี 2551-2552 อาจไม่เกิดขึ้น
การเติบโตของระบบการเงินมีมากขึ้นตามพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจ บทบาทของสถาบันการเงินก็เติบโตตามไปด้วย การขยายใหญ่ของระบบการเงิน (Monetarisation) และการขยายของบทบาทสถาบันการเงินเป็นผลโดยตรงจากการพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ขณะที่บทบาทของสถาบันการเงินและตลาดการเงินก็มีผลกระทบต่อพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน ธุรกรรมทางการเงินที่ไม่มีกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจจริงรองรับได้ขยายตัวอย่างมโหฬาร จนทำให้ภาคการเงินมีขนาดใหญ่กว่าภาคการผลิตหลายเท่า ภาวะไม่สมดุลของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง
โครงสร้างระบบการเงินของไทยมีองค์ประกอบสำคัญสามส่วน คือ สถาบันการเงินที่เป็นธนาคาร สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร และตลาดตราสารหนี้และตลาดตราสารทุน โดยที่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยยังมีความสำคัญในลำดับสูงในระบบการเงินของประเทศ
สถาบันการเงินที่เป็นธนาคารในประเทศไทย ประกอบไปด้วย ธนาคารกลางหรือธนาคารชาติ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอี) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นต้น
ส่วนสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร ประกอบไปด้วย บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทประกันชีวิต สถาบันการเงินเพื่อรายย่อย (บริษัท อิออน บริษัทแคปปิตอล โอเค) สหกรณ์ และโรงรับจำนำ เป็นต้น
ขณะที่ตลาดตราสารหนี้และตลาดตราสารทุน มีบทบาทในระบบการเงินเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง นิยมออกตราสารหนี้และตราสารทุน เพื่อระดมทุนในการขยายกิจการ หรือบริหารโครงสร้างทางการเงินของกิจการ
ต่อมาได้มีการผ่านกฎหมายพระราชบัญญัติสถาบันการเงินฉบับใหม่มาบังคับใช้ (2550) แบ่งสถาบันการเงินที่รับฝากเงินออกเป็นสองประเภทเท่านั้น คือ ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ให้บริการการเงินแบบครบวงจร (Universal Bank) และธนาคารเพื่อรายย่อย (Retail Bank)
ธนาคารพาณิชย์แตกต่างจากสถาบันการเงินทั่วไป คือ ธนาคารพาณิชย์รับฝากเงินฝากกระแสรายวันซึ่งสามารถจ่ายโอนโดยเช็คได้ สถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์จะปฏิบัติดังกล่าวมิได้ ถือว่าผิดกฎหมายธนาคารพาณิชย์ (Commercial Banks) คือ สถาบันการเงินที่รับฝากเงิน (Deposits) และ ปล่อยเงินกู้ (Loans) เงินรับฝากเป็นรายการ หนี้สิน (Liabilities) ส่วนเงินที่ปล่อยกู้เป็นรายการสินทรัพย์ (Assets) ของสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์หารายได้ด้วยการคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สูงกว่าเงินฝากและโดยปกติสถาบันการเงินจะต้องดำรงเงินสำรองไว้ตามที่กฎหมายกำหนด เรียกว่า "เงินสดสำรองตามกฎหมาย" (Legal Reserves)
ระบบธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยนั้นเป็นระบบสาขา เป็นวิสาหกิจทางการเงินที่มีสำนักงานมากกว่าหนึ่งแห่ง โดยมีสำนักงานใหญ่แห่งหนึ่ง และมีสาขากระจายทั่วประเทศ และอาจมีสาขาดำเนินการในต่างประเทศด้วย ระบบนี้มีความมั่นคงและสามารถบริการลูกค้าสะดวกและรวดเร็ว ระบบธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยนั้นมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2431 ธนาคารพาณิชย์ที่ก่อตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย คือ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ของประเทศอังกฤษ และธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของไทย คือ ธนาคารไทยพาณิชย์
ก่อนที่เราจะพิจารณาเรื่องการปฏิรูปกิจการธนาคาร เราควรทำความเข้าใจความเป็นมาเป็นไปของธุรกิจธนาคารในไทยเสียก่อน ว่า มีวิวัฒนาการมาอย่างไร ซึ่งจะขอกล่าวในตอนหน้าครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น