โดย : ลมลเพ็ชร อภิสิทธิ์นิรันดร์
ที่ผ่านมาในเกมธุรกิจของเจ้าสัวกฤตย์ รัตนรักษ์ มักจะถูกมองว่า เป็น "เสือซุ่ม" ชอบอยู่เบื้องหลัง เดินเกมช้ากว่าคนอื่น
แต่บุรุษผู้นิยม "โลว์ โปรไฟล์" ผู้นี้ "ไม่ยี่หระ" กับคำกล่าวเหล่านั้น
เพราะแท้จริงแล้ว ในความเงียบ "กฤตย์ รัตนรักษ์" ยังคงเดินหน้า แสวงหาโอกาสทางธุรกิจต่อเนื่อง โดยเฉพาะในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งปรากฏ "เงา" ของเขาทาบทับอยู่หลายโครงการ
"ดักจังหวะ" การฟื้นตัวของธุรกิจอสังหาฯ ที่บรรดากูรูหลายสำนักคอนเฟิร์มว่า กำลังจะเดินทางมาถึง ในไม่ช้า
แม้ภาพเบื้องหน้าจะปรากฏชื่อของกลุ่มบุญดีเจริญ ที่นำโดย "เจตรศิริ บุญดีเจริญ"นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เจรจาเข้าแลกหุ้นกับ มีเดีย ออฟ มีเดียส์ เพื่อร่วมกันทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
แต่เบื้องหลังแล้ว นี่น่าจะเป็นตัวอย่างการรุกคืบของ กฤตย์ รัตนรักษ์ ที่จะเข้ามาเล่นในสนามธุรกิจอสังหาฯ อย่างเต็มตัว
เพราะถ้าหากกฤตย์และกลุ่มรัตนรักษ์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในมีเดีย ออฟ มีเดียส์ โดยถือผ่านบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ (ช่อง 7 สี) และกลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้อง ในสัดส่วน 73.73% "ไม่ ไฟเขียว" เปิดทางสะดวกแล้ว ย่อมยากอย่างยิ่งที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงธุรกิจแบบ "พลิก" ไม่เหลือเค้าเดิม
จากผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ ในอนาคตมีเดีย ออฟ มีเดียส์ จะกลายเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไป
ถ้าจะพลิกปูมแล้ว บุญดีเจริญ คือพันธมิตรสำคัญของเจ้าสัวกฤตย์ มีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจที่หลากหลาย
บุญดีเจริญ คือ หนึ่งในผู้ถือหุ้นช่อง 7 สี อีสเทอร์น สตาร์ เรียล เอสเตท ธุรกิจที่กลุ่มรัตนรักษ์ถือหุ้นใหญ่อยู่
นอกจากนี้กลุ่มดังกล่าวยังบริหารงานในหลายบริษัท เช่น บริษัทเจริญกฤษ เอ็นเตอร์ไพร์ส และบริษัทแกรนด์ ฟอร์จูน ซึ่งมีบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ ถือหุ้น 60% กลุ่มเจริญกฤษ เอ็นเตอร์ไพร้ส์ ถือหุ้น 40%
โดยบริษัทดังกล่าวมีโครงการพัฒนาอสังหาฯ ภายใต้ชื่อ แกรนด์คาแนล เช่น แกรนด์คาแนล ดอนเมือง แกรนด์ คาแนล ประชาชื่น ภายใต้การนำของ เจตรศิริ บุญดีเจริญ บุตรชายของ โยธิน บุญดีเจริญ
การเข้ามาในมีเดีย ออฟ มีเดียส์ ของบุญดีเจริญจึงน่าจะเป็นการลุยอสังหาฯ ในแบบฉบับ "ไม่ลุยเดี่ยว" ขอเกี่ยวแขนของเจ้าสัวกฤตย์
หลายฝ่ายยังมองว่า การเปิดทางของกฤตย์ให้กลุ่มบุญดีเจริญเข้ามาถือหุ้นในมีเดีย ออฟ มีเดียส์ คือการ "เร่งเครื่อง" ให้ธุรกิจอสังหาฯ ที่เจ้าสัวหมายมั่นเดินหน้าโดยเร็วยิ่งขึ้น
เพราะที่ผ่านมา แม้กลุ่มรัตนรักษ์จะมีธุรกิจธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยผ่านบริษัทต้นสน กรุ๊ป ซึ่งทำโครงการต้นสน ทาวเวอร์ หรือการเข้าเทคโอเวอร์ บริษัท อีสเทอร์น สตาร์ เรียล เอสเตท (ESTAR) พร้อมนำที่ดินในพอร์ตของครอบครัวโอนขายต่อให้ ESTAR นำไปพัฒนาเป็นคอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์ แต่บริษัทเหล่านี้ยังไม่ได้แสดงบทบาทที่โดดเด่นนัก
เพิ่งจะมีในปีนี้เองที่ต้นสน กรุ๊ป ได้ประกาศแตกไลน์ ส่งบริษัทต้นสน พร็อพเพอร์ตี้ ออกมาชิมลางตลาดอสังหาริมทรัพย์ระดับไฮเอนด์เมื่อไม่นานมานี้
โดยผู้บริหารของต้นสน พร็อพเพอร์ตี้ คณิสร์ แสงโชติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ต้นสน พร็อพเพอร์ตี้ เล่าว่า บริษัทนี้จะเปิดกว้างสำหรับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่หลากหลาย
ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน โรงแรม โดยมีรูปแบบการลงทุน 2 ส่วน คือ การพัฒนาโครงการใหม่ด้วยเงินลงทุนของตนเอง หรือเปิด "กองทุนอสังหาริมทรัพย์" ขึ้นมา เพื่อเป็นช่องทางในการระดมเงินทุน
นอกจากนี้ยังจะเข้าไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยหวังผลตอบแทนไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี
มูฟเมนท์สดๆ ร้อนๆ ของต้นสนกรุ๊ป คือการนำที่ดินย่านพระราม 3 ที่ซื้อมาจากบริษัทอีสเทอร์น สตาร์ พร็อพเพอร์ตี้ มาพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์ ในชื่อโครงการ "เดอะ สาธุ เรสซิเดนเซส"
คาดว่า ต้นสน พร็อพเพอร์ตี้ น่าจะเป็นอีกหัวหอกสำคัญในการทำธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ ของกลุ่มรัตนรักษ์
เหตุผลที่กฤตย์หันมาสนใจในธุรกิจอสังหาฯ พิเศษนั้น ผู้ใกล้ชิดอธิบายว่า เป็นเพราะวิกฤติการเงินโลก ทำให้ "ต้นทุน" การเงินในการชอปกิจการต่ำลง
ด้วยแบ็คอัพทั้งฐานเงิน ฐานธุรกิจ กฤตย์จึงเริ่มเกมรุกสู่ธุรกิจโรงแรม คอนโดมิเนียม และเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ จริงๆ จังๆ รวมไปถึงการลงทุนในต่างประเทศ
ในต่างประเทศ เขามีสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ เป็นเป้าหมายสำคัญ เนื่องจากในมุมมองของเจ้าสัวกฤตย์ เห็นว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในสองประเทศนี้ เลยจุดต่ำสุด (Bottom line) ไปแล้ว
นอกจากนี้ยังสนใจเข้าไปซื้อสินทรัพย์ของวาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐฯ อย่าง เลห์แมน บราเธอร์ส ที่มีสินทรัพย์อยู่ในประเทศไทยและต่างประเทศ
ขณะที่ในประเทศนั้น กฤษณ์ โพธิสุนทร ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป (Assistant General Manager )โครงการเดอะนราธิวาสเรซิเดนซ์ ย่านสาธร ของกลุ่มบุญดีเจริญเล่าว่า กฤตย์มีแผนที่จะเป็นเจ้าของโรงแรม และเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ใหม่กิ๊กอีก 2-3 แห่ง แบบลงทุนทำเอง โดยอยู่ระหว่างคิดชื่อแบรนด์ "เก๋ๆ"
จากการสืบย้อนข้อมูลยังพบว่า ในเบื้องต้นกลุ่มรัตนรักษ์ได้เตรียม "กระสุนทุน" ไว้ประมาณ 1,000 ล้านบาทในการลุยสนามธุรกิจอสังหาฯ
ถ้าหากโครงการใดมีมูลค่าสูงเกิน 2,500 ล้านบาทขึ้นไป ก็จะหันมาใช้แผนสำรอง ด้วยการจับมือกับ "พันธมิตร"
ดังนั้น นอกจากการจับมือกับกลุ่มบุญดีเจริญแล้ว อีกพันธมิตรที่ไม่อาจจะมองข้ามไปได้คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งถูกมองว่า น่าจะเป็นแหล่งทุนชั้นดีให้กับกลุ่มรัตนรักษ์
เพราะธนาคารกรุงศรีอยุธยา คือธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัวรัตนรักษ์ แม้กฤตย์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการในแบงก์ แต่แท้จริงแล้วตระกูลนี้ยัง "ถือหุ้นใหญ่" ในสัดส่วน 25%
สูงเป็นอันดับ 2 รองจากกลุ่มจีอีที่ถือหุ้นในสัดส่วน 33%
ถึงจะพูดได้ไม่เต็มปากว่า ธนาคารกรุงศรีฯ จะเข้ามามีส่วนในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของกฤตย์ในรูปแบบใด แต่ความที่ธนาคารกรุงศรีฯ จัดเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้น จึงทำให้ถูกจับตามองเป็นพิเศษ
เพราะในอนาคตหากแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับที่ 2 (มาสเตอร์แพลน 2) จะแล้วเสร็จราวไตรมาส 4 ของปีนี้ อาจ "เปิดทาง" ให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ สามารถร่วมทุนกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีความเป็นไปได้เช่นกันว่า กลุ่มบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในตระกูลรัตนรักษ์อาจจะจับมือกับธนาคารกรุงศรีอยุธยาเพื่อเป็นใบเบิกทางในการพัฒนาสินทรัพย์ที่รอการขาย หรือ เอ็นพีเอ และ สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล
สมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้อำนวยการสำนักนโยบายความเสี่ยง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ตามมาสเตอร์แพลนฉบับที่ 2 จะเปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์สามารถร่วมทุนกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ เพื่อพัฒนาเอ็นพีเอ และเอ็นพีแอล ที่มีอยู่ด้วยการจัดตั้ง "บริษัทร่วมทุน"
โดยธนาคารพาณิชย์ต้องถือหุ้นไม่เกิน 50% เพื่อไม่ให้กระทบต่อฐานะเงินกองทุน การตั้งสำรอง และการจ่ายเงินปันผล และคาดว่าหากธนาคารพาณิชย์เลือกใช้วิธีดังกล่าว อาจจะสามารถแก้ปัญหาเอ็นพีเอ และเอ็นพีแอล ในระบบที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง และปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น
ดังนั้น หากทุกอย่างเป็นไปตามคาด หลังมาสเตอร์แพลนฉบับที่ 2 มีผลบังคับใช้ ก็อาจจะทำให้ธนาคารพาณิชย์หลายรายหันมาจับมือกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเข้าดำเนินธุรกิจอสังหาฯ เพื่อสะสางเอ็นพีเอ และเอ็นพีแอล ที่บานเบอะ แบบได้ราคาที่สมน้ำสมเนื้อ มากขึ้น
.. เกมนี้ เจ้าสัวกฤตย์จึงมีแต่ "ได้" กับ "ได้"
Tags : กฤตย์ รัตนรักษ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น