- ภาวิน ศิริประภานุกูล -
pawin@econ.tu.ac.th
เนื่องจากผมเห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า การปรับตัวที่ผันผวนรุนแรงของอัตราแลกเปลี่ยนย่อมส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ จริงโดยตัวผู้ผลิตสินค้า โดยเฉพาะในภาคส่งออกน่าจะได้รับผลกระทบทั้งในด้านการบริหารต้นทุนและการตั้ง ราคาสินค้า
ในช่วงเวลาที่เงินบาทมีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างรุนแรง ต่อเนื่อง ก็อาจเป็นไปได้ว่าผู้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าทุนในราคา ที่สูง (ในช่วงค่าเงินบาทอ่อน) มาผลิตสินค้าส่งออกในช่วงที่สามารถตั้งราคาในหน่วยเงินบาทได้อย่างจำกัด (ในช่วงค่าเงินบาทแข็ง)
มีความเป็นไปได้สูงครับ ที่ผู้ผลิตสินค้าส่งออกเหล่านี้อาจขาดทุนจนต้องเลิกกิจการไป โดยที่การเลิกกิจการเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในลักษณะที่พึงปรารถนา นั่นคือไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่มีฝีมือ หรือไม่เชี่ยวชาญในการผลิตสินค้านั้นๆ แต่พวกเขาได้รับผลกระทบจากปัจจัยที่ไม่อาจควบคุมได้ในเรื่องเกี่ยวกับความ ผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
การปิดกิจการที่ไม่พึงประสงค์เหล่านี้ไม่ ได้ส่งผลกระทบแต่เพียงช่วงสั้นครับ แต่มันอาจทำลายสต๊อกของทักษะในการบริหารจัดการธุรกิจและทักษะในการผลิต สินค้า หรืออาจจะเรียกว่ามันเป็นการทำลายทุนมนุษย์ที่ถูกสะสมอยู่ภายในประเทศลงไปก็ ได้
ผมขอออกตัวก่อนเลยว่า ผมไม่เคยมีความคิดที่จะสนับสนุนนโยบายที่มุ่งเน้นให้ภาคการส่งออกเป็นตัว จักรสำคัญในการสร้างการเติบโตให้กับระบบเศรษฐกิจไทยนะครับ ผมไม่เห็นประโยชน์ของการมุ่งเติบโตอย่างรวดเร็วแต่ไม่ยั่งยืนด้วยซ้ำ
จะ มีประโยชน์อะไร ถ้าเราคนไทยทั้งประเทศจะต้องมาจุนเจือภาคการส่งออก เพื่อให้ภาคการส่งออกเติบโตต่อไปในตัวเลขระดับสองหลัก ในขณะที่ผู้คนในภาคส่วนอื่นๆ ต้องแบกรับภาระในการใช้น้ำมันราคาแพง สินค้านำเข้าราคาแพง ค่าแรงถูก ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ อัตราเงินเฟ้อในระดับสูง ฯลฯ
แต่เราคงจะต้องยอมรับความจริงที่ว่า ภาคการส่งออกของไทยได้เติบโตขึ้นมาจนกลายเป็นภาคเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่มีความสำคัญกับภาคแรงงานและภาคการผลิตอื่นๆ เป็นอย่างยิ่งแล้วในปัจจุบัน โดยสัดส่วนของการส่งออกต่อ GDP ได้เติบโตขึ้นมาจากระดับราว 55 เปอร์เซ็นต์ ในปี พ.ศ.2541 มาอยู่ในระดับราว 72% ในปี พ.ศ.2551
และเราก็คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เราจะต้องอยู่กับสภาวะแบบนี้ไปอีกระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย ไม่ว่าเราอยากจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตของไทยให้หันมาเน้นการผลิตเพื่อ ป้อนตลาดภายในประเทศขนาดไหนก็ตาม
ด้วยโครงสร้างการกระจายตัวของราย ได้ที่ดูเหมือนจะบิดเบี้ยว ตลาดสินค้าในประเทศไทยที่มีจำนวนประชากรอยู่ในระดับกว่า 60 ล้านคน ดูเหมือนจะมีขนาดที่เล็กกว่าตลาดสินค้าในประเทศออสเตรเลียที่มีจำนวน ประชากรอยู่ราว 20 ล้านคน หรือมีประชากรราวหนึ่งในสามของประเทศไทย เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ในประเทศไทยขาดความสามารถในการซื้อหาสินค้า
โดย ส่วนตัวผมคิดว่า ถ้าเรายังแก้ปัญหาการรวยเป็นกระจุกของคนไทยไม่ได้ เราก็คงจะไม่สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตให้หันมาเน้นป้อนตลาดภายใน ประเทศได้ครับ
กลับมาว่ากันที่เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนอีกที ถ้าให้ความเป็นธรรมกับทางภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย ผมคิดว่าอัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทไทยในช่วงเวลาปกติไม่ได้มีความผันผวนใน ระดับที่เป็นอันตรายร้ายแรงนะครับ
จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศ ไทย ค่าเฉลี่ย Absolute Value ของการปรับตัวของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐรายเดือนใน ช่วงราว 3 ปีครึ่งที่ผ่านมา (ธันวาคม 2548-พฤษภาคม 2552) อยู่ในระดับ 1.21% ต่อเดือน
ที่ผมต้องใช้ค่า Absolute Value มาคำนวณ ก็เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการหักกลบกันของการปรับตัวเพิ่มขึ้นและการปรับ ตัวลดลงของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะทำให้ได้ค่าเฉลี่ยของการปรับตัวที่ต่ำกว่าความเป็นจริง แต่ทั้งๆ ที่ผมหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ไปแล้ว การปรับตัวของอัตราแลกเปลี่ยนก็ยังคงอยู่ในระดับแค่ 1.21% ต่อเดือนเท่านั้นครับ
มีความเป็นไปได้ว่า เราจะต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่ผู้ผลิตจะต้องใช้ในการผลิตสินค้า นั่นคือช่วงห่างระหว่างการนำเข้าสินค้าทุนจากต่างประเทศมาผลิตเป็นสินค้าส่ง ออกอาจจะต้องใช้เวลา 3 ถึง 6 เดือน และทำให้การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนรุนแรงมากกว่าการปรับ เปลี่ยนรายเดือน
แต่จากข้อมูลชุดเดียวกัน ค่าเฉลี่ย Absolute Value ของการปรับตัวของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐราย 3 เดือนก็ยังคงอยู่ที่ระดับราว 3 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ และราย 6 เดือนก็อยู่ที่ราว 5 % กว่าๆ ครับ
นี่เรายังไม่ได้รวมข้อเท็จจริง ที่ว่า ผู้ผลิตเพื่อส่งออกส่วนใหญ่น่าจะมีความสามารถในการขอสินเชื่อเพื่อทำสัญญา ซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศล่วงหน้ากับธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ได้ ซึ่งน่าจะทำให้การปรับตัวในอัตราแลกเปลี่ยนที่ผู้ส่งออกจะต้องรับรู้จริงๆ มีความผันผวนลดน้อยลงไปอีก
ในเรื่องของการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงิน บาทในระยะยาวอันนี้เราก็หลีกเลี่ยงมันไม่ได้ครับ ในเมื่อเราจะมุ่งเน้นเป็นประเทศผู้ส่งออก ค่าเงินบาทก็ต้องแข็งค่าขึ้นเป็นธรรมดาในระยะยาว ถ้าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่าช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป ผมก็ไม่เห็นว่ามันจะเป็นปัญหาแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม เรายังได้พบเห็นการปรับตัวของอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างผันผวนในช่วงต้นปี พ.ศ.2551 โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นราว 10% ภายในระยะเวลาน้อยกว่า 6 เดือน และนี่อาจนำมาซึ่งความเสียหายที่ไม่พึงประสงค์ที่ผมได้กล่าวเอาไว้ในตอนต้น ได้
ข้ออ้างที่บอกว่าเงินบาทในช่วงนั้นปรับตัวขึ้นตามปัจจัยพื้นฐาน ฟังไม่ขึ้นจริงๆ ครับ ผมดูไม่ออกว่าปัจจัยพื้นฐานอะไรเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้น กว่า 6 เดือน นอกจากนั้นเรายังได้เห็นการปรับตัวในทิศทางตรงกันข้ามอย่างสุดขั้วในระยะ เวลาอีกราว 6 เดือนถัดมา
นั่นคือเราได้เห็นอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท เทียบเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวจากระดับ 34.26 บาทต่อดอลลาร์ในเดือนกันยายน 2550 ไปแข็งค่าสุดที่ระดับราว 31 บาทต่อดอลลาร์ในเดือนมีนาคม 2551 และปรับตัวกลับมาสู่ระดับ 34.29 บาทต่อดอลลาร์อีกครั้งในเดือนกันยายน 2551
ถ้า มองกันด้วยสายตาที่เป็นธรรม ผมคิดว่าเราน่าจะเห็นตรงกันว่า การปรับตัวรูปแบบนี้เกิดขึ้นจากแรงเก็งกำไรระยะสั้นในค่าเงินบาทเทียบเงิน ดอลลาร์
และถ้าเรายอมรับว่าการปรับตัวดังกล่าวเกิดขึ้นมาจากแรง เก็งกำไร ซึ่งไม่น่าจะมุ่งหวังแค่กำไรส่วนต่างในระดับ 1-2% ต่อปี (ซึ่งคิดเป็นอัตราต่ำกว่า 0.0055% ต่อวัน) การกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทำการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ก็ไม่น่าจะทำให้แรงเก็งกำไรเหล่านี้จางหายไปแต่อย่างใด
ในทางตรงกัน ข้าม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงน่าจะส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของแรงเก็ง กำไรในตลาดหุ้นเข้าไปอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งยิ่งมีส่วนในการดึงดูดเงินพนันระยะสั้นให้ไหลเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มมาก ขึ้นไปอีก
ถ้าเราลองมองหาทางเลือกด้านนโยบายที่ประเทศไทยจะสามารถใช้ จัดการกับเงินพนันระยะสั้นเหล่านี้อย่างได้ผล ผมคิดว่าเรามีทางเลือกไม่มากนักครับ และหนึ่งในทางเลือกที่ชัดเจน นั่นคือการควบคุมการไหลเวียนของเงินลงทุนระยะสั้น หรือที่เรามักได้ยินหลายคนเรียกกันว่า Capital Control
ด้วยความ สัตย์จริง ผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องนี้ครับ แต่ผมเข้าใจว่า แม้แต่ในแวดวงนักเศรษฐศาสตร์ของโลกในปัจจุบัน เราก็ยังคงถกเถียงกันอยู่ว่า เราควรจะใช้มาตรการในลักษณะ Capital Control นี้กันบ้างหรือไม่
แน่ นอนครับ เราไม่ต้องการจำกัดเงินลงทุนในลักษณะเงินลงทุนระยะยาวจากต่างประเทศ ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกกันว่า Foreign Direct Investment (FDI) เพราะเงินลงทุนเหล่านี้มักจะนำมาซึ่งการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการผลิต ซึ่งมีผลดีในระยะยาว แต่ข้อถกเถียงยังคงมีอยู่ในเรื่องของเงินลงทุนระยะสั้น ซึ่งในหลายๆ ช่วงเวลามันได้ปรับเปลี่ยนตัวมันให้กลายเป็นเงินพนันระยะสั้น
ตั้งแต่ หลังยุควิกฤตต้มยำกุ้งในปี พ.ศ.2540 นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังหลายคนของโลกได้มองว่า การเปิดเสรีทางการเงินอาจจะไม่ได้นำมาซึ่งการเติบโตที่แข็งแกร่งของประเทศ นั้นๆ อีกต่อไปแล้วครับ โดยหัวหอกที่เห็นค้านกับการเปิดเสรีทางการเงินอย่างสุดโต่งและเห็นด้วยกับ มาตรการจำกัดการไหลเวียนของเงินทุนระยะสั้นก็คือ Joseph Stiglitz และ Dani Rodrick
โดยข้อโต้แย้งหลักๆ ของสองหัวหอกนี้ก็คือการเปิดเสรีทางการเงิน ส่งผลดีจริงภายใต้กรอบความคิดที่สมมติให้ข้อมูลข่าวสารมีการไหลเวียนอย่าง สมบูรณ์ แต่มันใช้ไม่ได้กับโลกแห่งความเป็นจริงที่เต็มไปด้วยความบกพร่องไม่เท่า เทียมกันของข้อมูลข่าวสาร
ในโลกที่เต็มไปด้วยความบกพร่องของข้อมูล ข่าวสาร การไหลเวียนของเงินลงทุนระยะสั้นในลักษณะเงินพนันระยะสั้นมักเกิดขึ้น เงินพนันเหล่านี้ก่อให้เกิดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่เกินจริง ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตจริง ทำให้ผู้ผลิตบางส่วนต้องออกจากตลาด ทำลายทุนมนุษย์บางส่วนที่ได้สะสมกันมาในประเทศนั้นๆ และก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อการเติบโตของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว
ฟัง ดูแล้ว เป็นทฤษฎีที่นักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปทำความเข้าใจได้ไม่ยากครับ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อโต้แย้งออกมาจากนักเศรษฐศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยนักกับ การจำกัดการไหลเวียนของเงินทุนระยะสั้น
เขียนไปเขียนมาทำท่าจะยาว ผมขออนุญาตนำเอาข้อถกเถียงเหล่านี้ (เท่าที่ผมได้รู้มา) มาบอกต่ออีกครั้งในโอกาสหน้าครับ
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 8 มิถุนายน 2552
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น