- ภาวิน ศิริประภานุกูล -
ด้วยความสัตย์จริง ผมงง และหงุดหงิดเป็นอย่างมากกับการปรับลดอัตรา ดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา รวมถึงข้อเสนอของนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสที่ผมเคารพหลายท่านซึ่งต้องการให้มีการปรับลดดอกเบี้ยในสัดส่วนที่สูงมากขึ้นไปอีก โชคดีที่ผมสามารถหาที่ระบายออกความหงุดหงิดในครั้งนี้ ไปได้บ้างแล้วในบทความเรื่อง 'บาทแข็ง หงุดหงิด' ในเว็บไซต์ onopen.com
มาถึงวันนี้การเห็นภาพการทำงานหนักของ ผู้ดำเนินนโยบายหลายๆ คนที่เกี่ยวข้องได้ทำให้ความรู้สึกหงุดหงิดลดลงไป ผมจึงขอร่วมถกเถียงการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ในครั้งนี้อย่างใจเย็นรวมทั้งขออินเทรนด์เสนอ ข้อเสนอในการแก้ปัญหาไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
ก่อนอื่นผมขอเริ่มต้นจากมุมมองของผมที่ทำให้ผมคิดว่าการแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่ารวดเร็วเกินไปด้วยการลดดอกเบี้ยลง ไม่น่าจะแก้ปัญหาได้ ซ้ำร้ายยังอาจก่อให้เกิดปัญหาที่หนักขึ้นกว่าเก่า
มุมมองนี้เหมือนกับที่ สรังสี ลิมปรังษี ได้เขียนเอาไว้ในบทความเรื่อง 'ข้อคิดเห็นเรื่องการแก้ปัญหาบาทแข็ง' ในเว็บไซต์ onopen.com ครับ มาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วได้ทำให้ไม่มีเม็ดเงินใหม่จากต่างประเทศไหลเข้ามาฝากเงิน และเก็งกำไรค่าเงินบาทอีกแล้ว
ทุกคนรู้ดีว่าการแข็งค่าของเงินบาทในครั้งนี้เกิดจากเม็ดเงินสองแหล่งหลักด้วยกัน หนึ่งคือ เม็ดเงินที่ไหลเข้ามาลงทุน อยู่ในตลาดหุ้นไทย จากข้อมูลในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกอบกับบทวิเคราะห์หลักทรัพย์จากบริษัท หลักทรัพย์เอเชียพลัส ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน ถึงวันที่ผมนั่งเขียนบทความอยู่นี้ (24 กรกฎาคม) มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทยราว 6.2 หมื่นล้านบาท คิดเป็น เงินดอลลาร์คร่าวๆ ได้เกือบ 2 พันล้านดอลลาร์ ในระยะเวลา 8 สัปดาห์
สอง คือเม็ดเงินจากผู้ส่งออกไทย จากเอกสารรายงานการค้าระหว่างประเทศของไทยในระยะ 5 เดือนของปี 2550 ของสำนักงานยุทธศาสตร์การพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ การส่งออก เฉพาะในเดือนพฤษภาคม 2550 มีมูลค่าทั้งสิ้นราว 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจาก ช่วงเดียวกันของปีก่อน 20.9 เปอร์เซ็นต์ ข้อมูลเบื้องต้นของกระทรวงพาณิชย์ยังระบุว่า การขยายตัวของการส่งออกเมื่อรวมเดือนมิถุนายน ยังคงอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่า 18 เปอร์เซ็นต์
ด้วยเหตุที่เม็ดเงินใหม่ที่ไหลเข้ามาในช่วงที่มีปัญหานี้มิใช่เม็ดเงินที่ไหลเข้าสู่ตลาดเงินฝาก หรือตราสารหนี้ การลดดอกเบี้ยในตอนนี้ ไม่น่าจะทำให้เกิดการไหลออกของเม็ดเงินจาก ต่างประเทศมากนัก ในทางตรงกันข้ามการลดดอกเบี้ย มักสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตลาดหุ้น การลดดอกเบี้ยทำให้ต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจ ลดต่ำลง ทำให้มุมมองต่อการทำธุรกิจในอนาคตสดใสขึ้น ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่จะนำมาคิดลด รายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตลดต่ำลง ฯลฯ มูลค่าพื้นฐานหุ้นแต่ละตัวในตลาดหลักทรัพย์ฯ น่าจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และจะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนใหม่ไหลเข้ามาสู่ตลาดหุ้นเพิ่มเติมอีก
การหวังเพิ่มอุปสงค์เงินดอลลาร์ภายในประเทศจากดอกเบี้ยที่ลดลงจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาครับ นักเศรษฐศาสตร์ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า การปรับตัวในภาคธุรกิจจริงอาศัยระยะเวลา นานกว่าการไหลเวียนของเงินทุนหลายเท่าตัว การลดดอกเบี้ยเพื่อหวังกระตุ้นการบริโภค และการลงทุน จำเป็นต้องอาศัยระยะเวลา และไม่สามารถพึ่งพาในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้นได้
การหวังให้ภาคธุรกิจรีไฟแนนซ์เงินกู้จากต่างประเทศ ผมว่าอาจหวังได้แต่ไม่น่าจะคิดเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาล ผมไม่คิดว่านักธุรกิจไทยไม่ฉลาดครับ พวกเขาลงทุนหาความรู้และข้อมูล ข่าวสารเกี่ยวกับทิศทางการปรับตัวของค่าเงินบาทพอสมควร เพราะมันมีผลกระทบต่อรายได้ของพวกเขา ดังนั้นการตัดสินใจกู้เงินจากต่างประเทศในระดับปัจจุบันมิใช่การตัดสินใจที่ไร้สติ
การบังคับให้รัฐวิสาหกิจในการควบคุมของ ภาครัฐรีไฟแนนซ์หรือใช้คืนเงินกู้อาจเกิดขึ้นได้ แต่เราเริ่มเห็นข่าวเกี่ยวกับปัญหาติดขัดบางอย่าง นอกจากนั้นผมยังคิดว่ารัฐวิสาหกิจบางแห่งก็คง ไม่อยากจะใช้คืนเงินกู้ต่างประเทศในช่วงนี้ด้วยส่วนหนึ่งครับ ก็เหมือนกับในภาคธุรกิจผู้บริหาร รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ฉลาด การตัดสินใจกู้เงินต่างประเทศในระดับปัจจุบันคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่าง รวมทั้งการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทเอาไว้แล้ว
การลดดอกเบี้ยปล่อยเงินบาทท่วมตลาดเพียงอย่างเดียวไม่น่าจะสามารถแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่าในระยะสั้นได้ ซ้ำร้ายยังอาจชักนำเม็ดเงินใหม่ให้ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มเติมด้วย
ผมคิดว่าผมเข้าใจความคิดของนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสหลายท่านที่เห็นว่า ปัญหาค่าเงินบาทในช่วงนี้เป็นปัญหาในระยะสั้น เมื่อการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศฟื้นตัว ประกอบกับโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ เริ่มเข้าสู่ช่วงดำเนินการ ปัญหาเงินบาทแข็งค่า จะคลี่คลายลง ดังนั้นการปล่อยให้เงินบาทท่วมตลาดในช่วงสั้นๆ นี้ ก่อนที่จะดูดซับเงินบาทกลับเข้าไปใหม่น่าจะทำให้เกิดการแก้ปัญหาในระยะสั้น ที่ได้ผล
ในความคิดของผมการลดดอกเบี้ยอย่างเดียวไม่น่าจะเพียงพอ หากเราต้องการแก้ปัญหาค่า เงินบาทในระยะสั้นอย่างรวดเร็วจริงๆ เราต้องปล่อยเงินบาทให้ท่วมตลาดเป้าหมาย นั่นคือ ปล่อยมันลงไปในตลาดซื้อขายเงินตราต่างประเทศครับ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องใส่เงินบาทใหม่ เข้าไปซื้อเงินดอลลาร์มาเก็บไว้รอเวลาที่เรา คิดว่าเข้าสู่สภาวะปกติก็ขายเงินดอลลาร์ออกไปเพื่อดูดซับเงินบาท กลับเข้าไปเหมือนเดิม
ผมไม่เคยคิดที่จะสนับสนุนนโยบายแบบนี้ อย่างแน่นอน ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นตลาดที่มีความเสี่ยงสูง คาดเดาทิศทางได้ยากกว่าตลาดหุ้นเสียอีก มาตรการดังกล่าวอาจได้ผลในการชะลอการแข็งค่าของค่าเงินบาทจริง แต่มีความเสี่ยงทางด้านต้นทุนของนโยบายที่สูงมากครับ
ในทางกลับกันผมคิดว่าวิธีการที่จะแก้ปัญหา ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างได้ผลที่สุดคือการแข็งใจ ไม่ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม หรือบางทีอาจต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยด้วยซ้ำครับ อัตราดอกเบี้ยที่สูงจะปรับลดระดับความน่าสนใจของตลาดหุ้น และหวังว่าระดับความน่าสนใจที่ลดลงจะนำมาซึ่งการไหลออก ของเงินลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งมันเกิดขึ้นได้เร็ว ในปริมาณมหาศาล
นอกจากนั้นการเข้าไปดำเนินการควบคุมต้นตอของปัญหาทั้งสองทางอย่างจริงจังน่าจะเป็นวิธีการที่น่าสนใจมากกว่า มาตรการที่ชะลอเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นโดยตรง จะเป็นวิธีการที่น่าจะได้ผลในการแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็งได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากที่สุด ยิ่งถ้าหากเป็นมาตรการที่ส่งผลให้เกิดเงินทุนต่างประเทศไหลออก ยิ่งน่าจะทำให้เราแก้ปัญหาบาทแข็งได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ
ในด้านการส่งออก ผมคิดว่านี่เป็นโอกาสที่ดี ที่เราจะปรับปรุงโครงสร้างภาคการผลิต ให้หันกลับมาสนใจตลาดในประเทศให้มากยิ่งขึ้น มาตรการที่น่าสนใจคือการส่งเสริมการปรับตัว เพื่อขยายตลาดในประเทศทดแทนรายได้ที่ขาดหายไปจากตลาดต่างประเทศ นอกจากนั้นการส่งสัญญาณที่ถูกต้องด้วยปริมาณการส่งออกที่ลดลงจะช่วยแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าได้มากกว่า
ผมไม่เคยคิดว่าเราจะสามารถแก้ปัญหาทุกอย่างที่มันเกิดขึ้นได้พร้อมๆ กันอย่างสวยงามเหมือนฝัน สุดท้ายเราจำเป็นต้องเลือก ถ้าเรามองการแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาทเป็นปัญหา เราจำเป็นจะต้องควบคุมการไหลเข้าออกของเงินทุนต่างประเทศ ซึ่งนับวันมันจะมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น และเคลื่อนตัวเร็วขึ้นทุกทีๆ ถ้าเรามองว่าค่าเงินบาทแข็งค่าเกินไป เราก็จำเป็นที่จะต้องทำให้คนอื่นเห็นว่ามันเป็นระดับที่ก่อให้เกิดปัญหากับเราจริงๆ ไม่ใช่บอกเขาว่าเงินบาทแข็งค่าจนเป็นปัญหาในขณะที่การส่งออกของประเทศยังขยายตัวอยู่ในระดับสูงกว่า 18 เปอร์เซ็นต์
ในกรณีของมาตรการเพิ่มเติมที่ถูกประกาศออกมาก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับการตอบรับที่ดีแต่อย่างใด นอกจากนั้นผมยังคิดว่ามาตรการหลายอย่างส่งผลเสียมากกว่าผลดีในระยะยาวครับ
การอนุญาตให้ผู้ส่งออกและผู้มีรายได้เป็นเงินตราสกุลต่างประเทศสามารถถือเงินดอลลาร์ได้ยาวนานขึ้น รวมถึงการอนุญาตให้เปิดบัญชีเงินฝากเป็นสกุลต่างประเทศได้ ไม่แตกต่างอะไรไปจากมาตรการบังคับขายเงินดอลลาร์ภายใน 7 วันที่เกิดขึ้นมาในช่วงวิกฤตเงินบาทอ่อนค่าในรอบที่แล้ว ผู้ส่งออกและผู้ที่มีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศ ไม่สนใจที่จะทำตามมาตรการเหล่านี้ครับ
ในระยะยาวมาตรการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการแก้ปัญหาค่าเงินบาทในกรณีที่เกิดปัญหากลับด้านกัน การอนุญาตให้ถือครองเงินดอลลาร์ยาวนานขึ้น จะถูกใช้ในกรณีเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่า และในตอนนั้นเราก็จะมีปัญหาเพราะ ผู้ส่งออกไม่ยอมขายเงินดอลลาร์เพื่อชะลอ การอ่อนค่าของเงินบาท
มาตรการเหล่านี้ยังมักก่อให้เกิดความไม่แน่นอนในตลาดเกิดขึ้น และสร้างพฤติกรรมที่มีต้นทุนสูงผิดปกติติดตามมา ในช่วงเงินบาทแข็งค่า ผู้ส่งออกอาจเสี่ยงถือเงินดอลลาร์รอลุ้นนโยบายเฉพาะหน้าในอดีตที่อาจเปลี่ยนไป และอาจทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ เมื่อมาตรการที่ออกใหม่ ไม่ได้ผล ผลลัพธ์ที่อาจติดตามมาคือ การขาดทุนอย่างมหาศาลครับ
ผมขอเสนอนโยบายที่น่าจะส่งผลดีกว่าการทำให้เงินบาทอ่อนค่าเสียอีก นั่นคือบังคับให้ ผู้ส่งออกทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทันทีที่ตนเองได้รับคำสั่งซื้อสินค้าที่แน่นอน หรือบังคับการทำประกันความเสี่ยงภายใน ระยะเวลาที่กำหนดแคบๆ วิธีนี้เป็นวิธีการ ปกป้องผู้ส่งออก และลดสภาวะความไม่แน่นอน ของพวกเขาลงไปได้
นอกจากนั้นนโยบายแทรกแซงตลาดทั้งตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและตลาดหุ้นควรจะกำหนดออกให้เป็นกฎ เหมือนกฎในการเล่นเกมครับ บอกเอาไว้เลยให้ชัดเจนว่าในกรณีบาทแข็งค่าเร็วเกินไปมาตรการนี้ จะส่งผลให้มีต้นทุนในการนำเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามายังประเทศไทย ในขณะที่ถ้าหากกรณีปัญหาจบสิ้นลงมาตรการนี้จะยกเลิกตนเองอัตโนมัติ และถ้าหากเกิดกรณีที่กลับด้านกัน เงินบาทอ่อนค่าเร็วเกินไป มาตรการเดียวกันนี้จะนำมาซึ่งการสนับสนุนส่งเสริมเงินไหลเข้า
การกำหนดมาตรการแบบนี้ทำให้ผู้ที่มี ส่วนเกี่ยวข้องสามารถวางแผนการได้ล่วงหน้า ไม่ต้องรอลุ้นการพลิกกลับไปกลับมาของตัวมาตรการ นำมาซึ่งพฤติกรรมที่มีประสิทธิภาพ สูงกว่าการออกมาตรการที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่มีลักษณะถาวร และรอวันเปลี่ยนแปลง ในกรณีที่เกิดปัญหาที่กลับด้านกันขึ้นมาในอนาคต
ตีพิมพ์ครั้งแรก: คอลัมน์ 'มองซ้ายมองขวา' หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2550
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น