- ภาวิน ศิริประภานุกูล -
ในช่วงราวหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสอ่านงานเขียนเกี่ยวกับการใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของ Olivier Blanchard ผู้อำนวยการฝ่ายงานวิจัยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คนปัจจุบัน ผมคิดว่าแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์สำนักเคนเซี่ยนอย่าง Blanchard ในยุคปัจจุบันนี้มีพัฒนาการที่น่าสนใจมากครับ
ดังนั้นในบทความนี้ ผมจะขอเล่าที่มาที่ไปของกรอบความคิดเกี่ยวกับการใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจในช่วงสามสิบถึงสี่สิบปีที่ผ่านมา และจะปิดท้ายด้วยวิธีคิดของ Blanchard ตามที่ผมเข้าใจจากบทความต่างๆ ในช่วงหลังของเขา
ในช่วงราวสามถึงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา กรอบความคิดในเชิงนโยบายของสำนักเคนเซี่ยนดั้งเดิมได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในเรื่องของความน่าเชื่อถือ เนื่องจากตัวผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจตามกรอบความคิดนี้มีความฉลาดน้อยเกินกว่าผู้คนในสภาพความเป็นจริงมากครับ
ยกตัวอย่างเช่นตัวผู้บริโภค ไม่ว่านโยบายเศรษฐกิจจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ไม่ว่าสภาพแวดล้อมของระบบเศรษฐกิจจะปรับตัวไปมากขนาดไหน ไม่ว่ามุมมองในอนาคตจะผันแปรไปเช่นไร ฯลฯ ผู้บริโภคตามกรอบความคิดของสำนักเคนเซี่ยนจะปรับเปลี่ยนปริมาณการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของตนเป็นสัดส่วนที่คงที่ต่อรายได้ของพวกเขา
สมมติว่าข้อมูลในอดีตระบุว่าในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาคนไทยมีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคในสัดส่วน 60 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด กรอบความคิดของสำนักเคนเซี่ยนนี้จะสมมติให้ตัวสัมประสิทธิ์ดังกล่าวมีค่าคงที่ โดยถ้าหากภาครัฐบาลเก็บภาษีจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 100 บาท ผู้บริโภคตามกรอบความคิดนี้ก็จะลดการบริโภคลง 60 บาท และในทางตรงกันข้าม ถ้าหากรัฐบาลให้เงินอุดหนุนแก่ผู้บริโภค (หรือลดภาษีลง) จำนวน 100 บาท ผู้บริโภคก็จะเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคขึ้น 60 บาท
ข้อสมมติในลักษณะนี้ถูกโจมตีครั้งสำคัญ โดยบทความที่ถูกเรียกกันในภายหลังว่าคำวิจารณ์ของ robert lucas นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล ปี ค.ศ.1995 ที่ตั้งข้อสังเกตว่าผู้บริโภคในความเป็นจริงจะไม่รักษาสัดส่วนค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคที่คงที่เหมือนกับที่ข้อสมมติตามกรอบความคิดของสำนักเคนเซี่ยนข้างต้นครับ
ผู้บริโภคในความเป็นจริงฉลาดมากพอที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากรัฐบาลจัดเก็บภาษีจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 100 บาท ในช่วงที่ระบบเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาขึ้น ผู้บริโภคอาจไม่ได้ลดการใช้จ่ายของตนเองลงในสัดส่วนเดียวกันกับการที่รัฐบาลจัดเก็บภาษีเพิ่ม 100 บาท ในช่วงระบบเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง
ในทางตรงกันข้าม การให้เงินอุดหนุนแก่ผู้บริโภค 100 บาท ในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาขึ้น อาจทำให้ผู้บริโภคนำเงินจำนวน 60 บาท ออกมาใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นจริง แต่การให้เงินอุดหนุนแก่ผู้บริโภค 100 บาท ในช่วงสภาวะเศรษฐกิจหดตัว ผู้บริโภคอาจแทบไม่นำเงินจำนวนนี้ออกมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเลยเสียด้วยซ้ำ
มีหลักฐานในเชิงประจักษ์มากมายที่ยืนยันว่าการให้เงินอุดหนุนแก่ผู้บริโภคในช่วงสภาวะเศรษฐกิจหดตัวจะทำให้ผู้บริโภคกลุ่มใหญ่นำเงินที่ได้รับเพิ่มเติมนี้ไปใช้เก็บออมเพื่อการณ์ฉุกเฉิน (Precautionary Saving) มากกว่าที่จะนำมาใช้จับจ่ายตามสัดส่วนเดียวกันกับในช่วงเวลาปกติ
ปัญหาของกรอบความคิดแบบสำนักเคนเซี่ยนไม่ได้จำกัดอยู่แค่ข้อสมมติของตัวผู้บริโภคเพียงเท่านั้นครับ แต่มันยังรวมไปถึงข้อสมมติอื่นๆ เกี่ยวกับนักลงทุนและภาคการค้าระหว่างประเทศด้วย และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคหรือนักลงทุนในลักษณะนี้มีผลกระทบเป็นอย่างมากต่อข้อสรุปเกี่ยวกับผลกระทบของนโยบายภาครัฐต่างๆ
การให้เงินอุดหนุนผู้บริโภคหรือการลดภาษีเงินได้ของรัฐบาลอาจไม่ได้ส่งผลกระทบในการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจมากนักในช่วงสภาวะวิกฤต เนื่องจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคส่วนใหญ่อาจไม่ถูกนำมาใช้สอยหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ค่าตัวคูณต่างๆ ที่ถูกประเมินออกมาตามกรอบความคิดของสำนักเคนเซี่ยนจึงน่าจะผิดเพี้ยนไปแทบจะทั้งหมด
ด้วยวิธีคิดแบบนี้ Lucas จึงเรียกร้องให้กรอบความคิดเศรษฐกิจมหภาคในยุคใหม่ใส่ใจกับการปรับตัวของผู้บริโภคและนักลงทุนในระบบเศรษฐกิจด้วยครับ ผลลัพธ์ที่ติดตามมาก็คือกรอบทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาครูปแบบใหม่ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จุลภาค (Micro-foundation) ที่มีลักษณะยุ่งยากและซับซ้อนกว่ากรอบความคิดของสำนักเคนเซี่ยนเป็นอย่างมาก
แต่ผมเข้าใจว่านักเศรษฐศาสตร์แทบทั้งหมดเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยตัวผู้บริโภคหรือนักลงทุนตามกรอบทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จุลภาคนั้นจะมีความฉลาดเพิ่มมากขึ้น พวกเขาจะปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งก็น่าจะทำให้ผลลัพธ์จากการประเมินผลกระทบของนโยบายภาครัฐต่างๆ มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่ติดตามมาอย่างหนึ่งก็คือกรอบความคิดแบบใหม่นี้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์จำเป็นจะต้องทำการกำหนดระดับความฉลาดของตัวผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจควบคู่กันไปด้วย เราจะต้องกำหนดว่าตัวผู้เล่นต่างๆ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจมากขนาดไหน โดยผลลัพธ์จากการที่ตัวผู้เล่นมีความรู้ความเข้าใจในระดับต่างๆ จะออกมาในลักษณะที่แตกต่างกัน
การกำหนดระดับความฉลาดในลักษณะที่ง่ายที่สุดก็คือการกำหนดว่าผู้เล่นตามกรอบความคิดนี้มีความฉลาดมากที่สุด นั่นคือการสมมติให้พวกเขามีความรู้ความเข้าใจในระบบเศรษฐกิจรอบตัวอย่างสมบูรณ์ (Perfect Rational) โดยผลลัพธ์จากกรอบทฤษฎีลักษณะนี้อาจถูกมองว่าเป็นอีกขั้วตรงกันข้ามกับผลลัพธ์จากการวิเคราะห์ตามกรอบความคิดของสำนักเคนเซี่ยนก็ได้ครับ
ซึ่งผลลัพธ์อย่างหนึ่งที่เราได้จากกรอบทฤษฎีนี้ก็คือการที่นโยบายการคลังจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ เลยต่อระบบเศรษฐกิจ ดังที่ถูกเรียกกันติดปากในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ด้วยกันว่า Ricardian Equivalence
เมื่อได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ผู้บริโภคตามกรอบความคิดนี้จะมีความรู้ความเข้าใจว่าในอนาคตรัฐบาลจะต้องเพิ่มระดับการจัดเก็บภาษีเพื่อนำไปใช้คืนหนี้ที่รัฐบาลก่อขึ้นเพื่อนำมาใช้จ่ายตามนโยบายเงินอุดหนุนดังกล่าว ดังนั้นตัวผู้บริโภคจะนำเงินอุดหนุนที่ได้ไปเก็บออมไว้ทั้งหมดเพื่อจะนำเงินออมดังกล่าวไปจ่ายภาษีให้กับรัฐบาลในอนาคต
นั่นคือตาม Ricardian Equivalence นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ไม่ว่ารูปแบบไหนจะส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของการออมเพียงอย่างเดียว จะไม่มีผลกระทบใดๆ เลยต่อการใช้จ่ายของตัวผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งก็ทำให้ไม่เกิดผลใดๆ เลยต่อการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน
แน่นอนว่านักเศรษฐศาสตร์สำนักเคนเซี่ยนในยุคหลังไม่เชื่อใน Ricardian Equivalence ครับ อย่างไรก็ตาม พวกเขาเห็นด้วยกับกรอบความคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จุลภาค ดังนั้นนักเศรษฐศาสตร์สำนักเคนเซี่ยนในยุคหลังจึงพยายามหาส่วนประกอบต่างๆ ที่มีความใกล้เคียงกับโลกแห่งความเป็นจริง แต่จะทำให้ผลลัพธ์ในลักษณะ Ricardian Equivalence ไม่เกิดขึ้นในกรอบทฤษฎีของพวกเขา
เราจึงอาจเคยได้ยินคำอธิบายเช่นว่า การที่ผู้บริโภคมองเห็นผลกระทบแค่เพียงในระยะสั้นๆ (Myopia) หรือไม่ได้เข้าใจการทำงานของระบบเศรษฐกิจโดยสมบูรณ์ ทำให้พวกเขาปรับเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคขึ้นภายหลังจากการได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลในช่วงเวลาที่ระบบเศรษฐกิจเกิดการหดตัว หรือในช่วงเวลาอื่นๆ ที่รัฐบาลต้องการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ การปรับเพิ่มการใช้จ่ายดังกล่าวจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจขยายตัวขึ้นได้ในระยะเวลาสั้นๆ ตามกรอบความคิดของสำนักเคนเซี่ยนดั้งเดิม ถึงแม้ว่าขนาดของผลกระทบจะอยู่ในระดับที่ลดต่ำลง
คำอธิบายอีกประการหนึ่งที่น่าสนใจก็คือการที่ตัวผู้บริโภคจริงๆ แล้วมีความต้องการนำรายได้ในอนาคตของพวกเขามาใช้จ่ายในปัจจุบันครับ แต่พวกเขามีปัญหาในการเข้าถึงตลาดสินเชื่อ ดังนั้นการจ่ายเงินอุดหนุนของรัฐบาลจะทำให้ผู้บริโภคลักษณะนี้ปรับเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของตนเองขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการจ่ายเงินอุดหนุน
งานศึกษาเชิงประจักษ์ของนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ในระยะหลังจึงให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับการออมเพื่อการณ์ฉุกเฉินไปพร้อมๆ กันกับการเปลี่ยนแปลงของระดับการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคในการวิเคราะห์หาผลกระทบของการใช้นโยบายภาครัฐในการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจในลักษณะต่างๆ งานศึกษาเชิงประจักษ์ในระยะหลังของตัว Blanchard เองก็จัดอยู่ในลักษณะนี้เช่นเดียวกันครับ
นอกจากนั้นเราก็ยังได้เห็นงานเขียนในเชิงข้อแนะนำการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของ Blanchard ซึ่งเขียนร่วมกับผู้ร่วมงานคนอื่นๆ ในกองทุนการเงินระหว่างประเทศในชื่อว่า Fiscal Policy for the Crisis (Download ได้ฟรีจากเว็บไซต์ของ IMF หรือของตัว Blanchard เองครับ) ที่ให้ความสำคัญกับรายละเอียดปลีกย่อยในการประกาศใช้นโยบายการคลังมากยิ่งขึ้น
ยกตัวอย่างเช่นมีการเสนอให้รัฐบาลประกาศใช้นโยบายจ่ายเงินอุดหนุนให้กับเฉพาะผู้บริโภคในกลุ่มเป้าหมาย ที่ตกงาน มีรายได้น้อย หรือมีปัญหาในการเข้าถึงแหล่งกู้ยืมเงิน เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มที่ปรับเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของตนขึ้นมากกว่าผู้บริโภคในกลุ่มอื่นๆ ภายหลังจากการได้รับเงินอุดหนุนจากทางรัฐบาล เป็นต้น
พัฒนาการที่เราได้เห็นนี้น่าจะเรียกได้ว่าเป็นผลลัพธ์จากการถกเถียงกันในหมู่นักเศรษฐศาสตร์จากขั้วต่างๆ ครับ ผมคิดว่าพัฒนาการลักษณะดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดี และจะเป็นตัวผลักดันให้กรอบความคิดของนักเศรษฐศาสตร์ในอนาคตเข้าใกล้กับโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้นไปเรื่อยๆ
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 3 สิงหาคม 2552
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น