ภาวะเศรษฐกิจที่ส่อเค้าปั่นป่วนไปทั่วโลก อันเนื่องมาจากภาวะการถดถอยจากวิกฤตเศรษฐกกิจโลก รวมถึงวิกฤตหนี้ในยุโรปส่อเค้าไม่ยุติลงง่าย ๆ น่าจะส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจของหลายประเทศอยู่ในภาวะอ่อนแอ ขณะที่ประเทศไทยจากวิกฤตทางการเมืองได้ลุกลามจนอาจกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจได้ง่ายๆ สิ่งที่จะตามมาจากภาวะวิกฤตเช่นนี้ก็คือ การซื้อกิจการ การควบรวมกิจการจะมีมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างความอยู่รอดขององค์กร และอีกส่วนหนึ่งเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้มีมากขึ้น หากมองไปนอกบ้านเราก่อน อย่างสเปนเมื่อไม่นานมานี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ เรียกร้องให้สเปนปฏิรูปตลาดแรงงานในช่วงที่เริ่มควบรวมกิจการภาคนาคารเข้าด้วยกัน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งใหห้กับสินทรัพย์ และความสามารถในการชำระหนี้ร่วมกัน ซึ่งรัฐบาลก็ได้ตอบรับคำแนะนำดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น การประกาศใช้มาตรการลดค่าใช้จ่ายลง โดยส่วนหนึ่งจะตัดลดเงินเดือนข้าราชการลง 5% เพื่อประหยัดเงินให้ได้ราว 1.525 หมื่นล้านยูโรในช่วง 2 ปี และอีกส่วนหนึ่งก็คือ การที่ธนาคารกลางสเปนเข้าไปเทกโอเวอร์ธนาคารท้องถิ่น "กามาชูร์" ซึ่งมีสถานะง่อนแง่น และไม่สามารถควบรวมกิจการกับธนาคารอื่นได้สำเร็จ ล่าสุด ธนาคารออมทรัพย์ในสเปน 4 แห่งได้ประกาศว่าจะเดินหน้าแผนการควบรวมกิจการกัน ได้แก่ ธนาคารกามัสตูร์ ธนาคารกามา เดอ ออออร์โรส เอลเมดิเตอร์รานิโอ ธนาคารกามาเอ๊กซ์เตรมาดูรา และธนาคารกามาคันตาเบรีย โดยทั้ง 4 ธนาคารระบุว่าได้บรรลุข้อตกลงที่จะรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับสินทรัพย์ และความสามารถในการชำระหนี้ร่วมกัน ขยับมาถึงอุตสาหกรรมการบินบ้าง เมื่อราวต้นเดือนพฤษภาคม สายการบินสหรัฐฯ 2 แห่งคือ ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ และคอนติเนนตัล แอร์ไลน์ ได้ตกลงที่จะควบรวมกิจการกันเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับการแข่งขันในอุตสาหกรรมสายการบิน หลังจากอุตสาหกรรมประสบภาวะถดถอยจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยสายการบินใหม่หลังจากควบรวมกิจการแล้วจะบินในชื่อของยูไนเต็ด แอร์ไลน์ และจะกลายเป็นสายการบินใหญ่ที่สุดในโลกด้วยมูลค่าทางการตลาด 6.75 พันล้านดอลลาร์ ภายหลังการควบรวมจะทำให้สายการบินดังกล่าวครองส่วนแบ่งการตลาดในสหรัฐฯ 21% และในตลาดโลก 7% มากกว่าเดลต้า ปแอร์ไลน์ ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาด 6% โดยคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการปีละ 144 ล้านคน ใน 370 เส้นทางบินใน 59 ประเทศ อีกทั้งจะช่วยให้สายการบินขยายบริการไปยังเอเชีย ยุโรป ละตินอเมริกา และตะวันออกกลางได้มากขึ้น ขณะเดียวกันบริติช แอร์เวย์ของอังกฤษกำลังเป็นพันธมิตรกับสายการบินไอบีเรียของสเปนเช่นเดียวกัน กลับมายังบ้านเราบ้าง เมื่อวานนี้ (1 มิ.ย.) มีข่าวใหญ่ชิ้นหนึ่งที่สร้างกระแสการตื่นตัวในวงการค้าปลีกเมืองไทย เมื่อตระกูล "ซอโสตถิกุล" เจ้าของศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ข้ามฟากมาซื้อศูนย์การค้า ฟิวเตอร์พาร์ค บางแค กิจการค้าปลีกย่านฝั่งธน ด้วยวงเงินลงทุน 2,500 ล้านบาท โดยหวังใจว่าจะยกระดับแหล่งการค้าย่านบางแคที่ลมหายใจกำลังรวยรินแห่งนี้ให้เป็นศูนย์ที่ทันสมัย และใหญ่ที่สุด เมื่อเทียบกับคู่แข่งย่านนี้ คาดว่าจะเปิดศูนย์ในเดือนส.ค.นี้ เพื่อให้ทันเปิดโฉมใหม่ ภาพลักษณ์ใหม่ และชื่อใหม่ต้นปีหน้า เหตุผลที่ทำให้เจ้าพ่อค้าปลีกย่านศรีนครินทร์กระโดดเข้ามาเทกโอเวอร์ครั้งนี้ ก็เพื่อเป็นทางลัดในการขยายกิจการค้าปลีกของตนเองให้ครอบคลุมพื้นที่ย่านอื่นๆ เพราะลำพังการจะไปหาซื้อที่ดินผืนใหญ่ๆ แปลงงามๆ ในช่วงเวลานี้ใช่ว่าจะหาได้ง่ายๆ แถมยังต้องใช้เวลาอีกหลายต่อปีกว่าจะก่อสร้างเสร็จ การได้พื้นที่ค้าขายจำนวนกว่า 3 แสนตารางเมตร และบรรดาผู้ค้าปลีกอีกจำนวนหนึ่งจึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ถัดมาอีกธุรกิจที่เพิ่งมีการซื้อกิจการกันไปหมาดๆ แม้วันนี้จะยังไม่เรียบร้อยดีกว่าก็ตาม เพราะวันที่ 8 มิ.ย. ที่จะถึงนี้จะเป็นวันสุดท้ายที่คำเสนอเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ ของกลุ่มเป๊ปซี่โค ของสหรัฐฯ เพื่อเข้าเทกโอเวอร์กิจการของบริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) เจ้าพ่อน้ำดำเมืองไทย ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นจะครบกำหนด ซึ่งจะเป็นวันชี้ชะตาว่าเสริมสุขจะเป็นบริษัทใต้อานัติอย่างเต็มตัวของเป๊ปซี่โคหรือไม่ แต่สิ่งที่น่าสนใจของการควบรวมนี้คือ เกมที่ตอนแรกทำท่าจะเป็นการควบรวมแบบฉันมิตร ทำไปทำมากลายเป็นการควบรวมกิจการแบบปรปักษ์ หลังจากที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ หรือ IFA ออกคำสรุปมาว่า ราคาที่เป๊ปซี่โคเสนอมาที่ 29 บาทต่อหุ้นนั้น น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับความแข็งแกร่งของบริษัทที่น่าจะอยู่ที่ 41 บาท ก่อนที่จะไปดูการควบรวมบริษัทอื่น ขอย้อนดูยุทธศาสตร์การเดินเกมซื้อหุ้นของเป๊ปซี่โค จากบริษัทเสริมสุข ซึ่งเป็นบอทเทิลลิง (Bottling) หรือผู้บรรจุขวดและจัดจำหน่ายให้เป๊ปซี่ การเดินยุทธศาสตร์ของเป๊ปซี่ในครั้งนี้ เป็นการปรับโมเดลการดำเนินธุรกิจในฐานะยักษ์ใหญ่ผู้ประกอบการเครื่องดื่มน้ำอัดลม สู่การเข้าซื้อกิจการผู้บรรจุขวดและจัดจำหน่าย เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเป๊ปซี่เข้าไปซื้อกิจการบอทเทิลลิง 2 แห่งและพยามยามจะทำให้เกิดขึ้นในประเทศไทย การขับเคลื่อนครั้งสำคัญนี้ เพราะเป๊ปซี่วางเป้าหมายขยายพอร์ตโฟลิโอกลุ่มนอนคาร์บอเนตหรือเครื่องดื่มปราศจากการอัดลม จากการมีสินค้ากว่า 100 ราย และหลากหลายแคทิกอรี อาทิ กลุ่มเครื่องดื่มน้ำผลไม้ 10-100% กลุ่มเครื่องดื่มเกลือแร่ เครื่องดื่มผสมวิตามิน ขนมขบเคี้ยว นอกเหนือจากการทำตลาดเครื่องดื่มน้ำอัดลมในไทยเพียงอย่างเดียว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เป๊ปซี่ ต้องการขยายสินค้ากลุ่มนอนคาร์บอเนต เพราะตลาดน้ำอัดลมในไทยแม้ว่าเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากน้ำดื่ม โดยมีมูลค่า 3 หมื่นล้านบาท แต่ทว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลาดเริ่มอิ่มตัว จากการเติบโต 4-5% เท่านั้น ประกอบกับกระแสสุขภาพที่มาแรง และพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สภาพตลาดเครื่องดื่มมีการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรง เมื่อปีที่ผ่านมา มีเครื่องดื่มใหม่ 400-500 ตัวลงสู่ตลาด ขณะที่เป๊ปซี่มีเครื่องดื่มเพียงไม่กี่ตัวในประเทศไทย คือ น้ำอัดลม เครื่องดื่มเกลือแร่เกเตอเรด ลิปตันชาดำพร้อมดื่ม น้ำผลไม้ทวิสเตอร์กลุ่มขนมขบเคี้ยว มันฝรั่งทอดกรอบเลย์ และตะวัน เท่านั้น "เป๊ปซี่" วางเป้าหมายการเข้าซื้อหุ้นเสริมสุขใน 2 กรณี คือสามารถซื้อหุ้นเสริมสุขได้ทั้งหมด 100% จากเดิมที่เป๊ปซี่ถือหุ้นในบริษัทเสริมสุข 42% จากก่อนหน้านี้เมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมาถือหุ้นเพียง 25% เท่านั้น จะต้องใช้เม็ดเงิน 4,500 ล้านบาทซื้อหุ้นที่เหลือในสัดส่วน 58% จากราคาเสนอขายหุ้น 29 บาทต่อหุ้น ซึ่งหุ้น 58% แบ่งเป็น ตระกูลบุลสุขถือหุ้น 7% โอสถานุเคราะห์15% และ 36% เป็นอื่นๆ หรืออีกกรณีกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ด้วยสัดส่วนเท่าใดก็ตาม "ตามแผนที่เป๊ปซี่วางไว้เตรียมใช้งบลงทุน 6-7 พันล้านบาทของเสริมสุข และเงินของบริษัทเป๊ปซี่โคบางส่วน ในกรณีที่ฮุบบริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้วผ่านการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รองรับการขยายการผลิตสินค้าอื่นๆ พร้อมกับการยกระดับโรงงานและเครื่องจักร การลงทุนด้านไอทีเป็นต้น และวางแผนสร้างโรงงานแห่งใหม่ขึ้นมาในอีก 18 เดือนข้างหน้านี้" แผนการเข้ามาฮุบเสริมสุข ซึ่งเป็นบริษัทบอทเทิลลิงในประเทศไทย อาจเป็นโมเดลธุรกิจต้นแบบ ที่เป๊ปซี่ทดลองตลาดนอกเหนือจากอเมริกา โดยเลือกเป้าหมายมาที่ไทยเพราะเป็นตลาดที่มีศักยภาพใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเป๊ปซี่โคในเอเชีย รองจากอินเดียและจีนอันดับหนึ่ง อีกทั้งยังมีดีกรีเป็นผู้นำตลาดเหนือโค้ก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียที่โค้กแทบจะครองตลาดเป็นส่วนใหญ่ ในห้วงเวลา "เป๊ปซี่" กำลังมองการขยายตลาดในเอเชียซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วยนั้น ส่วนหนึ่งเพราะตลาดเครื่องดื่มน้ำอัดลม ในอเมริกาที่อิ่มตัวมานาน ขณะที่เอเชียยังสามารถเติบโตได้อีกมาก เพราะตลาดกำลังเกิดการเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว สามารถมีนวัตกรรมใหม่ได้อีกมาก โดยพบว่าตลาดในไทยอัตราการดื่มเครื่องดื่มบรรจุขวดเพ็ทน้อยกว่ายุโรป 3-4 เท่าตัว อีกการควบรวมที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ก็คือกรณี บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ร่วทุนกับบริษัท โอเว่น อิลลินอยส์ อิงค์ ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วรายใหญ่ เพื่อขยายธุรกิจด้านการผลิต และการตลาดบรรจุภัณฑ์แก้วในประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ และร่วมทุนกันเข้าซื้อบริษัท มาลายากล๊าส โปรดักส์ ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว ซึ่งมีโรงงานทั้งในประเทศไทย จีน มาเลเซีย และเวียดนาม เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ไม่ใช่ของใครที่ไหนของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ราชันย์น้ำเมาเมืองไทยนั่นเอง เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา ตอนนั้นมีข่าวว่าเจ้าสัวเจริญจะซื้อเบอร์ลี่ฯ หรือ BJC เพื่อดันบริษัท เบียร์ไทย (1991) ผู้ผลิตเบียร์ช้างเข้าตลาดหุ้นทางอ้อม หรือ Back Door Listing แต่เอาเข้าจริงไม่เป็นดังที่หลายคนคาด ตอนนั้นเจริญซื้อบริษัทเบอร์ลี่ฯ ผ่านบริษัทนครชื่น ในราคา 42 บาทต่อหุ้นก็เพราะต้องการได้โรงงานทำขวดแก้วเพิ่ม เพื่อป้อนสู่โรงงานเบียร์และสุราที่มีปริมาณความต้องการเพิ่ม โดยเฉพาะโรงเบียร์ช้างที่จังหวัดกำแพงเพชร ที่มีกำลังผลิตล้นกว่า 500 ล้านลิตร ทั้งนี้ นายเจริญใช้เม็ดเงินซื้อ BJC กว่า 5.2 พันล้านบาท ซึ่งถือว่าคุ้มค่ากว่าการที่จะต้องลงทุนตั้งโรงงานผลิตขวด และแก้วขึ้นมาใหม่ที่ต้องใช้เวลานาน ไม่ทันต่อกำลังการผลิต เนื่องจากเบอร์ลี่ฯ มีบริษัทย่อยคือ บริษัท อุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย จำกัด ผู้ผลิตขวดบรรจุเบียร์และเหล้าที่กลุ่มไทยเบฟเวอเรจใช้บริการจากโรงงานแห่งนี้มากกว่า 80% ดั้งนั้นการเข้าซื้อครั้งนี้ จึงมีความคุ้มค่าเหลือหลาย พร้อมกันนั้นยังสามารถรองรับกำลังการผลิต และยอดขายที่เพิ่มขึ้นในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก 2002 ซึ่งเบียร์ช้างได้เป็นหนึ่งของผู้สนับสนุนหลักในการแข่งขัน ขณะเดียวกันผลประโยชน์อื่นที่เป็นผลพลอยได้คือ ทำให้เครือข่ายการกระจายสินค้ากว้างขวางมากขึ้น เนื่องจาก BJC มีฐานการจัดส่งสินค้า คลังสินค้าและการขนส่งซึ่งทำให้การจำหน่ายสินค้าในทีซีซี กรุ๊ป มีศักยภาพมากขึ้นเช่นการใช้สายส่งเดียวกันเพื่อลดต้นทุนการผลิต สำหรับกรณีการควบรวมที่น่าสนใจปิดท้ายก็คือ กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กับการควบรวมกิจการกับฮัทช์ มูลค่า 7,500 ล้านบาท โดยหวังว่าจะสามารถขยายเครือข่ายซีดีเอ็มเอได้ครอบคลุมพื้นที่ 51 จังหวัด ตั้งเป้าใน 2-3 ปีจะมีลูกค้ารวมโครงข่ายไม่ต่ำกว่า 3 ล้านราย และคาดว่าสิ้นปีจะมีลูกค้าเพิ่มจาก 1.3 ล้านราย เป็น 1.5 ล้านราย นี่คือส่วนหนึ่งของการควบรวมกิจการที่เกิดขึ้น และเชื่อว่าหากเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว เราคงได้เห็นการควบรวมกิจการเพิ่มขึ้นอีกเพียบ
|
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น