คอลัมน์ การเงินปฏิวัติ โดย สฤณี อาชวานันทกุล www.fringer.org ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4175
ถ้าถามคนไทยว่า "บทบาท" ของผู้ถือหุ้นคืออะไร คนส่วนใหญ่อาจจะงงว่าผู้ถือหุ้นทำอะไรอื่นอีกหรือ นอกจากซื้อขายหุ้นด้วยความหวังว่าจะได้กำไร ไม่วันนี้ก็วันหน้า
ที่ผ่านมา บทบาทของผู้ถือหุ้นไทยนอกเหนือจากนี้จำกัดอยู่แค่การรวมตัวกันฟ้องกรรมการบริษัทหรือผู้บริหารที่หลอกลวงหรือฉ้อโกงผู้ถือหุ้น ซึ่งหลายครั้งก็เป็นการกระทำที่สายเกินแก้ เพราะไม่ได้ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม มารู้ตัวอีกทีคนโกงก็หนีไปแล้ว ถ้าโชคดีก็ต้องร้องเพลงรอนานหลายปีกว่าตำรวจจะเอาตัวกลับมาขึ้นศาลได้ ถ้าโชคร้ายคนโกงก็จะใช้ชีวิตอย่างสุขสบายในต่างแดนจนหมดอายุความ แถมบางคนยังกลับมามีหน้ามีตาในสังคมความจำสั้นได้ด้วย
สังคมเราคุ้นเคยกับบทบาทของผู้ถือหุ้นแต่เพียงเท่านี้ คือทวงผลประโยชน์ทางการเงินที่ตัวเองควรจะได้แต่ไม่ได้ ทั้งที่ผู้ถือหุ้นทำอะไร ๆ ได้มากกว่านั้นมากในฐานะ "เจ้าของ" บริษัท ทั้งเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวม ถ้าผู้ถือหุ้นอยากเห็นบริษัททำประโยชน์ส่วนรวม
ในสหรัฐอเมริกา การเคลื่อนไหวของผู้ถือหุ้นเริ่มมีบทบาทตั้งแต่ประมาณทศวรรษ 1970 คึกคักขึ้นเรื่อย ๆ ตามการเติบโตของตลาดหุ้นและนักลงทุนสถาบัน อาทิ กองทุนบำนาญ กองทุนรวม รวมถึงองค์กรไม่แสวงกำไรหลายรูปแบบที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น อาทิ มหาวิทยาลัย โบสถ์คริสต์ และมูลนิธิต่าง ๆ ประกอบกับการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เพิ่มอำนาจให้กับผู้ถือหุ้นมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ศตวรรษที่ 21 เปิดฉากด้วยตลาดหุ้นแนสแดคดิ่งเหวในปี 2001 ปีต่อมาเกิดกรณีอื้อฉาวที่ผู้บริหารระดับสูง หรือกรรมการบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่ง เช่น เอ็นรอน ไทโค และเวิรลด์คอม ตกแต่งบัญชี ยักยอกเงิน หรือฉ้อโกงวิธีอื่น ปะทุขึ้นติด ๆ กัน ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของธุรกิจขนาดใหญ่ในสายตาประชาชนตกต่ำอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน นักลงทุน นักเคลื่อนไหวในอเมริกา จึงผนึกกำลังกันทำงานอย่างเป็นระบบและติดตามสอดส่องการทำงานของกรรมการและผู้บริหารอย่างใกล้ชิดกว่าในอดีต โดยเฉพาะประเด็นการได้โบนัสสูงลิบ สวนทางกับผลขาดทุนของบริษัท
"การเคลื่อนไหว" ของผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันที่ถือหุ้นจำนวนมากพอที่จะส่งผลกระทบกับราคาหุ้นได้ถ้าขายทิ้ง (อย่างน้อยร้อยละ 0.5) มีมากมายหลายรูปแบบ ตั้งแต่การ "แสดงออกด้วยเงิน" (ขายหุ้นทิ้ง) นัดหารือกับกรรมการหรือผู้บริหารเป็นการส่วนตัว ทำแคมเปญรณรงค์ผ่านสื่อเพื่อสร้างแรงกดดันทางสังคมให้กรรมการหรือผู้บริหารรู้สึกอับอายจนเปลี่ยนพฤติกรรม ไปจนถึงการฉวยใช้ช่องทางตามกฎหมายให้เป็นประโยชน์ เช่น ผนึกกำลังกับผู้ถือหุ้นรายอื่นเพื่อเพิ่มวาระในที่ประชุมผู้ถือหุ้น (ตามมาตรฐานสากล การเพิ่มวาระต้องใช้หุ้นที่มีสิทธิออกเสียงรวมกันร้อยละ 1 กฎหมายไทยให้ใช้ร้อยละ 5) และรณรงค์ให้ผู้ถือหุ้นร่วมกันลงมติในประเด็นสำคัญ ๆ เช่น ถอดถอนกรรมการหรือผู้บริหารที่มีพฤติกรรมมิชอบ เสนอวิธีปรับปรุงแผนธุรกิจ สนับสนุนหรือคัดค้านแผนการซื้อกิจการ หรือคัดค้านแผนของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ไม่ชอบมาพากล (เช่น สุ่มเสี่ยงว่าจะเป็นการผ่องถ่ายผลประโยชน์จากบริษัทไปสู่ตระกูลผู้ก่อตั้ง)
ในวรรณกรรมบริหารธุรกิจ ผู้เขียนยังไม่เห็นผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาการเคลื่อนไหวของผู้ถือหุ้นคนไหนมองว่าเรื่องนี้ดีอย่างไร้เงื่อนไข แต่ก็มีความเห็นที่เห็นพ้องต้องกันแล้วระดับหนึ่งว่า บริษัทที่ผู้ถือหุ้นคอยสอดส่องดูแลการทำงานของคณะกรรมการและผู้บริหารน่าจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในระยะยาวมากกว่าบริษัทที่ผู้ถือหุ้นปล่อยปละละเลย ไว้วางใจคณะกรรมการเกินไป หรือสนใจแต่ราคาหุ้นระยะสั้น
ในภาวะปกติ บริษัทที่มีผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวเปรียบเสมือนตึกที่มีสัญญาณเตือนไฟไหม้ที่ครอบคลุมทั่วทั้งบริเวณ เพราะลำพังการมีอยู่ของผู้ถือหุ้นแบบนี้ก็เพียงพอที่จะทำให้กรรมการและผู้บริหารตื่นตัว ไม่ลุแก่อำนาจหรือเคยตัวจนถลุงเงินบริษัทไปใช้อย่างสิ้นเปลืองหรือสูญเปล่า ในภาวะที่บริษัทมีผลประกอบการย่ำแย่ ผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวก็เปรียบเสมือนบุรุษดับเพลิงที่จะวิ่งมาดับไฟไหม้และกอบกู้บริษัทให้ฟื้นคืนชีพได้เร็วกว่าถ้าไม่มี ดังนั้นถ้าผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวทำงานอย่างแข็งขันและรู้เท่าทัน ผู้ถือหุ้นอื่น ๆ ก็จะพลอยได้ประโยชน์ไปด้วยจากราคาหุ้นและเงินปันผลที่เพิ่มขึ้นจากผลกำไรที่สูงขึ้นด้วยความพยายามของกรรมการและผู้บริหารที่ตั้งใจทำงาน หรืออย่างน้อยราคาหุ้นหรือเงินปันผลก็จะไม่ลดลงมากเท่ากับกรณีที่บริษัทถูกกรรมการหรือผู้บริหารตกแต่งบัญชีจนไม่มีใครรู้ มารู้ทีหลังก็ต่อเมื่อสายเกินแก้แล้ว
อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวของผู้ถือหุ้นอาจไม่ทำให้บริษัทดีขึ้นในระยะยาวเสมอไป บางครั้งผู้ถือหุ้นที่เคลื่อนไหวอาจเป็นคนโลภมากสายตาสั้นที่อยากฉวยโอกาสถลุงเงินจากบริษัทด้วยการกดดันคณะกรรมการ โดยไม่ยอมเข้าใจเหตุผลของบริษัทในการไม่จ่ายเงินปันผลมากกว่าที่จ่ายจริง เช่น บริษัทต้องกันเงินไว้สำหรับลงทุนขยายกิจการ เตรียมซื้อกิจการของบริษัทคู่แข่ง หรือดำเนินโครงการอื่น ๆ ที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งของบริษัทในระยะยาว นอกจากนี้ในบางประเทศโดยเฉพาะในยุโรป บางครั้งสหภาพแรงงานที่ถือหุ้นบริษัทก็ฉวยโอกาสเคลื่อนไหวในฐานะผู้ถือหุ้นเพื่อต่อสู้เรียกร้องผลประโยชน์แทนคนงาน ในทางที่เกินเลยขอบเขตของผลประโยชน์ที่คนงานพึงได้รับ
ปัจจุบันการเคลื่อนไหวของผู้ถือหุ้นในอเมริกา อาจแบ่งได้เป็น 2 แนวทางหลัก แนวทางแรกมุ่ง "รีด" มูลค่าจากบริษัท ด้วยการเคลื่อนไหวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะเพิ่มผลกำไรหรือปรับปรุงธรรมาภิบาล เช่น ถอดถอนกรรมการทั้งชุดเพราะมีผลงานแย่ ผูกโยงผลตอบแทนของผู้บริหารเข้ากับผลกำไรของบริษัท ลดจำนวนปีของวาระกรรมการลง ตั้งคำถามในที่ประชุมผู้ถือหุ้นว่ากรรมการอิสระเป็นอิสระจริงหรือไม่ เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งกรรมการบริษัทใหม่ทุกปี เรียกร้องให้บริษัทจ้างบุคคลภายนอกมาตรวจสอบกรณีที่สงสัยว่ามีการฉ้อฉลหรือผิดจริยธรรม เสนอแนวทางลดต้นทุน เสนอแผนซื้อกิจการของคู่แข่ง ฯลฯ
แนวทางที่สองของการเคลื่อนไหวมุ่งตอบสนองความต้องการของผู้ถือหุ้นนอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจปกติของบริษัท โดยเฉพาะในประเด็นด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อมที่ผู้ถือหุ้นให้ความสนใจหรือเป็นนโยบายในการลงทุน เช่น เรียกร้องให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เรียกร้องให้บริษัทขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คัดค้านโครงการขยายกิจการเพราะจะทำลายสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ผู้ถือหุ้นที่เคลื่อนไหวในแนวทางนี้มักเป็นนักลงทุนสถาบันที่มีประเด็นด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อมเป็นสาระสำคัญของนโยบายลงทุน อาทิ องค์กรทางศาสนาที่คัดค้านการทำแท้งและทดลองในสัตว์ กองทุนที่ "รับผิดชอบต่อสังคม" (Socially Responsible Investment : SRI) กองทุนที่ "ลงทุนอย่างมีศีลธรรม" (ethical) เป็นต้น
กฎหมายหลักทรัพย์ของอเมริการะบุว่า ผู้ถือหุ้นรายใดรายหนึ่งหรือหลายรายที่ถือหุ้นรวมกันมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2,000 เหรียญ มีสิทธิร่างและส่งข้อเสนอให้ผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ พิจารณา การเคลื่อนไหวของผู้ถือหุ้นหลายครั้งประสบความสำเร็จเพราะจับมือกับนักลงทุนสถาบันหลายแห่งเพื่อรวบรวมสิทธิออกเสียงให้มากพอที่จะเป็นเสียงข้างมาก ถ้าเป็นประเด็นทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อม ผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวมักจะจับมือเป็นพันธมิตรกับองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในประเด็นนั้น ๆ และรณรงค์มายาวนาน ยกตัวอย่าง เช่น ผู้ถือหุ้นประสบความสำเร็จในการลงมติเสียงข้างมากให้บริษัท ไทโค อินเตอร์แนชั่นแนล ยอมตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กดดันให้บริษัท เป๊ปซี่ ยอมสนับสนุนงานวิจัยเรื่องผลกระทบของโรคเอดส์ในประเทศกำลังพัฒนา
สถิติที่ผ่านมาบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า การเคลื่อนไหวของผู้ถือหุ้นสูงขึ้นและส่งผลกระทบมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง Investor Responsibility Research Center สถาบันวิจัยที่ติดตามวงการนี้ในอเมริการายงานว่า ในปี 2002 ปีที่เกิดกรณีอื้อฉาวของเอ็นรอนและอีกหลายบริษัท มีผู้ถือหุ้นเสนอเพิ่มวาระเพื่อการลงมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้นสูงถึง 802 เรื่อง สูงเป็นประวัติการณ์ ในปีต่อมาคือ 2003 ตัวเลขนี้ก็พุ่งเป็น 1,082 เรื่อง และใน 5 เดือนแรกของปี 2004 ก็เพิ่มเป็น 1,147 เรื่อง ประเด็นที่น่าสนใจคือวาระที่ผู้ถือหุ้นเสนอนี้ไม่ได้เพิ่มแต่จำนวนอย่างเดียว แต่เสียงสนับสนุน (คือผู้ถือหุ้นรายอื่นที่ไม่ได้เสนอลงมติเห็นชอบ) ก็เพิ่มขึ้นด้วยเป็นเงาตามตัว ยกตัวอย่าง เช่น ในปี 2003 มีข้อเสนอของผู้ถือหุ้นถึง 161 เรื่อง (ร้อยละ 15) ที่ได้รับเสียงสนับสนุนข้างมากจากผู้ถือหุ้นในที่ประชุม (แปลว่าบริษัทมีหน้าที่ที่จะต้องทำตามข้อเสนอดังกล่าวตามกฎหมาย)
ดาเนียล โรซาน ผู้อำนวยการฝ่ายสาธารณสุขของเครือข่ายผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวที่โด่งดังที่สุดในอเมริกา คือ Interfaith Center on Corporate Responsibility (ICCR) กล่าวว่า ข้อเสนอของผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวนั้นมีประโยชน์และช่วยขับเคลื่อนประเด็นเสมอ แม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายอื่นมากพอที่จะบังคับให้บริษัททำตาม เนื่องจากลำพังการเสนอวาระก็เท่ากับเป็นการ "ประจาน" กรรมการและผู้บริหารบริษัทต่อหน้าสื่อและสาธารณชน
โรซานบอกว่า บริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นเริ่มเข้าใจแล้วว่าความกังวลของผู้ถือหุ้นนั้นไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาควรกริ่งเกรงหรือรังเกียจ เพราะมันเป็นปฏิกิริยาที่เป็นประโยชน์ต่อตัวบริษัทเอง เนื่องจากชี้ให้เห็นความเสี่ยงหรือข้อผิดพลาดที่บริษัทอาจยังมองไม่เห็นหรือคิดว่าไม่สำคัญพอที่จะต้องลงมือแก้ไข เช่น ความเสี่ยงจากการปล่อยมลพิษหรือทำลายสิ่งแวดล้อม
เนื่องจากการเสนอเพิ่มวาระในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเป็นมาตรการ "ทางการ" ที่ผู้ถือหุ้นจะต้องออกเสียงว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ (ถ้าเป็นประเด็นที่ต้องมีการออกเสียง) และผลการลงมติจะต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ ผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวหลายแห่งจึงมองว่ามันเป็นมาตรการ "ไม้ตาย" ที่ควรใช้ก็ต่อเมื่อลองวิธีอื่นมาหมดแล้ว เพราะมันแบ่งแยกผู้ถือหุ้นให้เป็นปฏิปักษ์กับคณะกรรมการ (และ/หรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่) อย่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนสถาบันหลายแห่งจึงชอบใช้วิธีอื่นมากกว่า โดยเฉพาะการหารือตัวต่อตัวกับผู้บริหาร
อินเทอร์เน็ตช่วยให้ผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อย ได้ทำความรู้จักกันและรวมพลังกันเคลื่อนไหวอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ ยกตัวอย่าง เช่น บนเว็บไซต์ของเครือข่ายนักลงทุนชื่อ Advocacy and Public Policy Program (www.shareholderaction.org) ทุกคนสามารถค้นหาว่าผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ รวมทั้งนักลงทุนสถาบันรายใหญ่อย่างเช่น คาลเปอร์ส์ (Calpers กองทุนบำนาญที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา) มีแผนที่จะออกเสียงในวาระต่าง ๆ ในการประชุมผู้ถือหุ้นอย่างไร และใครเป็นผู้เสนอแต่ละวาระ ผู้ถือหุ้นสามารถลงนามออกเสียงในเว็บนี้ (ผ่านการมอบอำนาจ) และจองที่นั่งในการร่วมหารือกับทีมผู้บริหารของบริษัทด้วย
ดูตัวอย่างการเคลื่อนไหวของผู้ถือหุ้นในอเมริกาไปแล้ว ตอนต่อไปลองมาดูประสบการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียกัน
หน้า 34
การเคลื่อนไหวของผู้ถือหุ้น (shareholder activism) ในอเมริกาและเอเชีย (จบ)
คอลัมน์ การเงินปฏิวัติ โดย สฤณี อาชวานันทกุล www.fringer.com ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 08 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4182
ตอนที่แล้วผู้เขียนพูดถึงการเคลื่อนไหวของผู้ถือหุ้นในอเมริกาว่า แบ่งออกเป็น 2 แนวทางหลักด้วยกัน เรียกสั้น ๆ ได้ว่า "แนวธรรมาภิบาล" กับ "แนวสังคม" ผู้ถือหุ้นที่เคลื่อนไหวแนวแรกมุ่ง "รีด" มูลค่าของบริษัทที่มีศักยภาพแต่ถูกคณะกรรมการหรือผู้บริหารทำลายหรือถ่ายโอนสู่มือตัวเองหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ (พูดง่าย ๆ คือบริษัทที่ธรรมาภิบาลแย่นั่นเอง) ส่วนผู้ถือหุ้นที่เคลื่อนไหวในแนวหลังมุ่งผลักดันให้บริษัทผนวกประเด็นด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อมเข้าไปเป็นเนื้อเดียวกับธุรกิจในทางที่ยั่งยืนกว่าเดิม ผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวแนวสังคมมักเป็นกองทุนที่ "รับผิดชอบต่อสังคม" (Socially Responsible Investment : SRI funds) กองทุนที่ "ลงทุนอย่างมีศีลธรรม" (ethical funds) และองค์กรทางศาสนาต่าง ๆ
ความสำเร็จของผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวแนวสังคม โดยเฉพาะกองทุนที่รับผิดชอบต่อสังคมในบทบาทผู้ถือหุ้นนั้นมีจำนวนมากและมีวิวัฒนาการที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ดังนั้นผู้เขียนจึงจะรวบรวมไปสรุปในตอนต่อไป วันนี้ลองมาดูบทบาทของผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวแนวธรรมาภิบาลในเอเชียกันก่อนว่าเหมือนหรือแตกต่างจากอเมริกาอย่างไรบ้าง
เกาหลีใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่น คือ 3 ประเทศที่วงการการเคลื่อนไหวของผู้ถือหุ้นคึกคักเป็นอันดับต้น ๆ ในเอเชีย องค์กรชั้นแนวหน้าที่รณรงค์เรื่องนี้ในประเทศทั้ง 3 ส่วนใหญ่เป็นองค์กรไม่แสวงกำไรเหมือนกับในอเมริกา แต่ความแตกต่างที่น่าสนใจ คือ องค์กรอเมริกันอย่างเช่น Corporate Library, Shareholder Action Network, และ Investor Responsibility Research Center (IRRC) ทำหน้าที่เป็น "ศูนย์ข้อมูล" และช่วยประสานงานให้กับผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวซึ่งก็มักจะเป็นนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ที่เป็นสมาชิก แต่องค์กรด้านนี้ในเกาหลีใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่นมีบทบาททางตรงโดยเข้าไปถือหุ้นบริษัทต่าง ๆ เอง ใช้สิทธิเสนอวาระและออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น รวบรวมรายชื่อโจทก์และฟ้องกรรมการหรือผู้บริหารเมื่อเกิดกรณีทุจริต
ในแง่นี้องค์กรเหล่านี้จึงมีลักษณะเป็น "องค์กรพัฒนาเอกชน" (เอ็นจีโอ) ในความหมายที่คนไทยทั่วไปเข้าใจ คือ เคลื่อนไหวตามเป้าหมายด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อม แต่เมืองไทยยังไม่มีเอ็นจีโอที่ขับเคลื่อนประเด็นด้านธรรมาภิบาลธุรกิจแบบนี้
งานวิจัยวงการนี้หลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า ความเข้มข้นและแข็งขันของเอ็นจีโอในตลาดหุ้นหลายประเทศเป็นผลพวงของการที่รัฐหละหลวม อ่อนแอ หรือถูกเอกชนครอบงำ จนทำให้ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาวะสุญญากาศของระบบกำกับดูแลทำให้เอ็นจีโอก้าวเข้ามามีบทบาทแทน จนกลายเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายธุรกิจที่สำคัญที่สุดในเกาหลีใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่น
ในเกาหลีใต้เอ็นจีโอนาม Peoples" Solidarity for Participatory Democracy (แนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม - PSPD) เป็นเอ็นจีโอที่มีอิทธิพลสูงสุดในประเทศ ประสบความสำเร็จสูงมากจนสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับภาคธุรกิจเกาหลีใต้ทั้งระบบเติบโตตั้งแต่ปีที่ก่อตั้ง คือ 1994 สมาชิกแรกเริ่ม 200 คน จนปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 12,000 คน รายได้ขององค์กรร้อยละ 80 มาจากค่าสมาชิก
กลุ่ม Participatory Economic Committee (คณะกรรมการการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ) ภายใต้ PSPD ริเริ่มแคมเปญเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้ถือหุ้นรายย่อยในปี 1997 เพื่อผลักดันการปรับปรุงธรรมาภิบาลและฟ้องตระกูลเจ้าของหรือผู้บริหารแชโบล (หมายถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับนักการเมือง) โดยเข้าไปซื้อหุ้นและใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นอย่างเต็มที่ ลงมติผ่านนโยบายปฏิรูปธรรมาภิบาล (เช่น จำกัดค่าตอบแทนผู้บริหาร เพิ่มจำนวนกรรมการอิสระ แก้ไขข้อบังคับในทางที่คุ้มครองผู้ถือหุ้นรายย่อยมากกว่าเดิม) ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของแชโบลหลายแห่ง รวมทั้ง เอสเคเทเลคอม ฮุนได และแดวู
PSPD มีผลงานที่เป็นรูปธรรมมากมายหลายสิบกรณี ตั้งแต่การชักชวนให้นักลงทุนสถาบันอื่น ๆ (โดยเฉพาะกองทุนต่างชาติ) มาร่วมเคลื่อนไหวด้วย ฟ้องศาลเพื่อขอยกเลิกมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นที่ไม่ชอบมาพากล ไปจนถึงการฟ้องกรรมการหรือผู้บริหารในกรณีทุจริต นอกจากนี้ PSPD ยังมีบทบาทนำในการผลักดันให้สภาออกกฎหมายดำเนินคดีแบบรวมกลุ่ม (class action ซึ่งเมืองไทยยังไม่มี) และแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายหลักทรัพย์เพื่อยกระดับมาตรฐานธรรมาภิบาลและเพิ่มอำนาจให้กับผู้ถือหุ้น
ผลงานของ PSPD ที่โด่งดังที่สุด คือ การเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้น 61 ราย ฟ้องอดีตกรรมการธนาคารโคเรีย เฟิรสต์ ในข้อหารับสินบนแลกกับการปล่อยกู้ให้กับบริษัทขนาดใหญ่ที่กำลังจะล้ม คดีนี้เป็นคดีแรกในเกาหลีใต้ที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยรวมตัวกันฟ้องเรียกค่าเสียหายจากอดีตกรรมการแทนบริษัท (ในคดีที่ผู้ถือหุ้นฟ้องแทนบริษัท (derivative suit) ค่าเสียหายใด ๆ ที่ศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้จะต้องกลับคืนสู่บริษัทไม่ใช่โจทก์ผู้ฟ้อง แปลว่าผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทจะได้ประโยชน์ถ้าโจทก์ชนะคดี) ในปี 1998 ศาลตัดสินให้จำเลยในคดีนี้จ่ายค่าเสียหายให้กับผู้ถือหุ้นรายย่อยรวม 40,000 ล้านวอน (ประมาณ 1,400 ล้านบาท)
ความสำเร็จอีกกรณีหนึ่งที่ได้รับการกล่าวขานมาก คือ ในปี 2001 PSPD เป็นตัวแทนผู้ถือหุ้น 22 ราย ฟ้องผู้ถือหุ้นรายใหญ่และกรรมการบริษัทซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ 9 ราย ศาลตัดสินว่ากรรมการ "ไม่ได้ใช้วิจารณญาณทางธุรกิจอย่างรัดกุมเพียงพอ" ในการเข้าซื้อกิจการของบริษัทคู่แข่ง ทั้งยังตัดสินลงโทษประธานกรรมการบริษัทในข้อหาติดสินบนนักการเมืองด้วย
คดีเหล่านี้ทำให้กรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในเกาหลีใต้ตระหนักอย่างแท้จริงว่า "หน้าที่ต่อผู้ถือหุ้น" (fiduciary duty) นั้นหมายความว่าอะไร และได้รับรู้ว่าแม้แต่ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของแชโบลที่ทรงอิทธิพลที่สุดก็ไม่อาจหลบพ้นความรับผิดทางกฎหมายต่อผู้ถือหุ้น ความสำเร็จของ PSPD เหล่านี้ส่งผลให้ผู้บริหารและกรรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทำงานด้วยความรับผิดชอบและยึดมั่นในจรรยาบรรณมากกว่าเดิม เป็นการยกระดับธรรมาภิบาลที่ยั่งยืนและแท้จริงกว่าการมอบรางวัล "บริษัทธรรมาภิบาลดีเด่น" ประจำปี
ในไต้หวันองค์กรชื่อ Securities and Futures Institute (SFI) ก่อตั้งในรูปมูลนิธิโดยการสนับสนุนของรัฐบาลและภาคการเงินในปี 1984 ถือหุ้น 1,000 หุ้นในบริษัทจดทะเบียนทุกแห่งในตลาดหุ้นไต้หวัน SFI มีบทบาท 2 ส่วนหลัก คือกิจกรรมบังคับใช้กฎหมาย และกิจกรรมที่ไม่ใช่การบังคับใช้กฎหมาย กิจกรรมบังคับใช้กฎหมายก็เช่นเดียวกับ PSPD คือใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้น ทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นรายอื่นได้ทันทีที่เกิดคดีความ โดยเฉพาะในคดีที่ดำเนินคดีแบบรวมกลุ่ม (default class action) และคดีฟ้องแทนบริษัท (derivative suit)
กิจกรรมของ SFI นอกเหนือจากการบังคับใช้กฎหมายนั้นมีความหลากหลายมาก ตั้งแต่ทำวิจัยเกี่ยวกับธรรมาภิบาล จัดอันดับคุณภาพการรายงานข้อมูลและความโปร่งใสของบริษัทจดทะเบียนรายปี รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ถือหุ้น อบรมบุคลากรเกี่ยวกับธรรมาภิบาล ช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกฎหมายธุรกิจและกฎหมายหลักทรัพย์ ส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการลงทุน ทุนประเดิมของมูลนิธิมาจากเงินบริจาคของตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน บริษัทหลักทรัพย์ และธนาคารระหว่างปี 1984-87 ตามสัดส่วนส่วนแบ่งตลาดของแต่ละรายงอกเงยขึ้นเรื่อย ๆ ตามการเติบโตของตลาดหุ้นจนรองรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรายปีได้หมด การที่ SFI อุดหนุนค่าจ้างทนายและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เวลามีคดีความ สะท้อนว่าสถาบันการเงินเหล่านี้ยินดีอุดหนุนต้นทุนของการบังคับใช้กฎหมายหลักทรัพย์ในประเทศ
ตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมา SFI ได้ฟ้องศาลเพื่อขอชดเชยกำไรที่บุคคลวงใน (เช่น กรรมการที่ใช้ข้อมูลภายในซื้อหรือขายหุ้น) ได้ประโยชน์โดยมิชอบไปแล้วกว่า 2,000 คดี เรียกค่าเสียหายรวมกันกว่า 8,700 ล้านเหรียญไต้หวัน (ประมาณ 8,700 ล้านบาท) ทั้งยังเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นกว่า 9,700 รายฟ้องบริษัทกว่า 24 แห่ง ในคดีฟ้องแบบรวมกลุ่ม เรียกค่าเสียหายรวมกันกว่า 4,700 ล้านเหรียญไต้หวัน (4,700 ล้านบาท) ผลงานที่โดดเด่นมากของ SFI คือการไล่ฟ้องบริษัทที่นักลงทุนเรียกกันว่า "บริษัทกับระเบิด" คือบริษัทจดทะเบียนที่กลุ่มผู้ก่อตั้งใช้พรรคพวกและนอมินีสร้างราคาหุ้นและยักย้ายถ่ายเทสินทรัพย์ของบริษัทออกไปสู่มือตัวเองในทศวรรษ 1990 ต่อเนื่องข้ามศตวรรษ ลดแรงจูงใจของ "เจ้ามือ" นักปั่นหุ้นในการทุจริต และช่วยปรับปรุงภาพลักษณ์ของตลาดหุ้นที่เคยได้รับการกล่าวขานว่าเป็น "สวรรค์ของนักปั่น" ตลาดหนึ่งในโลก
ในญี่ปุ่นผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวที่มีบทบาทสูงที่สุดในประเทศและโดดเด่นชนิดที่ไม่มีใครทาบติด คือกลุ่มทนายและนักวิชาการนักเคลื่อนไหวที่เรียกตัวเองว่า "ผู้ถือหุ้นผู้ตรวจการ" (Kabunushi Ombudsman) ก่อตั้งปี 1996 มีเป้าหมายที่จะ "ปฏิรูปวิถีปฏิบัติของผู้บริหารญี่ปุ่นให้คำนึงถึงมุมมองของผู้ถือหุ้นรายย่อยและพลเมือง" โดยใช้เครื่องมือและช่องทางตามกฎหมาย
ระหว่างปี 1996-2001 กลุ่มผู้ถือหุ้นผู้ตรวจการฟ้องกรรมการบริษัทยักษ์ใหญ่กว่า 10 แห่ง อาทิ โนมูระ ทาคาชิมาระ ธนาคารไดอิชิ-กังโย อายิโนะโมะโต๊ะ และมิตซูบิชิ มอเตอร์ส เรียกร้องค่าเสียหายแทนบริษัท ถึงแม้ว่าในคดีเหล่านี้จะไม่มีแม้แต่คดีเดียวที่ศาลตัดสินให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะ พวกเขาก็ประสบความสำเร็จในการตกลงยอมความกับคู่กรณีหลายคดี เช่น กรรมการบริษัทซูมิโตโมยอมจ่าย 430 ล้านเยน (ประมาณ 160 ล้านบาท) คืนให้กับบริษัท ในคดีทำบริษัทขาดทุนจากการค้าทองแดงที่ผู้ถือหุ้นไม่เคยอนุมัติ, กรรมการบริษัทโกเบ สตีล ยอมจ่าย 310 ล้านเยน (115 ล้านบาท) ชดเชยเงินที่จ่ายแก๊งต้มตุ๋น และกรรมการแจแปนแอร์ไลนส์ก็ยอมความในข้อหาล้มเหลวในการจ้างผู้พิการเป็นพนักงานตามสัดส่วนขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด
ประเด็นที่น่าสนใจคือ กรณีที่ยอมความเหล่านี้ไม่ได้มีแต่การจ่ายค่าชดเชยจากกรรมการกลับคืนสู่บริษัทเท่านั้น แต่ยังรวมถึงข้อตกลงของบริษัทเองที่จะก่อตั้งกลไกที่จะป้องกันไม่ให้พฤติกรรมเหล่านั้นเกิดขึ้นซ้ำสอง และในหลายกรณี ศาลเองก็เขียนในบันทึกการยอมความซึ่งเป็นข้อมูลสาธารณะอย่างชัดเจนว่า ศาลพบว่าจำเลยได้ทุจริตต่อหน้าที่ข้อไหนอย่างไรบ้าง แปลว่าผลลัพธ์ที่ได้นั้นถึงแม้จะไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย (คือคำพิพากษาว่าผิด) แต่ก็ใกล้เคียงพอที่จะเรียกได้ว่าเป็น "ชัยชนะ" ที่น่าภูมิใจของกลุ่มผู้ถือหุ้นผู้ตรวจการ แถมเป็นชัยชนะที่ยั่งยืนในแง่ของการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับธรรมาภิบาลในญี่ปุ่นด้วย
เมื่อย้อนกลับมาดูประเทศไทย บริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มดีแต่ธรรมาภิบาลแย่นั้นมีอยู่ไม่น้อยเลย อย่างเช่น บมจ.การบินไทย ที่มีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับความประพฤติมิชอบของกรรมการออกมาอยู่เนือง ๆ องค์กรแบบนี้เป็นเป้าหมายอันดีที่น่าจะส่งผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวเข้าไปจัดการ
ในเมื่อองค์กรที่เป็นตัวแทนนักลงทุนรายย่อยในไทยคือสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยนั้น ยังมีทุนทรัพย์น้อยและไม่เคลื่อนไหวเชิงรุกอย่างในต่างประเทศ ผู้เขียนคิดว่านักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่อย่างเช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม น่าจะทบทวนนโยบายการเป็นตัวแทนผู้ถือหน่วยลงทุน ทำตัวเป็นผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวดูบ้าง เพื่อปรับปรุงธรรมาภิบาลให้ "กินได้" และบุกเบิกวงการสำคัญที่เราควรจะมีกันเสียที
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น