วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

ธนาคารไปรษณีย์

เมื่อเร็วๆ นี้ มีการพูดกันมากเรื่องการจัดตั้งธนาคารไปรษณีย์ขึ้น เพื่อให้ประชาชนระดับล่าง รวมถึงในชนบท ได้รับบริการทางการเงินอย่างกว้างขวาง

ตั้งธนาคารไปรษณีย์แล้วจะดีจริงหรือไม่?

เพื่อตอบคำถามนี้ คงต้องดูจากประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกในเรื่องนี้ว่าเป็นอย่างไร

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า แนวคิดเรื่องธนาคารไปรษณีย์ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายประเทศได้จัดตั้งธนาคารไปรษณีย์ขึ้นมา โดยประเทศแรกคืออังกฤษ ซึ่งเริ่มในปี 1861 หรือกว่า 150 ปีที่แล้ว นอกจากนี้ยังมีที่ ญี่ปุ่น เยอรมัน ออสเตรีย ฝรั่งเศส กรีซ แอฟริกาใต้ บราซิล เกาหลี จีน อินเดีย ฟิลิปินส์ เป็นต้น

ความได้เปรียบของระบบไปรษณีย์ในการให้บริการทางการเงิน ก็คือ เครือข่ายที่กว้างขวาง โดยมีสาขาไปรษณีย์ บรุษไปรษณีย์ให้บริการในทุกพื้นที่ อีกทั้งประชาชนคุ้นเคยกับการโอนเงินผ่านธนาณัติหรือตั๋วแลกเงินไปรษณีย์อยู่แล้ว ซึ่งเมื่อเทียบกับระบบธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารเฉพาะกิจของรัฐที่มีสาขาจำกัด สาขาส่วนมากอยู่ในเมืองหรืออำเภอใหญ่ ธนาคารไปรษณีย์จึงเป็นอีกช่องทางที่จะช่วยให้ประชาชนอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะในชนบท ให้ได้รับบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง

ไม่น่าแปลกใจว่า ธนาคารไปรษณีย์จึงเป็นที่นิยมของประชาชนในประเทศต่างๆ ในญี่ปุ่น มีบัญชีเงินฝากในธนาคารไปรษณีย์มากกว่า 100 ล้านบัญชี อินเดีย 116 ล้านบัญชี จีน 104 ล้านบัญชี เยอรมัน 19 ล้านบัญชี

อย่างไรก็ตาม การเปิดธนาคารไปรษณีย์มีความท้าทายสำคัญหลายด้าน คือ
1. ทำอย่างไรจึงจะคุ้มทุนและมีกำไร ดูแลให้ต้นทุนจากการให้บริการการเงินทั้งเงินฝากและกู้กับประชาชน ที่ขนาดของบัญชีและเงินกู้จะไม่สูงมากนัก ตรงนี้สำคัญมาก เพราะว่าหากสามารถตอบโจทย์นี้ได้ โดย (1) มีแนวทางที่จะลดต้นทุนของการให้บริการ ซึ่งอาจใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าช่วย รวมถึง (2) การที่จะมีรายได้ที่เพียงพอ จากการคิดดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต้องมากกว่าสถาบันการเงินโดยปกติทั่วไป เช่น 1% ต่อเดือน (ซึ่งยังถูกกว่าการกู้หนี้นอกระบบมาก) ธนาคารไปรษณีย์จึงจะมีกำไร ที่จะทำให้ยืนอยู่บนขาของตนเองได้ ไม่ต้องพึ่งงบประมาณของภาครัฐ สามารถขยายกิจการไปอย่างกว้างขวาง ดำเนินการได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
2. จะทำอะไรก่อนหลังระหว่างเงินฝาก และเงินกู้ หัวใจสำคัญของการเป็นธนาคาร คือ การรู้จักเลือกว่าจะปล่อยกู้ให้ใคร เพราะถ้าระบบปล่อยสินเชื่อไม่ดี สินเชื่อที่ออกไปก็อาจไม่กลับมา กลายเป็นการแจกเงินเพื่อการกุศล และเป็นหนี้เสียให้ต้องตามไปแก้ไขในภายหลัง ซึ่งบทเรียนจากแบงก์คนจนในต่างประเทศพบว่า เราสามารถสร้างระบบการปล่อยสินเชื่อที่ดีให้สำหรับลูกค้าในระดับล่างได้ โดยลำดับแรก ต้องเริ่มจากการให้ลูกค้ารู้จักอดออม มีบัญชีเงินฝากก่อน พอออมได้สักพัก จึงสามารถที่จะขอกู้ได้ แต่ในขั้นนี้จะต้องมีลูกค้าของธนาคาร 2-3 ราย มาช่วยค้ำประกันว่า เป็นบุคคลน่าเชื่อถือ ควรได้รับสินเชื่อ และผู้ค้ำพร้อมช่วยจ่ายเงินคืนให้ธนาคารหากมีปัญหาเกิดขึ้น ซึ่งการคัดกรองลูกค้าในลักษณะนี้สำคัญมาก เพราะถ้าเราต้องการช่วยสร้างอาชีพ ช่วยให้เขายืนอยู่บนขาของตนเองได้ สร้างรายได้ นำเงินมาคืนได้ ก็ต้องค่อยๆ ปล่อยสินเชื่อ โดยมีระบบคัดกรองที่ดี หากมุ่งแต่การปล่อยสินเชื่อออกไปแต่อย่างเดียว เช่นเดียวกับกรณีของกองทุนหมู่บ้าน ก็จะกลายเป็นการสร้างหนี้เกินตัวให้กับคนระดับล่างในระบบอีก
3. เมื่อมีเงินฝากเข้ามาเป็นจำนวนมาก จะทำอะไรกับเงินดังกล่าว ธนาคารไปรษณีย์บางแห่งเช่นในญี่ปุ่นประสบความสำเร็จมาก มีเงินฝากล้นจนไม่รู้จะไปปล่อยที่ไหน ท้ายสุดกลายเป็นช่องทางให้รัฐบาลนำไปเป็นเงินทุนสำหรับโครงการต่างๆ ของรัฐ (บางโครงการก็ไม่ได้เป็นโครงการที่ดีนัก) ท้ายสุดก็กลายเป็นหนี้เสียได้ ตรงนี้ เราจึงต้องวางระบบป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนต้น ไม่ให้ธนาคารไปรษณีย์กลายเป็นช่องหาเงินให้กับโครงการที่ไม่ดีของรัฐบาล โดยมีกระบวนการปล่อยสินเชื่อที่มีมาตรฐาน และไม่น่าแปลกใจว่า ในช่วงหลังๆ เพื่อตัดความเชื่อมโยงนี้ออกไป ธนาคารไปรษณีย์ของบางประเทศจึงเริ่มเข้าสู่กระบวนการแปรรูป โดยเฉพาะที่ญี่ปุ่น บางแห่งก็เลิกไปเช่นที่ สหรัฐ ออสเตรีย โปรตุเกส เป็นต้น

กล่าวได้ว่า ธนาคารไปรษณีย์ เป็นก้าวหนึ่งที่น่าสนใจยิ่งของไทย แต่ก็คงต้องทำด้วยความระมัดระวังเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้แต่ต้น คือการเป็นกลไกในการออมและกระจายสินเชื่อไปยังประชาชนในระดับล่างได้อย่างทั่วถึง ยั่งยืน และสร้างความพอเพียงให้เกิดกับชีวิตของทุกคน ก็ขอเอาใจช่วยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น