วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

Japan Post : แปรรูปเพื่อปฏิรูป

นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2548


โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย

แม้ว่าการแปรรูปกิจการไปรษณีย์จะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วทุกมุมของโลก แต่ในช่วงที่ผ่านมาคงไม่มีการแปรรูปกิจการไปรษณีย์แห่งใด ได้รับความสนใจเท่าการแปรรูปกิจการไปรษณีย์ของญี่ปุ่น หรือ Japan Post ซึ่งมิได้เป็นเพียงกระบวนการของการเปลี่ยนสถานะของหน่วยงานไปสู่การเป็นองค์กรมหาชนเท่านั้น หากการแปรรูปดังกล่าวนี้กำลังเป็นจักรกลสำคัญของการปฏิรูประบบราชการของญี่ปุ่น ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมโดยรวมด้วย

ความพยายามที่จะแปรรูปกิจการไปรษณีย์ของ Junichiro Koizumi นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น มิได้เป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในช่วงข้ามคืน แต่เป็นแนวความคิดที่พัฒนาต่อเนื่องมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ Koizumi ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการไปรษณีย์และการสื่อสาร (Posts and Telecommunications Minister) ในปี 1992 และ กลายเป็นแนวนโยบายหลักในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของ Koizumi มาตลอด ระยะเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา

การยกระดับให้กรณีว่าด้วยการแปรรูปกิจการไปรษณีย์ มีสถานะเป็นประเด็นสาธารณะและเป็นปัจจัยชี้ขาดสำหรับการตัดสินใจทางการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 11 กันยายน หลังจากที่ Koizumi ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร หลังจากร่างกฎหมายว่าด้วยการแปรรูปกิจการไปรษณีย์ไม่ผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภา จึงไม่ใช่สิ่งที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย

เพราะก่อนหน้านี้ Koizumi ได้วางเดิมพันอนาคตทางการเมืองไว้กับกรณีดังกล่าวอย่างแนบแน่น ไม่ว่าจะเป็นการสมัครเพื่อช่วงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค Liberal Democratic Party (LDP) ในปี 1995 และ 1998 ที่ต้องประสบกับความพ่ายแพ้ ก่อนที่ Koizumi จะประสบผลสำเร็จในการแสวงหาแนวร่วมและได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคในปี 2001 และ 2003

ขณะที่นโยบายการแปรรูปกิจการไปรษณีย์ได้กลายเป็นแนวนโยบายสาธารณะ ที่ได้รับการวางลำดับความสำคัญไว้สูงสุดของรัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การนำของ Koizumi มาโดยตลอด แม้จะมีการคัดค้านการแปรรูปกิจการไปรษณีย์ ทั้งจากกลุ่มอนุรักษนิยม และกลุ่มการเมืองฝ่ายค้านอย่างต่อเนื่องก็ตาม

ลำดับขั้นของการแปรรูปกิจการไปรษณีย์ญี่ปุ่น เริ่มปรากฏภาพที่ชัดเจนมากขึ้น เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นจัดตั้ง Postal Service Agency ในปี 2001 เพื่อเป็นองค์กรรับผิดชอบการแปรรูปวิสาหกิจแห่งนี้ ก่อนที่จะมีการก่อตั้ง Japan Post ซึ่งมีสถานะเป็นองค์กรมหาชนขึ้นในวันที่ 1 เมษายน 2003 พร้อมๆ กับร่างกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องจำนวนมากที่ทยอยเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจไม่ใช่ประเด็นใหม่ในเชิงนโยบายของสังคมญี่ปุ่น เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลญี่ปุ่นได้เคยแปรรูปกิจการสาธารณูปโภคของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกิจการรถไฟ กิจการไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งกิจการยาสูบมาแล้ว แต่กิจการที่มีการแปรรูปไปก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่ดำเนินไปเพราะความจริงที่ว่า กิจการเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในภาวะขาดทุน หรือขาดสภาพคล่องในการขยายกิจการเพื่อการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่สำหรับกิจการไปรษณีย์ กรณีดังกล่าวแตกต่างออกไปอย่างมาก

ความสำคัญของการแปรรูปกิจการไปรษณีย์ของญี่ปุ่น เกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่าจำนวนพนักงานที่มีมากถึงกว่า 400,000 คน Japan Post ได้กลายเป็นองค์กรธุรกิจที่มีพนักงานในสังกัดมากที่สุดของญี่ปุ่น ขณะที่จำนวนพนักงานดังกล่าวยังคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของอัตรากำลังภาครัฐทั้งระบบ ซึ่งหมายถึงภาระในงบประมาณภาครัฐในรูปของเงินเดือนและสวัสดิการบำเหน็จบำนาญจำนวนมหาศาลอีกด้วย

ภายใต้สถานการณ์ที่สังคมญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะเป็น Aged Society มากขึ้นทุกขณะนั้น กรณีว่าด้วยระบบบำเหน็จบำนาญ (pension system) ที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ได้รับความสนใจในสังคมญี่ปุ่นอย่างกว้างขวาง ควบคู่กับความกังวลใจเกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหม่ ที่อาจเกิดขึ้นจากผลของ pension system ที่ล้มเหลวในอนาคต

ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา Democratic Party of Japan (DPJ) พรรคการเมืองฝ่ายค้านของญี่ปุ่น ซึ่งมีท่าทีคัดค้านนโยบายการแปรรูปกิจการไปรษณีย์ของ Koizumi มาโดยตลอดช่วงก่อนหน้านี้ ได้พยายามที่จะเสนอทางเลือกในการสื่อสารกับประชาชนด้วยนโยบายการปฏิรูประบบเบี้ยบำนาญ (pension reform) เพื่อโน้มน้าวคะแนนเสียงจากกลุ่มคนในวัยทำงาน และมีฐานะเป็นฐานคะแนนเสียงขนาดใหญ่ แต่ DPJ ไม่สามารถระบุรายละเอียดของมาตรการและแผนปฏิบัติการได้อย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับนโยบายการแปรรูปไปรษณีย์ ที่หากดำเนินการสำเร็จจะสามารถลดทอนภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของเบี้ยบำนาญภาครัฐได้โดยตรงทันที

ขณะเดียวกัน ขนาดขององค์กรที่ใหญ่โตของ Japan Post ดังกล่าว ได้ส่งผลให้เกิดความเคลือบแคลงต่อกลไกการบริหารของ Japan Post ที่ถูกระบุว่าเป็นแหล่งเพาะเชื้อระบบอุปถัมภ์ ที่นอกจากจะเต็มไปด้วยการเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องแล้ว ยังมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างมากด้วย

Koizumi และ LDP ได้พยายามนำเสนอการแปรรูปกิจการไปรษณีย์ ให้เป็นประหนึ่งมาตรการลำดับต้นของแนวความคิดว่าด้วย small government ที่นำไปสู่การปฏิรูประบบราชการทั้งระบบ ซึ่งรวมถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของระบบกองทุนเบี้ยบำนาญ (pension fund) ซึ่งสามารถสร้างคะแนนนิยมจากประชากรวัยทำงานโดยเฉพาะ ในเขตเมืองใหญ่ ที่เดิมเป็นฐานเสียงสำคัญของ DPJ ให้กลับมาสนับสนุนผู้สมัครจาก LDP ได้เป็นอย่างดี

ชัยชนะของ Koizumi และ LDP อย่าง ท่วมท้นในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งสามารถเพิ่มจำนวนสมาชิกผู้แทน ราษฎรเป็น 296 ที่นั่ง จากเดิมที่มีจำนวน ส.ส. 212 คนจากผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2003 มิได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของความมั่นใจในการบริหารของ Koizumi เท่านั้น หากยังเป็นประหนึ่ง mandate สำหรับการปฏิรูประบบการเมืองอย่างต่อเนื่องในอนาคต และทำให้สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยที่เคยลงมติคัดค้านการแปรรูปไปรษณีย์ แสดงท่าทีที่พร้อมจะสนับสนุนร่างกฎหมายการแปรรูปกิจการไปรษณีย์ ตามมติของประชาชนที่แสดงออกเป็นผลการเลือกตั้ง

ขณะเดียวกันภายใต้โครงสร้างและบริการของ Japan Post ซึ่งมีจำนวนสำนักงานสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศมากกว่า 24,700 แห่งนั้น Japan Post มิได้มีธุรกิจหลักอยู่เพียงการให้บริการด้านไปรษณียภัณฑ์ (Postal Service) หากยังรวมถึงการบริการรับฝากเงิน (Postal Saving Services) และธุรกิจประกันชีวิต (Postal Life Insurance Services) ทำให้องค์กรแห่งนี้มียอดจำนวนเงินฝากที่เป็นการออมระดับครัวเรือนมากถึง 350 ล้านล้านเยน (ประมาณ 3.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งถือเป็นยอดเงินออมผ่านระบบ postal savings system ขนาดใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นจำนวนสินทรัพย์ที่มีสัดส่วนมากกว่า 25% ของสินทรัพย์ครัวเรือนญี่ปุ่นในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ตัวเลขประมาณการล่าสุดระบุว่า ยอดเงินฝากใน Postal Saving Services มีประมาณ 224 ล้านล้านเยน (2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ) ขณะที่การออมผ่านระบบการประกันชีวิต Postal Life Insurance อยู่ที่ระดับประมาณ 126 ล้านล้านเยน (1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งล้วนแต่เป็นผลมาจากพฤติกรรมในลักษณะ conservative and risk- adverse ของประชาชนที่มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอย่างไม่อาจเลี่ยง

แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยในญี่ปุ่น จะอยู่ในอัตราที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่จำนวนเงินฝากปริมาณมหาศาลดังกล่าวได้ส่งผลเป็นภาระทางการเงินให้กับรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การนำเงินออมดังกล่าวไปลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ได้รับการวิพากษ์และคัดค้านอย่างหนักหน่วง และทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นโดย Japan Post ต้องแบกภาระหนี้สาธารณะจำนวนกว่า 1.4 แสนล้านเยนหรือประมาณ 1 ใน 5 ของปริมาณหนี้สินภาครัฐทั้งระบบ ในรูปของพันธบัตรรัฐบาล เพื่อนำเงินไปใช้ในการส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้านี้

ประเด็นที่น่าสนใจของการแปรรูปกิจการไปรษณีย์ญี่ปุ่น ไม่ได้อยู่ที่การขยายแขนงทางธุรกิจออกไปสู่กิจกรรมอื่นๆ ดังที่ปรากฏในบางประเทศ เพราะภายใต้นโยบายแปรรูปไปรษณีย์ กิจกรรมทางธุรกิจหลักทั้งสามส่วนของ Japan Post จะถูกแยกออกเป็นหน่วยทางธุรกิจที่มีความเป็นเอกเทศ โดยจะมีการจัดตั้ง holding company ขึ้นมาเป็นแกนหลักในกระบวนการบริหาร ซึ่งการแยกธุรกิจบริการรับฝากเงิน (Postal Saving Services) และธุรกิจประกันชีวิต (Postal Life Insurance Services) ออกเป็นองค์กรธุรกิจโดยเฉพาะ นอกจากจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันอย่างหนักหน่วงในแวดวงการเงินการธนาคารของญี่ปุ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว

กรณีดังกล่าวได้ทำให้การแปรรูปกิจการไปรษณีย์ของญี่ปุ่น เป็นกรณีที่มีเนื้อหา และผลกระทบในเชิงโครงสร้างต่อพัฒนาการทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมอย่างกว้างขวาง และมีนัยในเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนาที่น่าสนใจมากกว่ารูปแบบทางธุรกิจ สำหรับการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในอนาคต ซึ่งเป็นเพียงรายละเอียดของบริการหลากหลายที่ Japan Post จะพึงมีเท่านั้น

ความมุ่งหมายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการ re-boost and refresh ของรัฐบาลญี่ปุ่น ทำให้ปริมาณเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ Japan Post มีอยู่นี้ ถูกผูกโยงเข้ากับทิศทางของนโยบายสาธารณะภาครัฐบาลอย่างไม่อาจเลี่ยง ในฐานะที่กำลังเป็นประหนึ่งทรัพยากรและจักรกลสำคัญ สำหรับการบรรลุเป้าหมายการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ต้องอยู่ในภาวะซบเซาต่อเนื่องมาตั้งแต่เมื่อปี 1991

แม้ว่าการแปรรูปและการแยกส่วนกิจการของ Japan Post ที่กำหนดให้สำเร็จเสร็จสิ้นในปี 2007 ยังเป็นกรณีที่ต้องถกแถลงและเข้าสู่การพิจารณาเห็นชอบจากรัฐสภาญี่ปุ่น แต่ดูเหมือนว่ากระบวนการของการปฏิรูปอย่างมีองค์รวมได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น