นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2550
Japan Post Holdings Company
โดย ชุมพล ธีรลดานนท์
และแล้ว Japan Post Holdings Company ได้เริ่มก้าวแรกในวันที่ 1 ตุลาคม 2007 หลังจากร่างกฎหมายการแปรรูปกิจการไปรษณีย์ญี่ปุ่นผ่านความเห็นชอบจากสภาไดเอท อันเป็นชัยชนะท่ามกลางแรงเสียดทาน บนเส้นทางการเมืองของรัฐบาล Junichiro Koizumi* เมื่อ 2 ปีก่อน
อีกนัยหนึ่งชัยชนะดังกล่าวได้สะท้อน ให้เห็นวิสัยทัศน์และภาวะผู้นำของอดีตนายก รัฐมนตรี Koizumi เสมอเหมือนปราชญ์ด้านการเมือง ที่ชี้นำให้ประชาคมญี่ปุ่นเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นอันดับต้นๆ ในการแปรรูปหน่วยงานรัฐบาลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ถึงขั้นมีการนำไปเปรียบเปรยกับเมื่อครั้งที่กาลิเลโอใช้เหตุผลโน้มน้าวให้เห็นถึงความจริงที่ว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์
ในท่วงทำนองสอดคล้องกันนั้นใจความ สาระของการแปรรูปไปรษณีย์ญี่ปุ่น ซึ่งมิได้จำเพาะอยู่ที่การจัดตั้ง Holdings Company ขึ้นมาดูแลกิจการของบริษัทในเครือให้เป็นโมเดลทางธุรกิจที่สวยหรูหลังการแปรรูปเพียง เท่านั้น แต่ยังสอดคล้องอย่างแนบแน่นไปกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่ง ชาติแบบยั่งยืน ว่าด้วยการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว นั่นหมายถึง สินทรัพย์ บุคลากรและเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่วนเวียนในระบบ ของไปรษณีย์ญี่ปุ่น มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
การเพิ่มศักยภาพให้ไปรษณีย์ญี่ปุ่นพร้อมที่จะแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจการส่งของ รวมถึงบริษัทประกันชีวิตในภาคเอกชนที่เกิดภายหลังการแปรรูป ถือเป็นหนึ่งในนโยบายที่นำมาใช้สำหรับเตรียมการรองรับ ขนาดเศรษฐกิจที่จะหดตัวลงในอนาคต ด้วยการผลักดันให้ Japan Post Holdings Company ทำหน้าที่ประหนึ่งเฟืองขนาดใหญ่ที่ประสานกับเฟืองจักรอื่นอย่างเป็นระบบในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของญี่ปุ่นให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อหมุนตัวตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกได้อย่างทันท่วงที
ภายหลังการเตรียมการ 2 ปีเต็มนับจากกฎหมายการแปรรูปกิจการไปรษณีย์ได้บัญญัติออกมา Japan Post เดิมได้แปลงสภาพเป็น Japan Post Holdings Company กับบริษัทในเครืออีก 4 แห่งได้แก่ Japan Post Network Co.Ltd., Japan Post Service Co.Ltd., Japan Post Bank Co.Ltd., และ Japan Post Insurance Co.Ltd.
โดยหลักการแล้วบริษัทในเครือทั้งสี่ยังคงบริบทเนื้องานเดิมในส่วนของบริการไปรษณีย์ การออมทรัพย์และการประกันชีวิตเอาไว้แต่มีการจัดการใหม่ภายใต้กำกับดูแลของ Japan Post Holdings Company ซึ่งมุ่งเน้นเสริมสร้างประสิทธิภาพในการบริการเพื่อตอบสนองและเติมเต็มความต้องการของ ประชาชนให้ทัดเทียมหรือดีกว่าการบริการที่พึงได้รับจากภาคเอกชนและเพิ่มบริการใหม่ๆ เช่น การเข้าไปมีส่วนสนับสนุนธุรกิจของลูกค้า รายใหญ่และรายย่อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้า ในชนบท
ปรัชญาการบริหารองค์กรดังกล่าวยังได้รับการสื่อออกมาด้วยสโลแกนใหม่ที่ว่า "Atarashii Futsu wo Tsukuru" ซึ่งคำว่า Atarashii Futsu ในที่นี้กินความไปถึงบรรทัด ฐานใหม่ของความเชื่อถือและความพึงพอใจในบริการของ Japan Post ที่จะดียิ่งขึ้นกว่า 136 ปีที่ผ่านมา ความหมายในสโลแกนใหม่จึงบ่งบอกถึงเป้าประสงค์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการบริการอันเป็นสินทรัพย์สำคัญที่แปรค่าออกมาเป็นตัวเงินไม่ได้
แม้ว่าบริการพื้นฐานของ Japan Post Service โดยทั่วไปมิได้แตกต่างจากกิจการไปรษณีย์ของประเทศอื่นมากนักแต่รายละเอียดปลีกย่อยรวมถึงความรับผิดชอบความกระตือรือร้นของพนักงานไปรษณีย์ญี่ปุ่นไม่แพ้ที่ใดในโลก
ไปรษณียภัณฑ์ที่ส่งภายในประเทศญี่ปุ่นนั้นไม่ต้องกังวลว่าจะสูญหายระหว่างทาง ในขณะเดียวกันผู้ส่งสามารถคำนวณอัตราค่าบริการและเวลาที่จะส่งไปถึงปลายทาง ได้ล่วงหน้าผ่านเว็บไซต์ของไปรษณีย์ ซึ่งให้บริการทั้งภาษาอังกฤษและญี่ปุ่น
กรณีของจดหมายและพัสดุลงทะเบียน รวมถึง EMS ที่นำมาส่งแล้วแต่ผู้รับไม่อยู่บ้าน นั้นบุรุษไปรษณีย์จะบันทึกรายละเอียดการส่งของและแนบไว้ที่กล่องรับจดหมาย ซึ่งผู้รับสามารถติดต่อที่ทำการไปรษณีย์ได้ตลอด 24 ชั่วโมงตามเลขหมายโทรศัพท์ที่ระบุไว้หรือ ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อนัดวันและเวลาที่สะดวก ให้นำของมาส่งให้อีกครั้งได้ตามต้องการ
นอกจากนี้ที่ Japan Post Service ยังมีบริการ "Yu-Pack" ส่งพัสดุภายในประเทศ ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 30 กิโลกรัม หรือไม่เกิน 1.7x1.7x1.7 ลูกบาศก์เมตร ไม่ว่าจะเป็นอาหาร สด ผลไม้ ของแช่เย็น 0-5 ํc แช่แข็ง -18 ํc ไม้กอล์ฟ ไม้สกี รวมทั้งรับส่งกระเป๋าเดินทาง ระหว่างบ้านและสนามบินในราคายุติธรรมเมื่อเทียบกับบริษัทขนส่งเอกชนบางแห่งเสียอีก
หากเป็นพัสดุขนาดไม่ใหญ่โตสามารถ บรรจุในซองที่ไปรษณีย์กำหนดเพื่อจัดส่งแบบธรรมดาที่เรียกว่า "ExPack500" ซึ่งเป็น บริการส่งของได้ในราคาเดียวคือ 500 เยนทั่วประเทศ อีกทั้งสามารถระบุวันและเวลาที่ต้องการจะให้ของส่งไปถึงมือผู้รับได้ด้วย
บริการที่เรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของ ไปรษณีย์ญี่ปุ่นคือการจัดส่ง Nengajo** ซึ่งมีบุรุษไปรษณีย์อยู่เบื้องหลังการส่งความสุขไปทุกครัวเรือนในรุ่งอรุณวันปีใหม่ของญี่ปุ่น
การเปลี่ยนแปลงที่ถูกเฝ้าจับตามองมากที่สุดภายหลังการแปรรูปไปรษณีย์อยู่ที่ Japan Post Bank Co.Ltd. หรือที่มักเรียกกันว่า Yucho Bank ได้กลายฐานะเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วยขนาดของสินทรัพย์รวม มีบัญชีเงินฝากอยู่ราว 400 ล้านบัญชี มีเงินฝาก 187 ล้านล้านเยน ซึ่งมาก กว่าธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับสองอย่าง Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ อยู่ถึง 1.8 เท่าตัว
เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ในญี่ปุ่นแล้ว Yucho Bank ยังจัดว่าอ่อนประสบการณ์ ในการจัดการสินทรัพย์ ยกเว้นเรื่องของการซื้อ พันธบัตรรัฐบาลและการลงทุนที่มีความเสี่ยง ต่ำ ซึ่งในกระบวนทัศน์การบริหารขั้นแรกเริ่มจากการปล่อยสินเชื่อเพื่อการเคหะร่วมกับ ธนาคารท้องถิ่น ก่อนที่จะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ โตเกียว ปี 2009 ซึ่งภายใต้การดำเนินการที่มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้นคาดว่าจะสามารถ ทำกำไรหลังหักภาษีได้ 508 พันล้านเยนได้ในสิ้นปีหน้า
ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยในญี่ปุ่นอยู่ในขั้นต่ำมากก็ตามแต่ Yucho Bank เสนออัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าที่อื่นเพื่อกระตุ้นการออมเงิน พร้อมกันนั้นการคิดค่าธรรมเนียมใน การใช้บริการ ATM อย่างเป็นธรรมเหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่วไปนั้นถือเป็นจุดแข็งอีกประการหนึ่งของ Yucho Bank
ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า Yucho Bank ธุรกิจประกันของไปรษณีย์ญี่ปุ่นโดยบริษัท Japan Post Insurance กลายเป็นบริษัทประกันที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น มีสินทรัพย์ 117 ล้านล้านเยน ซึ่งมากกว่า Nippon Life Insurance ซึ่งเป็นบริษัทประกันที่มีขนาดใหญ่ เป็นอันดับสองอยู่ 2.2 เท่า
Japan Post Insurance อาศัยความ สัมพันธ์จากฐานลูกค้าไปรษณีย์ที่มีอยู่เดิมรุกคืบเร่งขายประกันชีวิตหลายประเภทโดยเฉพาะประกันสุขภาพที่ตั้งเป้าไว้ที่ 40% ของประกันทั้งหมดของบริษัท
ธุรกรรมทั้ง 3 ประเภทนี้สามารถดำเนินการผ่าน Japan Post Network กว่า 24,700 สาขาทั่วประเทศ ในลักษณะ Over-The-Counter ที่มีอยู่แล้วในที่ทำการไปรษณีย์ โดยปรับปรุงตกแต่งใหม่อย่างเรียบง่ายซึ่งช่วย ประหยัดเงินลงทุนในการแปรรูปได้ไม่น้อย
แผนการแปรรูปแยกส่วนบริษัทในเครือ Japan Post Holdings Company ออกจาก กันอย่างเอกเทศจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2017 เมื่อถึงเวลานั้น Japan Post Network ทำหน้าที่เป็นหน่วยย่อยของระบบเครือข่ายบริการ สาธารณูปโภคที่กระจายตัวทั่วประเทศในระดับ รากหญ้า พร้อมกันนั้นยังมีความหมายในเชิงสังคม-จิตวิทยาต่อประชาชนโดยเฉพาะที่อาศัยในชนบทห่างไกลให้เกิดความมั่นใจได้ว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในประเทศญี่ปุ่นก็มีระบบโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแรงรองรับอยู่เสมอ
หมายเหตุ
* อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมใน "Japan Post : แปรรูปเพื่อปฏิรูป" นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2548 โดยสมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
** อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมใน "Nengajo" นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2549
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น