ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารความเสี่ยงและการเงิน boontham.r@ku.ac.th กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2553
สอดคล้องกับที่ ดร. อลัน กรีนสแปน ฟันธงว่าปัจจัยเสี่ยงสูงสุดของเศรษฐกิจโลกในช่วงนี้ คือ ภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลของนายบารัก โอบามา ได้จัดสัมมนาครั้งใหญ่ช่วยกันระดมความคิดจากบรรดากูรู ด้าน Housing Finance เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับอนาคตของระบบการเงินด้านที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงาน Fannie Mae และ Freddie Mac ที่ได้ใช้เงินภาษีของประชาชนกว่า 1.5 แสนล้านดอลลาร์ ให้สามารถดำเนินงานต่อไปได้ แม้ว่าบทสรุปจากการประชุมดังกล่าวยังมิสามารถชี้ชัดได้ว่าโครงสร้างของ Housing Finance สหรัฐในทศวรรษหน้า จะมีรูปร่างหน้าตาเป็นเช่นไร ทว่าแนวทางที่น่าจะเป็นไปได้มีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบ ตามระดับความเกี่ยวข้องของภาครัฐจากมากไปน้อย
รูปแบบแรก คือ ยุบทั้งหน่วยงาน Fannie Mae และ Freddie Mac แล้วให้รัฐบาลตั้งหน่วยงานที่ถือหุ้นโดยภาครัฐทั้งหมด หรือ Full Nationalization ซึ่งเป็นแนวคิดของนายวิลเลียม กรอส กรรมการผู้จัดการ Pacific Investment Management Co. (PIMCO) บริษัทที่บริหารพอร์ตกองทุนรวมรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐ นายกรอส ให้เหตุผลคล้ายๆ กับนายกรีนสแปนว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุด ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิด double dip crisis ได้ คือ การร่วงลงของราคาอสังหาริมทรัพย์ จากรูปที่ 1 จะเห็นได้ว่า หากปัจจัยดังกล่าวลุกลามไปถึงวิกฤติแบงก์แล้วละก็ ความรุนแรงจะสูงขึ้นเป็นทวีคูณ นายกรอสจึงสรุปว่าภาคการเงินด้านอสังหาริมทรัพย์สำคัญเกินกว่าที่รัฐบาลสหรัฐ จะปล่อยให้อยู่ในมือของภาคเอกชน
รูปแบบที่สอง เป็นการร่วมมือกันของภาครัฐและเอกชนในลักษณะ Public and Private Funds ภายใต้แนวคิดของนายทิมโมธี ไกธ์เนอร์ ซึ่งคล้ายกับแนวปฏิบัติที่นายไกธ์เนอร์เคยใช้ตอนบริหารหลักทรัพย์ที่เป็นพิษในสถาบันการเงินต่างๆ หรือ Legacy Securities เมื่อต้นปีที่แล้ว โดยแนวทางดังกล่าวจะเริ่มต้นจากกระทรวงการคลังคัดเลือกผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานบริการทางการเงินด้านที่อยู่อาศัยดังกล่าวร่วมและแทนภาครัฐ หลังจากนั้น กระทรวงการคลังจะออกเงินก้นถุง หรือส่วนของทุนให้ 1,000 ล้านดอลลาร์ และผู้ให้บริการทางการเงินที่ได้รับการคัดเลือกดังกล่าวออกอีก 1,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนที่เหลืออีก 2,000 ล้านดอลลาร์ กระทรวงการคลังจะยืมเงินให้กับผู้ให้บริการดังกล่าว จากนั้นหน่วยงานดังกล่าวจะใช้เงิน 4,000 ล้านดอลลาร์ ที่ว่าเป็นแหล่งเงินทุนในการปล่อยสินเชื่อด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งแน่นอนว่าอัตราดอกเบี้ยที่ให้ประชาชนกู้ยืม ย่อมจะต้องอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าตลาด เนื่องจากภาครัฐได้ช่วยเหลือเงินทุนส่วนหนึ่งจากต้นทุนทางการเงินทั้งหมด
รูปแบบสุดท้าย จะปล่อยให้ภาคเอกชนดำเนินธุรกิจด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยแบบอิสระ แต่รูปแบบของธนาคารจะเปลี่ยนไปแบบพลิกโฉม ซึ่งแนวคิดนี้ แยกออกเป็น 2 รูปแบบย่อย ได้แก่ หนึ่ง ให้ฝั่งหนี้สินและทุนในงบดุลของธนาคารมีเฉพาะส่วนทุน (Equity) โดยไม่มีหนี้สิน และ สอง แยกสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงและหนี้สินส่วนที่เป็นเงินฝากรายย่อยออก และตั้งเป็นธนาคารที่ไม่มีความเสี่ยง สำหรับงบดุลส่วนที่เหลือให้กลายเป็นธนาคารแบบ Commercial Banking หรือที่เรียกกันว่า Utility/Casino Model ซึ่งแนวคิดนี้มาจากนักทฤษฎีชื่อดังหลายท่าน อาทิเช่น ดร. จอห์น เคย์ แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
หลายท่านคงเห็นคล้ายกับผมว่า สำหรับระบบการเงินในรูปแบบสุดท้าย ยังต้องมีการทบทวนกันอีกหลายรอบกว่าที่จะสามารถใช้งานได้ในโลกธุรกิจจริง ที่สำคัญ ในขณะนี้ และอนาคตอันใกล้ ธนาคารกลางสหรัฐกำลังเร่งปรับปรุงกฎเกณฑ์ของการปล่อยกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนในลักษณะที่การยึดหลักประกัน (Foreclosure) จะทำได้ลำบากขึ้น เนื่องจากการยึดหลักประกัน นับเป็นภาระทั้งในมิติเศรษฐกิจของประเทศและการเมืองของรัฐบาล เป็นเหตุให้ผู้กู้เงินหรือประชาชนจะได้รับประโยชน์จากแนวโน้มนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่า ธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยย่อมไม่เป็นที่ดึงดูดของสถาบันการเงินอีกต่อไป พฤติกรรมนี้เห็นได้ชัดจากรูปที่ 2 ซึ่งแสดงถึงแนวโน้มของประเภทสินเชื่อที่ระบบธนาคารในอังกฤษปล่อยให้สำหรับการบริโภคของภาคครัวเรือน และการลงทุนของภาคธุรกิจขนาดเล็กในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าในระยะยาว ธนาคารต่างๆ จะเน้นทำธุรกิจในภาคธุรกิจที่ทำกำไรสูงสุด แม้ภาคดังกล่าวจะไม่ก่อให้เกิดการลงทุนที่มีประสิทธิภาพก็ตามที
ผมคิดว่าท้ายสุดรูปแบบของ Housing Finance สหรัฐในทศวรรษหน้าที่รัฐบาลของนายบารัก โอบามา ต้องเสนอต่อสภาคองเกรสในเดือนมกราคมปีหน้า จะออกมาในรูปแบบที่ว่าการให้บริการทางการเงินจะแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ หนึ่ง สำหรับสินเชื่อรายเล็กมากๆ จะใช้หน่วยงานที่ถือหุ้นโดยรัฐบาลทั้งหมดตามแนวคิดของนายกรอส เนื่องจากประชาชนที่มีรายได้น้อย อย่างไรเสีย ย่อมต้องได้รับบริการทางการเงินที่มีต้นทุนต่ำมากๆ ไว้ก่อน ซึ่งแน่นอนว่า ธุรกิจแบบ Public-Private Fund ตามแนวทางของนายไกธ์เนอร์ น่าจะยังไม่สามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้ดีนัก เนื่องจากภาคธุรกิจที่ได้รับคัดเลือกมาทำหน้าที่ให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนย่อมต้องการระดับส่วนต่างกำไรตามสมควรให้กับธุรกิจของตนเอง และ ส่วนที่สอง หากสินเชื่อมีขนาดใหญ่ขึ้นระดับหนึ่ง จำเป็นต้องหันมาใช้บริการของ Public-Private Fund ตามแนวคิดของนายไกธ์เนอร์ เนื่องจากลูกค้าซึ่งมีรายได้ปานกลาง โดยทั่วไปจะมีความรอบรู้ทางการเงินดีในระดับหนึ่ง การให้มีกลไกตลาดเข้ามาเป็นตัวกลางทางการเงินน่าจะเหมาะสมกว่า อย่างไรก็ตาม หากจะให้ภาครัฐทำการ Full Nationalization ทั้งหมดตามแนวทางแรก อาจจะเป็นภาระมากเกินไปสำหรับงบดุลของรัฐบาลสหรัฐที่ขาดดุลอยู่แบบบานเบอะในขณะนี้
สุดท้ายแล้ว Housing Finance สหรัฐในทศวรรษหน้า จะมีหน้าตาจริงๆ เป็นเช่นไร อีกทั้งความกังวลของนายกรีนสแปนจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ อีกไม่นานคงได้รู้กันครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น