กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 06 กันยายน พ.ศ. 2553
คลังเตรียมคลอดมาตรการส่งเสริมการประกันภัยให้กับผู้สูงอายุ เพิ่มค่าลดหย่อนประกันแบบบำนาญเป็น 2 แสนบาท พร้อมออกพันธบัตรระยะยาว รองรับประกัน ในขณะที่คณะกรรมการตลาดทุน ยอมแก้ไขการหักรายจ่ายภาษีการตั้งสำรองให้สอดคล้องกับความเป็นจริง หวังรองรับผู้สูงวัยที่จะมีมากขึ้นในอนาคต
เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2553 สมาคมประกันชีวิตไทย ได้จัดสัมมนา เรื่องทางเลือกหลักประกันความมั่นคง เพื่อการดำรงชีวิตที่มั่นใจ วิกฤติผู้สูงอายุอะไรคือทางแก้ไข โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา ทั้งภาครัฐและเอกชน
นายสุรศักดิ์ พิชิตผจงกิจ ผู้อำนวยการส่วนนโยบายประกันภัย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้มีมาตรการส่งเสริมการประกันภัย ให้กับผู้สูงอายุโดยแบ่งออกเป็น 3 ข้อด้วยกัน คือ 1. ให้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับกรมธรรม์แบบบำนาญ (Annuity) ความคืบหน้าขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ส่งเรื่องให้กับกรมสรรพากรพิจารณาแล้วว่าจะให้สิทธิลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ หรือไม่เกิน 2 แสนบาท และไม่เกิน 5 แสนบาท เมื่อรวมกับมาตรการภาษี ในด้านมุมมองของ สศค.เห็นว่าเป็นมาตรการเฉพาะพิเศษที่รัฐบาลต้องให้การสนับสนุน
2. การออกพันธบัตรระยะยาว เพื่อรองรับความต้องการของธุรกิจประกัน ความคืบหน้าในขณะนี้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน.กำลังอยู่ระหว่างพิจารณา ในส่วนของ สศค.นั้น มีมุมมองเห็นด้วยว่าควรออกพันธบัตรระยะยาว เพราะจะเกิด mutual benefit ระหว่างรัฐบาลกับภาคเอกชนโดยเฉพาะเพื่อให้มีต้นทุนที่ต่ำลง 3. การคำนวณภาษี การตั้งเงินสำรองของบริษัทประกันภัย ในเรื่องนี้คณะกรรมการตลาดทุน ได้มีความเห็นชอบแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์การหักรายจ่ายภาษีตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยจากเดิม 65% โดยให้แก้ไขใหม่ให้มีความสอดคล้องกับความเป็นจริง
นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยกำลังก้าวสู่สังคมของผู้สูงอายุ โดยประมาณว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุของไทยจะเพิ่มเป็น 20% ของประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่อัตราการเพิ่มของคนอยู่ที่ 0.5% ต่อปี แต่อัตราการเพิ่มของผู้สูงอายุเพิ่ม 3% ต่อปี อัตราการพึ่งพาระหว่างผู้ทำงานกับผู้สูงวัย ในปี 2543 อยู่ที่ 6 ต่อ 1 หมายความว่า คนทำงาน 6 คน ดูแลผู้สูงวัย 1 คน แต่ในปี 2570 อัตราส่วนระหว่างผู้ทำงานกับผู้สูงวัยจะลดลงเหลือ 2.4 ต่อ 1 หมายความว่า คนทำงาน 2.4 คน ดูแลผู้สูงวัยเพียง 1 คน เพราะสังคมไทยจะเป็นสังคมเดี่ยวมากขึ้น
จากการสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุของไทยหลังเกษียณอายุมีรายได้ เพียง 37% ของรายได้เดือนสุดท้าย ในขณะที่สัดส่วนที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 50% ของรายได้เดือนสุดท้าย ปัจจุบันมีผู้มีเบี้ยยังชีพ ประมาณ 7 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว จะต้องเจอกับค่าใช้จ่าย 3 เรื่องด้วยกัน คือ 1. ค่าใช้จ่ายการกินการอยู่ ซึ่งปัญหาที่พบ คือ ผู้สูงวัยมีแหล่งรายได้สำรอง จากการที่ไม่ได้ทำงานเอาไว้เพียงพอหรือไม่ มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองหรือเปล่า 2 .ในด้านค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล เกี่ยวกับการเจ็บป่วย ปัญหาที่พบ คือ สภาพร่างกาย และโรคที่เกิดขึ้นกับผู้สูงวัยมีจำนวนมากขึ้น และ 3. ค่าใช้จ่ายพิเศษที่นอกเหนือจากบุคคลทั่วไป จะมีมากขึ้น เช่น การเดินทาง การซื้อของ
นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า หลักของกระทรวงการคลัง อยู่บนพื้นฐาน 3 ข้อด้วยกัน คือ 1. การกำกับประกันภัย 2. การดูแลการพัฒนาประกันภัยให้มีมาตรฐานสูงขึ้น และ 3. เพิ่มผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งกระทรวงการคลังมองว่า ประกันภัยในปัจจุบันมีโครงสร้างดีอยู่แล้ว เพราะ 1. เป็นเครื่องมือช่วยการดำรงชีวิตหลังเกษียณ เนื่องจากสร้างรายได้หลังเกษียณ ลดภาระค่ารักษาพยาบาลที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ กำหนดเงินก้อน เมื่อครบกำหนด หรือ เมื่อทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตได้ 2. เป็นหลักประกันที่ดีในการลดความเสี่ยงภัยต่างๆ ได้ เพราะเงินได้แปรผันตามระดับภัยที่เกิดขึ้น ได้รับเงินเมื่อเกิดภัย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระยะเวลา และ 3. มีความหลากหลายของกรมธรรม์ในเชิงรูปแบบ และประกันภัย
นายพงษ์ภานุ เศวตรุนทร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพราะทำให้เศรษฐกิจโตน้อยลง มีผลต่อปัจจัยการผลิต มีผลต่อตลาดทุน เพราะมีคนออมลดลง และมีผลต่อการจัดเก็บรายได้ ภาษีของรัฐบาล ในขณะที่ค่าใช้จ่ายของรัฐบาลมีมากขึ้น เพราะต้องเข้ามาแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาล ขณะนี้ พบว่าระบบบำเหน็จ บำนาญ รัฐบาลต้องมีค่าใช้จ่ายปีละ 1 แสนล้านบาท ให้กับผู้รับบำนาญ และบำเหน็จจำนวน 3.2 แสนคน โดยไม่รวมเงินสมทบที่ต้องจ่ายให้กับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในเบื้องต้นคาดว่าในปี 2560 หรือในอีก 7 ปีข้างหน้า จำนวนผู้รับบำเหน็จ บำนาญ จะเพิ่มเป็น 6.8 แสนคน ส่งผลให้รายจ่ายของรัฐบาลเพิ่มเป็น 2-3 แสนล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ยังไม่รวมเม็ดเงินสมทบให้กับ กบข.และ สปส.อีก 5 หมื่นล้านบาท
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น